แบงก์-นอนแบงก์
SCB CIO วิเคราะห์ จับตาสัญญาณความคืบหน้าการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังรอบใหม่ของสหรัฐฯ


ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (24 – 28 ส.ค.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น หลังการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างตัวแทนทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ ส่งผลให้ข้อตกลงการค้าเฟส 1 ยังคงดำเนินต่อไป และการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสมีความคืบหน้ามากขึ้น หลังผลการทดลองของบริษัท Moderna ให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดลบ จากความไม่แน่นอนด้านการเมืองและการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น หลังนายกรัฐมาตรีชินโซะ อาเบะ ประกาศจะลาออกโดยให้เหตุผลจากเรื่องสุขภาพ สำหรับตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับเพิ่มขึ้น หลังธนาคารกลางจีนอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ 5 หมื่นล้านหยวน และแรงซื้อนำในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจีน หลังรัฐบาลจีนดำเนินการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ด้านตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น หลังนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลในเรื่องผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทย นอกจากนี้ ดัชนีฯได้แรงหนุนจากประเด็นการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ สำหรับราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น หลังซาอุดี อารามโค คาดว่า ความต้องการใช้น้ำมันในภูมิภาคเอเชียจะฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนหลังอิทธิพลของเฮอร์ริเคนมาร์โคและพายุโซนร้อนลอราได้ส่งผลให้บริษัทน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกปรับลดกำลังผลิตน้ำมันดิบนอกชายฝั่งลงประมาณ 84.3% จากข่าวการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของอิรัก และรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯลดลงมากกว่าที่ตลาดคาด ด้านราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น หลังถ้อยแถลงของประธาน Fed ที่ระบุว่า จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยจะใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ระดับ 2% ซึ่ง ส่งผลให้ Fed มีแนวโน้มตรึงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำต่อไป


มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง แต่เคลื่อนไหวผันผวน ได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากถ้อยแถลงของสมาชิกธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มีแนวโน้มส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อ โดยการที่ Fed เปลี่ยนนโยบายอัตราเงินเฟ้อจากอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายคงที่เป็นอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายแบบเฉลี่ย จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป สัญญาณความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังรอบใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ และการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสที่มีแนวโน้มคืบหน้ามากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกสองของโควิด-19 ในสหรัฐฯที่ดีขึ้น จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสร้าง Sentiment เชิงบวกต่อตลาดฯ อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯขึ้นบัญชีดำรัฐวิสาหกิจจีน 24 แห่ง และทางการสหรัฐฯยังได้ออกมาเรียกร้องให้กองทุน endowment ของมหาวิทยาลัยต่างๆในสหรัฐฯปรับลดการถือครองหลักทรัพย์จีน ในขณะที่ รัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายใหม่คุมเข้มเรื่องการขายและส่งออกเทคโนโลยีจีนสู่ต่างประเทศ โดยประเด็นความขัดแย้งข้างต้นจะยังสร้างความผันผวนต่อตลาดฯ ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อ โดยยังได้แรงหนุนจากการที่บริษัทน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก ยังทยอยอพยพออกจากแท่นขุดเจาะเพื่อเตรียมรับมือกับพายุที่จะเข้าอ่าวเม็กซิโก ซึ่งจะส่งผลให้มีการระงับการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมในพื้นที่ดังกล่าว สำหรับตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับลดลง และเคลื่อนไหวผันผวน จากการปรับน้ำหนักเข้าออกของหุ้นไทยในดัชนี MSCI และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ด้านราคาทองคำมีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับลดลง จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ เช่น รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของ Fed 12 เขต และตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ มีแนวโน้มออกมาฟื้นตัวดีขึ้น

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

·  สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก โดยยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในสหรัฐฯ ลดลงจากจุดสูงสุดช่วงกลางเดือน ก.ค.ที่ 72,000 รายต่อวัน ลงมาอยู่ที่ 30,000 – 40,000 รายต่อวัน ในช่วงนี้ ขณะที่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของฝรั่งเศสล่าสุดอยู่ที่ 6,111 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.

· ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังรัฐบาลจีนออกกฎหมายใหม่คุมเข้มเรื่องการขายและส่งออกเทคโนโลยีของจีนสู่ต่างประเทศ ซึ่งจะครอบคลุมไปถึง Tiktok ที่ให้บริการในสหรัฐฯ โดยระเบียบส่งออกดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลแทรกแซงการขายกิจการ Tiktok ในสหรัฐฯ

· สัญญาณความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นทางการคลังรอบใหม่ของสหรัฐฯ หลังประธานาธิบดีทรัมป์ยินดีที่จะลงนามอนุมัติกฎหมายเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มูลค่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 แสนล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ตามที่ก่อนหน้านี้ ทำเนียบขาวและวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันเคยเสนอไว้

· ถ้อยแถลงของสมาชิก Fed โดยคาดว่า สมาชิก Fed จะยังส่งสัญญาณนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย สอดคล้องกับที่ประธาน Fed ได้ประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยระบุว่า จะยอมให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกิน 2% ได้ ในการประชุมที่ Jackson hole ที่ผ่านมา  

· การเตรียมนำเสนอแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1 แสนล้านยูโร (3 ก.ย.) ของรัฐบาลฝรั่งเศส โดยแผนกระตุ้นดังกล่าวจะยังคงดำเนินการปรับลดภาษีแก่ภาคธุรกิจลงต่อ ขณะที่ 1 ใน 4 ของกองทุนฟื้นฟูจะมุ่งเน้นไปยังธุรกิจขนาดกลางและเล็ก

· การทยอยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 ในสัปดาห์นี้ เช่น Campbell, Zoom และ Berkeley

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต และภาคบริการของสหรัฐฯ และยุโรป, ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและพื้นฐานของสหรัฐฯ, ดัชนี ISM ภาคการผลิต และนอกภาคการผลิตของสหรัฐฯ, ดัชนี PMI ภาคบริการของจีน (Caxin), การจ้างงานภาคเอกชน (ADP) และการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ, รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของ Fed 12 เขต (Fed Beige Book)
 
เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังรอบใหม่ของสหรัฐฯ, การหารือแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลฝรั่งเศส, สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, ประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน, การรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 และถ้อยแถลงของสมาชิก Fed
วิเคราะห์โดย: SCB Chief Investment Office

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ก.ย. 2563 เวลา : 11:56:10
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 3:17 am