แบงก์-นอนแบงก์
SCB CIO วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุน จับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ


ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 – 31 ก.ค.) ตลาดหุ้นโลกปิดผสมผสาน โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ และจีนปรับเพิ่มขึ้น สวนทางกับตลาดหุ้นหลักอื่นๆที่ปรับลดลง ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯในไตรมาสที่สอง ที่ออกมาดีกว่าตลาดคาดการณ์ นำโดยกลุ่ม Technology และ Health care นอกจากนี้ ดัชนีฯยังได้แรงหนุนจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน และยาต้านไวรัส และที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติคงนโยบายการเงิน พร้อมยืนยันว่า จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัวขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ โดยนักลงทุนยังกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจของยุโรป หลัง GDP ของยูโรโซน และเยอรมนี ในไตรมาสที่สอง หดตัวลง 12.1% และ 10.1% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ตามลำดับ สำหรับตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความคาดหวังที่ว่า ทางการจีนจะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ยีงส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อ เช่น กำไรของบริษัทอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น 11.5%YoY และดัชนี PMI ภาคการผลิต (Caixin) ที่เพิ่มขึ้นอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี นอกจากนี้ นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นจีน A-share จากการที่หุ้นกระดาน STARs ซึ่งมุ่งเน้นกลุ่มเทคโนโลยี ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจากการจดทะเบียนใหม่ ด้านตลาดหุ้นไทย ปรับลดลง จากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามผลประกอบการที่ออกมาชะลอลง และราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง สำหรับราคาน้ำมัน ปรับลดลง หลังนักลงทุนยังกังวลว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลกอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่ GDP ในไตรมาสที่สองของสหรัฐฯ ประมาณการครั้งที่ 1 หดตัวลง 32.9% QoQ, ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงมากที่สุดในรอบกว่า 70 ปี


 


มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังเคลื่อนไหวผันผวน ได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ธนาคารกลางต่างๆ ยังส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินการคลังเชิงผ่อนคลาย และพร้อมออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม หากจำเป็น โดยในสัปดาห์นี้ จะมีการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกอบกับ การพัฒนาวัคซีน และยาต้านไวรัสมีแนวโน้มคืบหน้ามากขึ้น ขณะที่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯมีแนวโน้มได้รับปัจจัยหนุนจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯที่น่าจะออกมาดีกว่าคาด และความหวังต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สอง ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้หลายรัฐฯ กลับมาดำเนินมาตรการ lockdown และหากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯล่าช้า หรือน้อยกว่าที่คาดไว้มาก อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ Sentiment ของนักลงทุน นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ หลังมีรายงานว่า นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯเปิดเผยว่า สหรัฐจะออกมาตรการแบนบริษัทซอฟต์แวร์ของจีนอีกหลายแห่งที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติในเร็วๆนี้ นอกเหนือจาก TikTok ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันวีดีโอของจีน ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนต่อ จากความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สองในสหรัฐฯ จะกดดันอุปสงค์น้ำมันให้ปรับลดลง สำหรับตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน โดยนักลงทุนยังติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาสที่ 2 รวมทั้ง ผลการประชุมกนง.ซึ่งเราคาดว่า ที่ประชุมฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิม ด้านราคาทองคำมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อ จากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อไป

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

· สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง ในสหรัฐฯ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการ ทยอยกลับมาดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

· การหารือของสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯทั้งสองพรรคเพื่อให้บรรลุข้อตกลงมาตการทางการคลังรอบใหม่ เพื่อเยียวผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ในสหรัฐฯ หลังจากที่มาตรการ Unemployment benefit ได้สิ้นสุดลงเมื่อสิ้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ วุฒิสภาสหรัฐฯจะหยุดทำการในวัน 10 ส.ค.ถึง 7 ก.ย.นี้

· ผลการประชุมกนง. (5 ส.ค.) คาดว่า ที่ประชุมฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ขณะที่ ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมครม. ไทยได้เห็นชอบ ดร.เศรษฐพุฒิ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธปท.คนใหม่แทน ดร.วิรไท ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในเดือน ก.ย.นี้

· ผลการประชุมธนาคารกลางอินเดีย (RBI) (6 ส.ค.) คาดว่า ที่ประชุมฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 4% เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง โดยปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) อยู่ที่ 6.1%YoY ซึ่งสูงกว่ากรอบบนของเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 4% +/- 2%

· ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) (6 ส.ค.) คาดว่า BoE จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.10% และคงการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ 745 พันล้านปอนด์ ซึ่งแบ่งเป็นพันธบัตร และตราสารหนี้ภาคเอกชนของสหราชอาณาจักรที่ 725 และ 20 พันล้านปอนด์ ตามลำดับ นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ อาจเปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรรอบใหม่ โดยคาดว่า BoE จะปรับลดคาดการณ์ GDP ลงเล็กน้อยจากคาดการณ์เมื่อเดือน พ.ค.

· การหารือทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร โดยนาง Lis Truss เลขานุการทางการค้าของสหราชอาณาจักร จะเข้าพบกับนาย Robert Lighthizer หัวหน้าผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่า นาง Lis Truss จะแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวต่อสหรัฐฯ ตามที่สหรัฐฯได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหราชอาณาจักร

· การทยอยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 ในสัปดาห์นี้ เช่น  Uber, HSBC, BP, easyJet และ Heineken

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนี PMI ภาคบริการ ยอดค้าปลีกของยุโรป, ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและพื้นฐานของไทย, ดัชนี PMI ภาคบริการ ดัชนี ISM ภาคการผลิต ดุลการค้า การจ้างงานภาคเอกชน การจ้างงานนอกภาคเกษตร รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมง และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ, ดัชนี PMI ภาคบริการ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่น, การส่งออก นำเข้า และดุลการค้าของจีน
 
เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การหารือของสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯทั้ง 2 พรรค, สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่สองในสหรัฐฯ, ประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน, การประชุมกนง., การประชุม RBI, การประชุม BoE, การหารือทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-สหราชอาณาจักร และการทยอยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2
 
วิเคราะห์โดย: SCB Chief Investment Office

บันทึกโดย : acnewsวันที่ : 04 ส.ค. 2563 เวลา : 15:37:14
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 2:17 am