หุ้นทอง
ถอดบทเรียนสอนใจ การลงทุนในยุค COVID-19


วิกฤติ COVID-19 กระทบกับชีวิตของเราทุกคน รวมถึงด้านการลงทุน ที่กระทบกับพอร์ตการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน ใครจะคาดคิดมาก่อนว่า ตลาดหุ้นไทยจะต้องเจอกับ 3 Circuit Breaker ภายใน 2 วันติดต่อกัน
 
 
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ และ นารินทิพย์ ท่องสายชล บอกว่าในช่วงแรก นักลงทุนยังยึดติดกับข้อมูลในอดีตมากจนเกินไป คิดว่าเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นคล้ายกับโรคซาร์ส (SARs) และโรคเมอร์ส (MERs) ซึ่งพอนำไปเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นในช่วงนั้นแล้ว ถือว่าหุ้นลงไม่ค่อยแรง

แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญของวิกฤติครั้งนี้ คือ จุดที่การแพร่ระบาดในจีน แพร่ออกไปยังเกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน กระจายในตะวันออกกลาง ลามไปถึงอเมริกา หลังจากนั้นก็ขยายไปทั่วโลก
 
เมื่อการระบาดกระจายไปทั่วโลกแล้ว ตอนนั้นเองนักลงทุนมีทั้งความกล้า ความกลัว และความรู้สึกหมดหวัง โรคระบาดจากเดิมที่ดูเป็นเรื่องไกลตัว เริ่มขยับเข้ามาใกล้ตัว ตนเอง ครอบครัว หรือคนรอบข้างก็มีโอกาสติดได้หมด จึงเกิด Panic ขึ้น และเทขายหุ้นอย่างหนัก
 
กราฟแสดง การเคลื่อนไหวของดัชนี SET Index ต่อวิกฤติต่างๆตั้งแต่ปี 2518 - 2563
 

โดยในช่วงที่เกิดวิกฤติมักจะมีอยู่ 2-3 คำถามที่ทุกคนพูดเหมือนกัน คือ วิกฤติรอบนี้จะเหมือนปี 2551 ไหม หรือจะเหมือนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 หรือเปล่า และหากจะเริ่มกลับมาลงทุน จะหาหุ้นหลังเกิดวิกฤติ ควรเริ่มอย่างไร
 
การเริ่มต้นที่ดี ควรตั้งต้นจากการมองย้อนกลับไปในอดีตก่อนว่าเราเคยผ่านวิกฤติอะไรบ้าง เช่น โรคซาร์ส (SARs) ในปี 2546 วิกฤติราคาน้ำมันในปี 2558-2559 และสงครามการค้า จีน-สหรัฐ ในปี 2561 ถึงปัจจุบัน จากนั้นมาดูว่า ในแต่ละวิกฤตินั้นส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างไร หุ้นตัวไหนหรือกลุ่มอุตสาหกรรมใดที่ฟื้นตัวได้ก่อน ก็เลือกหุ้นหรือกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น
 
วิกฤติ COVID-19 ครั้งนี้ ใหญ่เหมือน 3 วิกฤติมารวมกัน คือ สงครามการค้า จีน-สหรัฐ ที่ยังคงมีอยู่ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันก็ดิ่งลงมามาก บางช่วงลงหนักถึงติดลบ และมีโรคระบาดคล้ายๆ กัน เมื่อนำทั้ง 3 วิกฤติมาวัดรวมกัน พบว่า กลุ่มที่ลงแรงที่สุด คือ กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี และนับจากนั้น 3 เดือน กลุ่มที่ขึ้นแรงที่สุด ก็คือ กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีเช่นกัน ส่วนกลุ่มอื่นๆ ที่ตามมา คือ กลุ่มที่คาดหวังว่าจะเปิดประเทศ กลุ่ม High Beta และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย เป็นต้น
 
