ไอที
ทำความเข้าใจพลวัตของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านการศึกษาทักษะด้านดิจิทัลของครัวเรือนไทย


ในด้านหนึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานและการใช้ชีวิต แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ผลกระทบเพียงจุดเล็กๆที่เกิดขึ้นในมุมหนึ่งของโลกสามารถแพร่กระจายส่งผลระทบเป็นวงกว้างต่อภาพรวมเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงมีความสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปในยุค Digital Economy 

ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น เป็นระบบเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลได้แก่โครงข่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 2) รูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่จากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เช่น Platform business หรือ Everything as a service model และ 3) กระบวนการผลิตใหม่ที่มีการนำ Robotics หรือ Artificial Intelligence มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่การผลิต
 
 
การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ ไม่ได้สร้างโอกาสในการเติบโตและไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตที่ดีขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่อาจทำให้สังคมอยู่ในสภาวะ Digital Divide หรือสถานการณ์ที่ประชากรบางกลุ่มไม่สามารถได้รับประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
 
แนวทางหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เพื่อชี้วัดพลวัตที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลคือการสร้างดัชนีชี้วัดที่เรียกว่า Digital literacy หรือทักษะความรู้ด้านดิจิทัลของประชาชน ซึ่งถือเป็นทักษะความรู้ใหม่ที่สามารถนำมาใช้ประเมินว่าครัวเรือนไทยและภาคธุรกิจไทยมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้มากเพียงใด
บทความชื่อ “Understanding the dynamic of digital economy in the context of digital literacy of Thai households” โดย ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น จึงทำการศึกษาประเด็นดังกล่าวและเสนอแนวทางในการวัด Digital literacy ด้วย 4 ปัจจัยย่อยได้แก่ 1) การเข้าถึง digital technologies 2) ทักษะการใช้งาน digital technologies 3) ความรู้ด้าน digital technologies และ 4) การตระหนักถึงข้อมูลและสิทธิต่างๆในโลกดิจิทัล 
 
จากการวิจัยพบประเด็นสำคัญของ Digital literacy ในประเทศไทยได้แก่ เพศชายมีการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล มีความรู้ และมีการตระหนักถึงความเสี่ยงในโลกดิจิทัลมากกว่าเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญ เจเนเรชั่น Millennial (ซึ่งอายุประมาณ 24-39 ปี ในปัจจุบัน) คือกลุ่มเจเนเรชั่นที่มีความโดดเด่นสูงสุดในทุกมิติย่อยของ Digital literacy รองลงมาคือเจเนเรชั่น Z และ เจเนเรชั่น X ตามลำดับ 
 
กลุ่มอาชีพที่มีความโดดเด่นด้าน Digital literacy สูงที่สุดคือผู้ประกอบอาชีพในสายงานวิชาชีพต่างๆเช่น เจ้าหน้าที่เทคนิค ข้าราชการอาวุโส ผู้บริหาร และผู้พิพากษา เป็นต้น โดยผู้ที่ตกงานจะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาด้าน Digital literacy อย่างมาก ซึ่งอาจเป็นการสะท้อนว่ากลุ่มประชากรดังกล่าวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Digital divide แล้วเพราะขาดทักษะด้านดิจิทัลที่เหมาะสมเพื่อการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัล 4.0
 
นอกจากนี้ งานวิจัยยังได้แบ่งกลุ่มประชากรไทยออกเป็น 3 กลุ่มย่อยตามระดับคะแนน Digital literacy ด้วยวิธีการทางสถิติที่เรียกว่า Cluster analysis ซึ่งพบว่าประมาณร้อยละ 26 ของกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่ม Digital fluency ร้อยละ 55 เป็นกลุ่ม Digital neutral และร้อยละ 21 เป็นกลุ่ม Digital illiterate 
 
เมื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของทั้งสามกลุ่มเพื่อเป็นกรณีศึกษาของการวิจัยในการเข้าใจผลกระทบของระดับ Digital literacy ต่อการเข้าถึงบริการทางการเงิน พบว่ากลุ่ม Digital fluency มีการใช้บัตรเครดิต และการลงทุนในกองทุนรวมที่สูงโดดเด่นกว่ากลุ่มอื่น เป็นลูกค้าของธนาคารมากที่สุดจำนวนอย่างน้อย 3 แห่งขึ้นไป เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของผลิตภัณฑ์สำหรับการตัดสินใจเลือกเป็นลูกค้าหลายธนาคาร 
สำหรับลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคในกลุ่ม Digital fluency ให้ความสำคัญคือการมี Mobile banking applications ที่ครอบคลุมและตอบโจทย์ความต้องการแบบรอบด้าน ในขณะที่กลุ่ม Digital neutral และ Digital illiterate ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกที่สาขาของธนาคารผ่านการประยุกต์ใช้เครื่อง Automated machines ให้มากขึ้น 
 
นอกจากนี้ ทั้งสามกลุ่มยังต้องการให้สถาบันการเงินปรับปรุงระบบแจ้งเตือนให้มีความชาญฉลาดเพื่อให้สามารถแจ้งเตือนข้อมูลที่มีความจำเพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือผู้บริโภคทั้งสามกลุ่มไม่มีความต้องการให้ธนาคารนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวหรือที่เรียกว่า Personalization เลย หลักฐานนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคมุ่งเน้นด้านความเข้าใจง่ายและความมีประสิทธิภาพในการนำเสนอบริการด้านการเงินมากกว่าความซับซ้อนของเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์แบบจำเพาะบุคคล
 
เมื่อสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินในประเทศไทยเพื่อศึกษาว่าสถาบันการเงินในไทยมีแนวทางในการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ให้สอดรับกับยุคดิจิทัลอย่างไร พบว่าสถาบันการเงินในไทยส่วนใหญ่มุ่งเน้นลงทุนในเทคโนโลยีสำคัญ 3 ด้านได้แก่ 1) Cyber security 2) Big data analytic และ 3) Cloud infrastructure
 
ผลลัพธ์เชิงประจักษ์นี้สนับสนุนว่าสถาบันการเงินในไทยตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมไปสู่ Open banking ที่ฐานข้อมูลต่างๆจะถูกแชร์ระหว่างผู้ให้บริการแต่ละราย ทำให้สถาบันการเงินจึงต้องลงทุนในเทคโนโลยีที่สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า และเก็บข้อมูลของลูกค้าได้อย่างปลอดภัย
 
อย่างไรก็ตามสถาบันการเงินไม่ควรมุ่งเน้นวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าเพื่อจุดประสงค์ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบจำเพาะบุคคล แต่สถาบันการเงินต้องพิจารณาว่าการเข้าใจลูกค้าที่มากขึ้นจะทำให้สถาบันการเงินสามารถนำเสนอ Standardized products ที่เข้าใจง่ายและเปรียบเทียบราคาได้ง่าย ที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าแต่ละรายอย่างเหมาะสมที่สุดได้หรือไม่ 
 
การศึกษาด้าน Digital literacy จึงถือเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้เข้าใจมิติความพร้อมและการปรับตัวของครัวเรือนต่อการดำเนินชีวิตในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งพฤติกรรมของครัวเรือนในแต่ละเจเนเรชั่น อาชีพ หรือกลุ่มรายได้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่บ่งชี้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
 
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่จะนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2563 ของธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อ “ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง” ซึ่งจะจัดในวันที่ 28 กันยายน 2563 ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และธนาคารแห่งประเทศไทย
 
 
ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น   
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.ย. 2563 เวลา : 12:13:42
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 10:09 pm