แบงก์-นอนแบงก์
EIC คาด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในช่วงที่เหลือของปี 2020


EIC คาด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในช่วงที่เหลือของปี 2020

· กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี จากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในประเทศและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรม
ทางเศรษฐกิจทั่วโลก สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูงแต่ยังกระจายตัวอย่างไม่ทั่วถึง และ กนง. มีความกังวลต่อเงินบาทที่กลับมาแข็งค่า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้

· EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในประเทศ
และต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (stalling economic recovery) และมาตรการสนับสนุนที่ทยอยหมดอายุลง (fiscal cliff)

· เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และความเสี่ยงที่มีอยู่มากจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ กนง. ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ (0.5%) ต่อไป และน่าจะหันไปพึ่งพาเครื่องมือเชิงนโยบายอื่น
มากขึ้นเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ


* Key points

กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี จากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในประเทศและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 5 สิงหาคม 2020 กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี โดย กนง. ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ดังนี้

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว แต่จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองปีในการกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในไทยและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยการฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจ  โดยด้านการส่งออกสินค้าเริ่มฟื้นตัวแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ กนง. ประเมินไว้ ขณะที่นักท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวดีขึ้นจากมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ ด้านอุปสงค์ในประเทศหดตัวทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนได้รับผลกระทบรุนแรงจากเศรษฐกิจที่หดตัวและจะใช้เวลาฟื้นตัวนาน ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยโดยรวมจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองปีในการกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด (อย่างเร็วในปี 2022) และยังต้องระวังความเสี่ยงจากโอกาสเกิดการระบาดระลอกที่สอง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบในปีนี้ก่อนที่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปีหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นบ้างตามราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มติดลบในปี 2020 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2021 ตามราคาน้ำมันดิบที่จะปรับสูงขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์มีระดับ เงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมรับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง
 

กนง. ประเมินว่าสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูงแต่ยังกระจายตัวอย่างไม่ทั่วถึง และมีความกังวลต่อเงินบาทที่กลับมาแข็งค่า โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาล (corpoate spread) ยังอยู่ในระดับสูง สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อทดแทนการออกตราสารหนี้ที่ลดลง ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอลง กนง. เห็นว่าสภาพคล่องโดยรวมในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่ต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น ส่วนค่าเงินบาทผันผวนสูงขึ้นและกลับมาแข็งค่าตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากเงินบาทกลับมาแข็งค่าเร็วขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ กนง. จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

*   Implication

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (stalling economic recovery) และมาตรการสนับสนุนที่ทยอยหมดอายุลง (fiscal cliff) ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น โดยดัชนีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในเดือนมิถุนายนหดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ (รูปที่ 1) ในด้านต่างประเทศ การส่งออกของไทย (ไม่รวมทองคำและอาวุธ) ในเดือนมิถุนายนหดตัวน้อยลงเช่นกันจาก -27.8%YOY ในเดือนพฤษภาคมเป็น -17.3%YOY ในเดือนมิถุนายน

อย่างไรก็ดี เมื่อดูตัวเลขข้อมูลความถี่สูง (high frequency data) พบว่าเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยข้อมูล Google mobility index บ่งชี้ว่า หลังจากที่เริ่มมีการทยอยเปิดเมือง ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และฮ่องกง ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้น ทำให้ในเดือนกรกฎาคมภาครัฐชะลอการเปิดเมืองและส่งผลกระทบให้การฟื้นตัวของการเดินทางในหลายประเทศเริ่มปรับชะลอลง สอดคล้องกับข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในสหรัฐฯ การเข้ารับประทานอาหารในร้าน และดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ชะลอลงเช่นกัน (รูปที่ 2)

นอกจากนี้ มาตรการสนับสนุนที่หมดอายุลงก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ได้สิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอน
ในเรื่องของความเร็วในการต่ออายุมาตรการและขนาดของมาตรการใหม่ จึงอาจเป็นความเสี่ยงที่ทำให้การฟื้นตัว
ของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงในช่วงที่เหลือของปี

เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และความเสี่ยงที่มีอยู่มากจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ กนง. ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ (0.5%) ต่อไป และน่าจะหันไปพึ่งพาเครื่องมือเชิงนโยบายอื่นมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

หลังจากการประชุม กนง. ครั้งถัดไป (23 ก.ย. 2020) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในสมาชิก กนง. จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. (แทน ดร.วิรไท สันติประภพ และจะต้องมีการสรรหาสมาชิก กนง. คนนอกเข้ามาแทน ดร.เศรษฐพุฒิ อีกด้วย)  โดยนับตั้งแต่เข้ามาเป็นสมาชิก กนง. ในปี 2014  ดร.เศรษฐพุฒิได้ให้ความสำคัญต่อการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินค่อนข้างมาก โดยจะเน้นย้ำถึงผลกระทบจากการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเปราะบางทางการเงินผ่านพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) และการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risk)

อย่างไรก็ดี EIC ประเมินว่าด้วยเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ประกอบกับความเสี่ยงในระยะต่อไปยังมีอยู่มาก ทำให้ กนง. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ 0.5% ต่อไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2020 โดย กนง. จำเป็นต้องรักษาขีดความสามารถในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (policy space) ไว้ เพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงการส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเครื่องมือเพื่อการออมของไทยที่มีอยู่จำกัด

โดยการผ่อนคลายนโยบายการเงินในระยะถัดไป จะหันมาพึ่งเครื่องมือเชิงนโยบายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย(non-policy rate measures) มากขึ้น เช่น การเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) การค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) การสนับสนุนสินเชื่อโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือการปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (Financial Institutions Development Fund: FIDF fee) เป็นต้น

บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC : https://www.scbeic.com/th/detail/product/6979

ท่านผู้นำเสนอบทวิเคราะห์

ดร. กําพล อดิเรกสมบัติ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

วชิรวัฒน์ บานชื่น ตำแหน่ง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

พงศกร ศรีสกาวกุล ตำแหน่ง นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

บันทึกโดย : acnewsวันที่ : 06 ส.ค. 2563 เวลา : 09:56:55
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 5:33 pm