ถ้าจะลงทุนในช่วงวิกฤติต้องดูพื้นฐานอะไรบ้าง
 
เพื่อให้ได้หุ้นที่ลงทุนแล้วปลอดภัย พอที่จะข้ามผ่านวิกฤติไปได้ ควรดูพื้นฐาน ดังนี้

ดูโครงสร้างทางการเงินของบริษัท เพราะหากวิกฤติโควิดลากยาวออกไป 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทมากน้อยเพียงใด รวมถึงหากรายได้หายไปหรือลดลง บริษัทจะยังอยู่ต่อไปได้หรือไม่

ถ้าบริษัทไม่มีรายได้ บริษัทสามารถจ่ายคืนหนี้ได้หรือไม่ โดยดูที่หนี้สินต่อทุน ดูแผนการลงทุน และดูการจัดการกระแสเงินสด (Cash Flow) ของบริษัท

เลือกลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรรมที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่ม ICT และกลุ่มก่อสร้าง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ค่อนข้าง Defensive จะกลับมาค่อนข้างเร็ว
 
บทเรียนสำคัญจากวิกฤติรอบนี้
 
วิกฤติรอบนี้ ถือเป็นรอบที่ดี เพราะวิกฤติเดียว ทำให้เราได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง เช่น จะเอาตัวเองให้รอดในตลาดหุ้นอย่างไร ต้องปรับตัวอะไร ตลาดหุ้นเป็นยังไง ผู้บริหารบริษัทที่เราลงทุนเก่งหรือไม่ และนี่คือบทเรียนสำคัญที่ได้จากวิกฤติครั้งนี้

วางแผนการลงทุน (Investment Plan) เขียนแผนการลงทุนของตนเองอย่างชัดเจน โดยระบุเป้าหมาย แนวทางการลงทุนและการวัดผลต่างๆ  ที่สำคัญ คือ ลงมือทำตามแผนอย่างสม่ำเสมอ
 

จัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) กระจายการลงทุนไปยังหลายๆ สินทรัพย์ เพื่อกระจายความเสี่ยงและอยู่ในระดับที่ตนเองยอมรับได้ การแพ้ชนะในตลาดหุ้น ไม่ได้อยู่ที่ว่าเลือกหุ้นได้เก่ง แต่อยู่ที่ว่าใครทำ Asset Allocation กระจายสินทรัพย์ลงทุนได้ดีกว่ากัน

บริหารและจัดการเงินหน้าตัก (Money Management) ไม่ลงทุนเกินตัว ควรใช้เงินสดของตนเองมาลงทุน ไม่ควรลงทุนด้วยบัญชี Margin รู้จักแบ่งไม้ซื้อ เพื่อจำกัดการขาดทุนและสร้างโอกาสทำกำไร

หยุดขาดทุน (Stop Loss) เพราะราคาหุ้นอาจไหลไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะมีเงินกลับเข้าซื้อใหม่ ควรรู้จุดหยุดขาดทุน ถึงเวลาตัดใจขาย ต้องขาย

ต้องมีวินัยการลงทุน (Discipline) ซึ่งสำคัญที่สุด ใช้กระบวนการต่างๆ มาตัดสินใจในการลงทุน ไม่ทำตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงต่างๆ สร้างวินัยกับตนเอง ยอมรับและต้องทำ เช่น ตัดสินใจซื้อหรือถือเพราะอะไร ก็ต้องขายเพราะเหตุผลนั้น หรือถ้าผ่านจุดที่ต้องซื้อ ก็ต้องซื้อ (Follow Buy) เป็นต้น

นี่คือบทเรียนสำคัญ ที่ถอดบทเรียนจาก COVID-19 เพื่อเป็นมุมมองหรือแนวคิดให้กับนักลงทุนให้สามารถผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ รวมถึงเพื่อสร้างพอร์ตลงทุนให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ก.ย. 2563 เวลา : 09:26:41
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:09 am