การตลาด
สกู๊ป ประกาศเรียงช่องใหม่ป่วน! ''ทีวีดิจิทัล'' หวั่นเกิดปัญหาแข่งขันไม่เป็นธรรม


เริ่มมีการปั่นป่วนอีกครั้งสำหรับวงการทีวีไทย ภายหลังหลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเรียงช่อง ของ กสทช. ปี 2558 เป็นประกาศที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ช่องเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ไม่ต้องเรียงหมายเลขช่องตามประกาศเดิม 

จากประกาศดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจทีวีดิจิทัลเริ่มมีแรงกระเพื่อม เพราะเกรงว่าผู้ชมจะเกิดความสับสนในการเลือกชมทีวีดิจิทัล  เนื่องจากปัจจุบันผู้ชมเริ่มจำหมายเลขช่องทีวีดิจิทัลต่างๆ ได้แล้ว ซึ่งจากความกังวลที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ กสทช. ต้องส่งจดหมายเรียกผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล  และผู้ประกอบการโครงข่ายเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม เข้ามาประชุมร่วมกัน เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นในเรื่อง “การเรียงช่องใหม่”
 
 
 
 
สำหรับการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียมเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา นำทัพทีมการประชุมโดย นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมดิจิทัลทีวี  นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม  ตัวแทนจากช่อง GMM 25  นายถกลเกียรติ วีรวรรณ  ตัวแทนจากช่อง One 31  นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ตัวแทนจากช่อง33  นายวัชร วัชรพล ตัวแทนจากช่องไทยรัฐทีวี และ นายนวมินทร์ ประสพเนตร  ตัวแทนจากช่องโมโน 29  
 
ในส่วนของเนื้อหาการประชุมหลัก กสทช. ต้องการให้ผู้ประกอบการทุกฝ่ายยึดประโยชน์ของสาธารณะมากกว่าการแสวงหาประโยชน์ของเอกชน  โดย กสทช.เสนอออกประกาศเรียงช่องฉบับใหม่ ให้ทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี สามารถเรียงช่องแบบบอกรับสมาชิกในหมายเลข 1-10 ได้เอง แต่ห้ามเอาช่องทีวีดิจิตอลไปออกซ้ำ และต้องคงหมายเลขช่องทีวีดิจิตอล 11-36 ไว้ดังเดิมในทุกโครงข่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน  เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องจ่ายค่าประมูลช่องมาในมูลค่าที่สูง  
 
นอกจากนี้ ในวงประชุมยังมีประเด็นที่น่าสนใจในส่วนของการยิงคำถามว่า โครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีเกิดความเสียหายอย่างไรจากประกาศเรียงช่อง จึงเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องครั้งนี้ ในเมื่อโครงข่ายก็ได้ประโยชน์จากการมีช่องรายการจากทีวีดิจิตอลที่แข่งขันกันด้วยคุณภาพ  อีกทั้งยังช่วยสร้างมูลค่าให้โครงข่ายและเทคโนโลยีระบบดิจิทัล 
 
พร้อมกันนี้โครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีก็สามารถมีช่องรายการได้อย่างไม่จำกัด หรือแม้แต่การส่งสัญญาณดาวเทียมตามกฎ must carry ช่องทีวีดิจิทัลก็เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง โครงข่ายมีวิธีที่สามารถใช้เทคโนโลยีดึงสัญญาณมาออกอากาศได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม(transponder)แต่อย่างใด การเรียงช่องตามประกาศฉบับปัจจุบันจึงไม่มีใครเป็นผู้เสียประโยชน์ แต่การยกเลิกประกาศเรียงช่องต่างหากที่จะเปิดให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากความเดือดร้อนของทีวีดิจิทัลและสาธารณะ
 
 
 
 
นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า สมาคมฯ ได้เสนอให้ กสทช. เร่งสรุปและออกประกาศออกมาให้เร็วที่สุด เพื่อทำให้คำสั่งของศาลปกครองกลางไม่มีผล ทุกวันนี้ผู้ชมทีวีดิจิทัลผ่านกล่องรับสัญญาณ หรือ Set-top box มีเพียง 20% เท่านั้นที่เหลืออีกประมาณ 80%  เป็นการรับชมผ่านดาวเทียมและเคเบิลทีวี หากคำตัดสินของศาลปกครองกลางให้เรียงช่องกันเอง  โดยส่วนตัวคิดว่าอาจทำให้เกิดความสับสน เพราะผู้ชมอาจหาช่องไม่เจอ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวต้องเกิดผลกระทบกับธุรกิจอย่างแน่นอน  
 
