หุ้นทอง
ตลาดผันผวน ทำอย่างไรกับพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


ไม่ควรปรับเปลี่ยนนโยบายลงทุน กองทุนเลี้ยงชีพช่วงตลาดผันผวน

สำหรับคนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่เน้นลงทุนในหุ้นเป็นสัดส่วนใหญ่ หรือมีค่อนข้างเยอะ ช่วงนี้เริ่มคิดหนัก และคิดทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เกิดวิกฤตเพราะรู้สึกกังวลกับความผันผวนของราคาหุ้นและผลการดำเนินงานของปีนี้
 
ดังนั้นคำถามในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนเช่นนี้ มอสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ จะมาบอกว่า คุณควรปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือไม่
 
 
สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือการลงทุนระยะยาว ดังนั้นถ้ามีการเปลี่ยนไป เปลี่ยนมา จะไม่ต่างจากการลงทุนเพื่อจับจังหวะ (Market timing)
 
หากคุณไม่เข้าใจจังหวะการลงทุนที่ดี ไม่มีความเชี่ยวชาญ อาจทำให้ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะการลดสัดส่วนของหุ้นลงเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ต

นั่นแปลว่า คุณจะรับรู้การขาดทุนทันที จึงแนะนำว่า ไม่ควรปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนในช่วงตลาดผันผวน

สมมติหากมีวัคซีนรักษาเชื้อโควิด และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนในหุ้นกลับมาคึกคัก ถ้าคุณปรับลดสัดส่วนหุ้นในตอนนี้ เมื่อตลาดฟื้นตัวคุณอาจเสียโอกาสในช่วงนั้นด้วย และตอนนี้สถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้น ดังนั้น การปรับพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยง อาจยังไม่ใช่จังหวะที่ดี
 
หลายคนคงจำกันได้ดี ในช่วงปี 2551 ตอนเกิดวิกฤติซับไพรม์ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยที่กำลังไต่ทะลุ 1,000 จุด ปรับลดลงมาอย่างรวดเร็วมาซื้อขายกันที่ระดับ 400 จุด สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจตัดสินใจปรับนโยบายการลงทุนด้วยการลดสัดส่วนหุ้น และเพิ่มสัดส่วนของตราสารหนี้เพื่อลดความเสี่ยง
 
โดยในช่วงแรก ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวน แต่อีกไม่นานก็เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ จึงยังไม่ปรับนโยบายกลับคืน จนกระทั่งดัชนีหุ้นไทยใกล้ทะลุ 1,000 จุด ถึงเริ่มปรับสัดส่วนหุ้นเพิ่มขึ้น
 
พูดง่ายๆ คือ พลาดโอกาสในการทวงคืนเงินต้น เพราะตอนขายได้ขายขาดทุน แต่ไม่ได้ซื้อหุ้นคืนในช่วงที่ราคาถูก และกว่าจะปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นให้กลับมาอยู่ที่ระดับเดิม ดัชนีหุ้นไทยก็ปรับขึ้นไปใกล้เคียงระดับเดิมก่อนเกิดวิกฤติแล้ว
 
เหตุผลที่ไม่อยากให้คุณมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุน เพราะว่าการออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการลงทุนระยะยาวจนถึงเกษียณอายุ ดังนั้น ระหว่างทางคุณย่อมต้องเจอกับความผันผวนด้านราคาที่ขึ้นลงตามภาวะตลาด
 
โดยราคาสินทรัพย์ลงทุนที่ปรับลดลงในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งนั้น จะส่งผลต่อมูลค่าเงินกองทุนและอัตราผลตอบแทน ซึ่งเป็นตัวเลขทางบัญชี หากวันรุ่งขึ้น ราคาที่ลงทุนปรับเพิ่มขึ้น มูลค่าเงินกองทุนและอัตราผลตอบแทนที่เห็นก็จะปรับเพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าเงินกองทุนเปลี่ยนแปลงทุกวัน
 
เช่นกัน หากสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีนโยบายการลงทุนในหุ้นอยู่แล้ว อย่าด่วนตัดสินใจเปลี่ยนไปลงทุนในนโยบายเสี่ยงต่ำด้วยเหตุผลจากราคาหุ้นที่ลดลง เพราะการเปลี่ยนไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ต้องขายหุ้นในส่วนที่สมาชิกมีอยู่ ซึ่งต้องขาย ณ ราคาปัจจุบัน เท่ากับว่าขายของได้ในราคาถูก จำนวนเงินที่ได้ก็น้อยลง และหากราคาหุ้นปรับขึ้นก็เสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี หรือหากอยากกลับมาลงทุนใหม่ก็ซื้อในราคาที่แพงกว่าขาย
 
