แบงก์-นอนแบงก์
''ออมสิน'' เดินหน้าปฎิบัติการธนาคารเพื่อสังคม ออกสินเชื่อ ''SMEs มีที่ มีเงิน'' ปฎิวัติวงการ ปลดล็อกสภาพคล่องให้ SMEs


"ออมสิน" ชูธงธนาคารเพื่อสังคม เปิดปฎิบัติการ “ปลดล็อก สภาพคล่องให้ SMEs” ออกสินเชื่อใหม่  "SMEs มีที่ มีเงิน" ปฎิวัติวงการ ไม่ต้องตรวจเครดิตบูโร ไม่ต้องวิเคราะห์งบการเงินรายได้ แค่มีที่ดินเป็นหลักทรัพย์ ยื่นกู้ได้สูงสุด 70% ของราคาประเมิน ช่วยผู้ประกอบการไม่ต้องเอาที่ดินไปขายฝากนอกระบบเจอดอกเบี้ยโหด เผยออมสินคิดดอกเบี้ยต่ำแค่ 5.99% พร้อมให้เวลา 3 ปี ค่อยใช้เงินต้นคืน - ชำระแค่ดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ระบุ Q1/64 เตรียมออก "สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ" กดดอกเบี้ยเหลือ 18% ปล่อยกู้ไม่เกิน 2 แสนบาท/ราย อยู่ระหว่างเลือกผู้ร่วมทุน ชี้  9 ธ.ค.นี้ ลุยโครงการ "สมุยโมเดล" ทำครบวงจร ทั้งปล่อยกู้ – แก้หนี้ – CSR – สร้างดีมานด์ – ใจดีให้ลูกค้าเก่าชำระดอกเบี้ยบางส่วน เป็น Voucher โรงแรมได้


นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ออมสินได้ออกสินเชื่อใหม่ล่าสุด "สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน" เพื่อช่วยเหลือผู้ประ กอบการ SMEs จำนวนมากที่ประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจภายใต้ความยากลำบาก แต่ยังไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้เนื่องจาก ติดปัญหาธุรกิจขาดรายได้และมีภาระหนี้เดิม จึงจำเป็นต้องหันไปพึ่งการกู้เงินนอกระบบรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะวิธีการ "ขายฝากที่ดิน" ที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญการถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงมาก และวงเงินกู้ต่ำกว่าราคาประเมินมาก รวมถึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องสูญเสียที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ธนาคารออมสินซึ่งมีนโยบายเป็นธนาคารเพื่อสังคมจึงออกโปรดักต์ใหม่ที่ต้องการมาช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่อง สามารถมีเงินทุนหมุนเวียนดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs ที่ก่อนหน้านำที่ดิน หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไปขายฝากไว้กับเอกชนนอกระบบ ก็สามารถมาขอสินเชื่อโครงการนี้เพื่อนำไปไถ่ถอน จากสัญญาขายฝากที่ทำไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ตุลาคม 2563
 

"สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน" จะเป็นตัวเลือกที่ยุติธรรมให้กับผู้ประกอบการสามารถเข้ามาขอสินเชื่อในโครงการนี้กับธนาคารออมสินได้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเพียง 5.99% ต่อปีตลอดอายุสัญญา เพียงมีโฉนดที่ดินมาวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงิน วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาทสำหรับนิติบุคคล และ 10 ล้านบาทสำหรับบุคคลธรรมดา โดยออมสินจะพิจารณาให้กู้ได้สูงถึง 70% ของราคาประเมินที่ดินของราชการ และประการสำคัญ ไม่ตรวจเครดิตบูโร ไม่พิจารณาภาระผู้กู้  ไม่วิเคราะห์งบการเงินรายได้ ซึ่งจะทำให้ผู้กู้ซึ่งเป็น SMEs ที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เสริมสภาพคล่องได้ เพราะในภาวะวิกฤติรุนแรงเช่นนี้ หากวิเคราะห์งบการเงิน SMEs กู้ไม่ผ่านแน่นอน ธนาคารออมสินจึงปลดล็อกเงื่อนไขนี้ให้ ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พิจารณาอนุญาตให้สามารถทำได้” นายวิทัยกล่าว
 

