คุณภาพชีวิต
กรุงเทพโพลล์ : รถเมล์แบบไหน ถูกใจคนกรุง


คนกรุงส่วนใหญ่ร้อยละ 46.7 พึงพอใจรถเมล์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในระดับน้อย  โดยร้อยละ 61.1 ระบุว่าภาพลักษณ์ของรถเมล์ในปัจจุบันคือ “ต้องรอนาน รถไม่พอกับความต้องการ” 

ทั้งนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.6 คาดหวังให้ รถเมล์มาตรงเวลา ผู้โดยสารไม่ต้องรอนาน จะได้เดินทางรวดเร็วขึ้น  พร้อมแนะด้านราคา อยากให้มีการใช้ E-Ticket แทนการใช้เงินสด  และ ปรับราคาค่าโดยสาร แบบเหมาจ่าย 30 บาทต่อวัน เพื่อลดภาระค่าครองชีพ
 
กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “รถเมล์แบบไหน ถูกใจคนกรุง” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนที่ใช้บริการรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,299 คน พบว่า 

ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 46.7 ระบุว่ามีความพึงพอต่อใจรถเมล์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในระดับน้อย รองลงมาร้อยละ 33.0 ระบุว่าพึงพอใจปานกลาง และร้อยละ 20.3 ระบุว่าพึงพอใจมาก
 

เมื่อถามถึงภาพลักษณ์ของรถเมล์ที่วิ่งอยู่ในปัจจุบัน ว่าเป็นอย่างไร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.1 ระบุว่า รอรถเมล์นาน รถไม่พอกับความต้องการ รองลงมาร้อยละ 51.7 ระบุว่ารถมีสภาพเก่า ชำรุด ทรุดโทรม และร้อยละ 41.2 ระบุว่า ปล่อยควันดำ ส่งผลเสียด้านมลพิษ

สำหรับความคาดหวังว่าอยากได้รถเมล์แบบใด นั้น พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.6 ระบุว่าอยากให้รถเมล์มาตรงเวลา ผู้โดยสารไม่ต้องรอนาน จะได้เดินทางรวดเร็วขึ้น รองลงมาร้อยละ 53.1 ระบุว่าเป็นรถเมล์ใหม่ปรับอากาศทุกคัน ทุกสาย เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และร้อยละ 51.9 ระบุว่าออกรถถี่ขึ้น มีที่นั่งเพียงพอ ไม่ต้องเบียดแออัดกัน / แบบ New Normal
โดยมีรายละเอียดตามประเด็นข้อคำถาม ดังต่อไปนี้

1.ความพึงพอใจต่อรถเมล์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในปัจจุบัน

พึงพอใจน้อย ร้อยละ 46.7
พึงพอใจปานกลาง ร้อยละ 33.0
พึงพอใจมาก ร้อยละ 20.3

2. ภาพลักษณ์ของรถเมล์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในปัจจุบันเป็นอย่างไร (ตอบได้มากกว่า 1 คำตอบ)

รอรถเมล์นาน รถไม่พอกับความต้องการ  ร้อยละ 61.1
รถมีสภาพเก่า ชำรุด ทรุดโทรม  ร้อยละ 51.7
ปล่อยควันดำ ส่งผลเสียด้านมลพิษ  ร้อยละ 41.2
ขับรถหวาดเสียว ขับเร็ว จอดคร่อมเลน ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ร้อยละ 41.1
ไม่จอดตามป้าย /จอดเลยป้าย ร้อยละ 26.0
พนักงานพูดจาไม่สุภาพ ร้อยละ 23.7
มีเส้นทางเดินรถที่ทับซ้อนกันทำให้จราจรติดขัด ร้อยละ 16.9
ราคาค่าโดยสารไม่สอดรับกับค่าครองชีพ ร้อยละ 13.5

3. ความคาดหวังว่าอยากได้รถเมล์แบบใด (ตอบได้มากกว่า 1 คำตอบ)

รถเมล์มาตรงเวลา ผู้โดยสารไม่ต้องรอนาน จะได้เดินทางรวดเร็วขึ้น ร้อยละ 61.6
เป็นรถเมล์ใหม่ปรับอากาศทุกคัน ทุกสาย เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ร้อยละ 53.1
ออกรถถี่ขึ้น มีที่นั่งเพียงพอ ไม่ต้องเบียดแออัดกัน / แบบ New Normal ร้อยละ 51.9
เป็นรถ NGV และรถ EV ปรับอากาศทุกคัน ลดปัญหามลพิษ/ควันดำ/ฝุ่น PM2.5 ร้อยละ 48.6
มีรถเมล์ครอบคลุมทุกเส้นทาง ร้อยละ 46.3
รถโดยสารเป็นรถชานต่ำ เป็นมิตรกับผู้ด้อยโอกาส คนพิการ เป็นพิเศษ ร้อยละ 37.6
จัดระบบเดินรถใหม่ เส้นทางไม่ซ้ำซ้อนกัน ร้อยละ 21.2
อื่นๆ อาทิ ชำระค่าบริการผ่าน E-Ticket แทนการใช้เงินสด ปรับราคาค่าโดยสาร แบบเหมาจ่าย 30 บาท ต่อวัน เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน ฯลฯ ร้อยละ 26.8

รายละเอียดการสำรวจ

วัตถุประสงค์การสำรวจ
 
เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนที่ใช้บริการรถเมล์ ในกรุงเทพฯและปริมณฑล เกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการใช้บริการรถเมล์ ภาพลักษณ์รถเมล์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในปัจจุบัน ตลอดจนความคาดหวังต่อรูปแบบรถเมล์ที่อยากจะได้ เพื่อสะท้อนมุมมองความคิดเห็นของประชาชนให้สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ 

ประชากรที่สนใจศึกษา
 
การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกสาขาอาชีพที่ที่ใช้บริการรถเมล์ ในกรุงเทพฯและปริมณฑล  โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling)  โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ แบ่งพื้นที่การเก็บข้อมูลออกเป็น เขตชั้นใน เขตชั้นกลาง และเขตชั้นนอก ได้แก่ คลองเตย จตุจักร ดอนเมือง ดินแดง ดุสิต บางกะปิ บางขุนเทียน บางเขน บางเขน บางคอแหลม บางแค บางซื่อ บางนา บางบอน บางรัก  บึงกุ่ม ปทุมวัน ประเวศ พระนคร ภาษีเจริญ มีนบุรี ราชเทวี สวนหลวง ห้วยขวาง และจังหวัดปริมณฑล 3 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ จากนั้นจึงสุ่มถนนและประชากรเป้าหมายที่จะสัมภาษณ์อย่างเป็นระบบ ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,299 คน เป็นเพศชายร้อยละ 47.3 และเพศหญิงร้อยละ 52.7
 
ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)
 
ในการประมาณการขนาดตัวอย่างมีความคลาดเคลื่อน ±3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล
 
ใช้การสัมภาษณ์แบบพบตัว (Face-to-face Interview) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) จากนั้นจึงนำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล  : 25 – 29 มิถุนายน 2563
     
วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ      : 4 กรกฎาคม 2563
 

บันทึกโดย : acnewsวันที่ : 04 ก.ค. 2563 เวลา : 09:21:41
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 10:53 am