หุ้นทอง
สหราชอาณาจักรและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU)


รัฐบาลสหราชอาณาจักรและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนในด้านบริการทางการเงิน โดยความร่วมมือจะมุ่งเน้นสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและยั่งยืน กิจกรรมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผ่านทางภาคบริการทางการเงิน



บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะช่วยกระชับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรและ ก.ล.ต. ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการยกระดับมาตรฐานการบัญชี การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค (FinTech) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการบริการทางการเงินและโอกาสทางธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมฟินเทคในประเทศไทย และส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน ซึ่งในเบื้องต้นจะมุ่งเน้นความร่วมมือในเรื่อง การสนับสนุนการออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กิจกรรมในเบื้องต้นจะมุ่งเน้นเรื่อง การพัฒนาระบบนิเวศของธุรกิจฟินเทค (FinTech ecosystem) การทำความรู้จักลูกค้าด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-KYC และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล กล่าวว่า “MoU ฉบับนี้เน้นย้ำความมุ่งมั่นของ ก.ล.ต. ในการดำเนินยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลและความยั่งยืน ซึ่งถูกจัดทำขึ้นในช่วงเวลาอันสำคัญยิ่ง ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งวิกฤตนี้นอกจากจะเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและการนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้เพื่อรับมือกับผลกระทบแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการปรับตัวเพื่อพร้อมตอบสนองต่อโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนด้วย ก.ล.ต. เชื่อมั่นว่า MoU ฉบับนี้ จะช่วยส่งเสริมการยกระดับระบบนิเวศของตลาดทุน สนับสนุนการพัฒนาเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน”

เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ไบรอัน เดวิดสัน กล่าวว่า "บริการทางการเงิน โดยเฉพาะ เทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค (FinTech) มีบทบาทสำคัญอย่างมากทั้งในการทำธุรกิจและการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 และขณะที่เรากำลังฟื้นตัวจากวิกฤติครั้งนี้ บริการทางการเงินก็มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กันในการช่วยให้เราก้าวไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ดีกว่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า และก่อประโยชน์แก่ผู้คนทั่วถึงยิ่งขึ้น ดังนั้นผมจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ประกาศร่วมมือกับ ก.ล.ต. ในหลายด้านอย่างเป็นทางการผ่านกองทุนพรอสเพอริตี้ในวันนี้’’ 

เกี่ยวกับโครงการ ASEAN Low Carbon Energy Programme 
 
โครงการ ASEAN Low Carbon Energy Programme ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากงบประมาณความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในต่างประเทศ (Overseas Development Assistance) ภายในกองทุนพรอสเพอริตี้ (Prosperity Fund) ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนประเทศในอาเซียนให้ก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและด้านอื่น ๆ ตามมา ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2565

เกี่ยวกับโครงการ ASEAN Economics Reform Programme 
 
โครงการ ASEAN Economics Reform Programme ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากงบประมาณความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในต่างประเทศ (Overseas Development Assistance) ภายในกองทุนพรอสเพอริตี้ (Prosperity Fund) ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและทั่วถึงในประเทศสมาชิกอาเซียน โครงการนี้มุ่งเน้น 1) เสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ผ่านการบังคับใช้กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา การปฏิรูปกฎหมาย และการปรับปรุงนโยบายการแข่งขัน 2) พัฒนาความโปร่งใส และ 3) เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคการเงินผ่านการพัฒนาตลาดทุน ขีดความสามารถด้านฟินเทค และมาตรฐานบัญชี ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2565

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ก.ย. 2563 เวลา : 09:52:06
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 5:32 am