ด้าน นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจ บริษัท บีอีซีเวิล์ด จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล กล่าวว่า ได้เสนอให้ช่อง 11 ถึง 36 เป็นเลขช่องทีวีดิจิทัลแบบเดิม ส่วนช่อง 1 ถึง 10 บนโครงข่ายทั้งทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ คือ ต้องเป็นเพย์ทีวี โฆษณาได้ไม่เกิน 5 นาทีต่อชั่วโมง และ ไม่ควรเป็นช่องเพย์ทีวีเดิมที่อยู่ในช่อง 11 - 36 และ ไม่เป็นช่องทีวีดิจิทัลที่เคยคืนช่องไปแล้ว
 
อย่างไรก็ดี  ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ จะมีการตัดสินในคดีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เลขาธิการ กสทช. และสำนักงาน กสทช. อีกครั้ง หลังมีการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่สั่งเพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ ลงวันที่ 23 ก.ย. 2558
 
โดยให้มีผลนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ตามที่ บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ยื่นฟ้อง กสทช. เลขาธิการ กสทช. และ สำนักงาน กสทช. ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโครงข่ายโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่มีหน้าที่นำเอาบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป มาจัดเรียงไว้ในลำดับที่ 1 ถึงลำดับที่ 36 และอาจนำเอาบริการโทรทัศน์ประเภทช่องรายการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ใดก็ได้มาจัดเรียงต่อไปตั้งแต่ลำดับที่ 37 ถึงลำดับที่ 60 หรือถัดจากลำดับของบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป ว่า เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
 
 
 
สำหรับภาพรวมเรตติ้งในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ช่อง 7 ยังคงครองความเป็นผู้นำในธุรกิจทีวีดิจิทัล ด้วยเรตติ้งรวมที่ประมาณ 1.600 ตามด้วยช่อง 3 เรตติ้งรวม 1.126  ช่องโมโน 29 เรตติ้งรวม 0.866  ช่องอมรินทร์ทีวี เรตติ้งรวม 0.739  ช่องไทยรัฐทีวี เรตติ้งรวม 0.693 ช่องเวิร์คพ้อยท์ เรตติ้งรวม 0.605  ช่องวัน เรตติ้งรวม 0.594 ช่อง 8 เรตติ้งรวม 0.275 ช่องเนชั่นทีวี เรตติ้งรวม 0.186 ช่องพีพีทีวี เรตติ้งรวม 0.151 ช่อง MCOT เรตติ้งรวม 0.139 ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 เรตติ้งรวม 0.126 ช่องทรูโฟร์ยู เรตติ้งรวม 0.082 ช่องไทยพีบีเอส เรตติ้งรวม 0.067 ช่องทีเอ็นเอ็น เรตติ้งรวม 0.022 ช่องเอ็นบีที เรตติ้งรวม 0.022  และช่อง 5 เรตติ้งรวม 0.014
 
ในส่วนของคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา คือ รายการข่าว เนื่องจากมีกระแสข่าวร้อนเกิดขึ้นหลายเรื่อง เช่น คดีน้องชมพู่ และ คดีบอส อยู่วิทยา ซึ่งจากความสนใจที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้เรตติ้งของรายการข่าวขยับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยรายการข่าวที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา คือ ทุบโต๊ะข่าว  ของช่องอมรินทร์ทีวี
 
ส่วนช่องที่น่าจับตามองในช่วงเดือน ส.ค.นี้ คือ ช่อง 3  และ ช่อง 7 ซึ่งคอนเทนต์ที่จะนำมาแข่งขันกันนับตั้งแต่เดือน ส.ค. เป็นต้นไป คือ ละคร เห็นได้จากการที่ทั้ง 2 ช่องเริ่มหยิบละครใหม่มาออกอากาศ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย 
 

บันทึกโดย : acnewsวันที่ : 08 ส.ค. 2563 เวลา : 11:15:43
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 10:55 am