หากมีการเปลี่ยนแผนการลงทุนด้วยการลดสัดส่วนหุ้นลงไปแล้ว ดร.สมชัย แนะนำว่า ควรหาจังหวะปรับเปลี่ยนเป็นแผนการลงทุนเดิมที่เคยตั้งใจไว้ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะถึงแม้แผนการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ จะมีผลดีในช่วงตลาดหุ้นผันผวนหรือปรับลดลง แต่หากมองกันในระยะยาว แผนการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจได้รับผลตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่เราวางไว้
 
กลายเป็นความเสี่ยงในช่วงวัยเกษียณ เช่น เงินไม่เพียงพอในการดำรงชีวิต หรือเงินไม่ได้ตามเป้าที่คาดหวังไว้
 
นอกจากนี้ การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้ที่มีการจัดสัดส่วนการลงทุนแบบหวือหวาในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าได้ผลประโยชน์ที่น่าประทับใจ ส่วนผู้ที่เพิ่งลงทุนแบบหวือหวาในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อาจกังวลว่าเงินสะสมที่ลงทุนไปหรือผลประโยชน์จากเงินสะสมจะหดหายและอาจถึงขั้นติดลบ
 
เรียกได้ว่าเป็นช่วงทดสอบจิตใจกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจริงๆ ว่าสิ่งที่เลือกลงทุนไปนั้น รับได้จริงหรือไม่ หรือรับได้เฉพาะช่วงขาขึ้นเท่านั้น แล้วขาลงรับไหวหรือไม่
 
สำหรับ ผู้ที่มีระยะเวลาลงทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หากคิดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น เงินลงทุนก้อนใหม่ที่ลงทุนตอนนี้อาจเลือกลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง อย่างเช่น กองทุนหุ้น เพราะราคาปรับลดลงไปค่อนข้างเยอะ ในขณะที่หลายบริษัทจดทะเบียนยังสามารถดำเนินกิจการได้ และยังสามารถสร้างกำไรในอนาคตได้อีกด้วย
 
ส่วนเงินก้อนเดิมหรือเงินลงทุนเก่าก็คงแบบเดิมไว้ แต่ถ้าหากอยากหยุดการขาดทุนของเดิม ก็สับเปลี่ยนเงินก้อนใหญ่ก้อนเดิม ไปลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ ส่วนเงินสะสมใหม่ที่ต้องใส่ทุกเดือนก็สามารถลงทุนในนโยบายที่มีความเสี่ยงสูงได้
 
แต่ถ้าคิดว่าไม่มีเวลาแล้ว เพราะเวลาเหลือน้อยสำหรับการสะสมเงินและจำเป็นต้องใช้เงินทั้งหมดทันที อาจสับเปลี่ยนการลงทุนจากเดิมที่มีอยู่ เป็นการลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายเสี่ยงต่ำทั้งหมด
 
ในส่วนของเงินสะสมใหม่ ก็เลือกลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ทั้งจำนวนก็ได้ แต่ต้องยอมรับเช่นกันว่า ถ้าหากสับเปลี่ยนมาแล้วและตลาดเริ่มหันทิศทางกลับไปในทิศทางที่ดีขึ้น ก็อาจจะตกรถไฟได้ หรือหันกลับไปก็อาจจะช้าเกินไป
 
สำหรับผู้ที่ลงทุนอยู่ในตอนนี้ การจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับตนเองเป็นสิ่งสำคัญ อย่าจัดพอร์ตหรือลงทุนตามอารมณ์ของตนเองหรือตามกระแสคนรอบข้าง ต้องมีเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน หากมีเป้าหมายชัดเจนและสำเร็จตามเป้าหมายแล้ว เงินลงทุนได้ตามที่ตั้งใจแล้ว การปรับพอร์ตการลงทุนให้เงินก้อนใหญ่มาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ ส่วนเงินสะสมหรือเงินลงทุนใหม่ก็จัดการลงทุนแบบหวือหวาสักนิดเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนก็สามารถทำได้
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ส.ค. 2563 เวลา : 09:18:37
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 1:46 pm