นายวิทัยกล่าวต่อไปว่า ส่วนการชำระคืน ผู้กู้สามารถชำระคืนเงินต้นเมื่อไรก็ได้ เพื่อไถ่ถอนที่ดินคืนเมื่อพร้อม ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์โค-วิด น่าจะคลี่คลายไม่เกิน 2 ปีนี้ และเมื่อธุรกิจมีความเข้มแข็งมากขึ้นแล้วก็จะมีความสามารถในการชำระหนี้คืนตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ภายใน 3 ปี

"เชื่อว่าสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถประคับประคองธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ โดยคาดจะมีผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 1,000 ราย เฉลี่ยกู้รายละ 10 ล้านบาท เข้ามาใช้บริการเต็มวงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากมีจำนวน SMEs ที่เดือดร้อนและต้องการใช้บริการสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน อีก ธนาคารออมสินก็ยังสามารถขยายวงเงินเพิ่มเติมอีกได้ เนื่องจากคณะกรรมการธนาคาร(บอร์ด) ให้นโยบายไว้อยู่แล้ว" ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว
 

นายวิทัยกล่าวต่อไปว่า สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน จะเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยผู้สนใจทั้ง บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่ประกอบธุรกิจ SMEs / Social Enterprise มาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี (ยกเว้น ผู้ประกอบธุรกิจขายฝาก หรือการให้สินเชื่อที่มีลักษณะเดียวกับธนาคาร) สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ยื่นขอสินเชื่อได้ที่เว็บไซต์ www.gsb.or.th หรือติดต่อที่ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ

"ธนาคารออมสินภายใต้การบริหารของผมนับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการ มุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารที่ทำเพื่อสังคม ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนเพราะผลกระทบโค-วิด 19 มาอย่างต่อเนื่อง โดยออกสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษต่างๆ ที่เน้นช่วยลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้ประชาชนและกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อเพื่อช่วยกลุ่มฐานราก หรือ Soft Loan ช่วยเหลือ SMEs กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจประมง รวมไปถึง SMEs ทั่วไปที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบในครั้งนี้" นายวิทัยกล่าว
 

นายวิทัยกล่าวต่อไปว่า นอกจาก "สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน" แล้ว โปรดักต์ต่อไปที่เตรียมจะออกในเร็วๆนี้ ประมาณไตรมาสแรกปี 2564 เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องผู้ประกอบการเช่นกัน คือ "สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์" ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนกับภาคเอกชนในการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดกรองผู้จะร่วมลงทุน ซึ่งมีเอกชน 8 รายที่สนใจเข้ามาคุยรายละเอียดรูปแบบการดำเนินงานแล้ว คาดว่าน่าจะประมาณ 1-2 เดือนนี้ จะได้ข้อสรุปว่าจะร่วมลงทุนกับเอกชนรายใด และรูปแบบการดำเนินธุรกิจจะมีหน้าตาอย่างไร

"สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์" เป็นอีกภารกิจหนึ่งของธนาคารออมสิน ที่เรามองว่าดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ในท้องตลาดปัจจุบันสูงเกินไป ในขณะที่ NPLs ก็อยู่ระดับต่ำมาก แค่ 1-2% ฉะนั้นลดดอกเบี้ยลงมาเหลือ 18% สบายๆ ผู้ประกอบการก็ยังสามารถให้บริการมีกำไรอยู่ได้สบายๆ ประชาชนก็ได้รับดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ทั้งนี้รูปแบบสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จะเป็นในลักษณะไมโครไฟแนนซ์ โดยจะปล่อยกู้ให้ไม่เกินรายละ 200,000 บาท" ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวพร้อมย้ำว่า เราต้องการให้ดอกเบี้ยจำนำทะเบียนรถยนต์ลงมาเหลือ 18% เพราะปัจจุบันแพงเกินไป แม้ ธปท.จะขอให้ลดลงมาเหลือ 24% จากเดิม 28% แล้วก็ตาม
 

นายวิทัยกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้แล้ว ภารกิจที่ธนาคารออมสินจะทำในลำดับต่อไปเพื่อเป็นธนาคารเพื่อสังคมอย่างแท้จริง คือ "โครงการ สมุยโมเดล" ซึ่งจะเริ่มปฎิบัติการในวันที่ 9 ธันวาคม 2563 นี้ โดยออมสินจะทำทั้งหมดอย่างครบวงจร เนื่องจากพื้นที่สมุยประสบปัญหามาก โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ต่อเนื่องถึงภาคบริการที่ขณะนี้ซบเซามาก ซึ่งออมสินจะระดมทุกสรรพกำลังเข้าไปช่วยสมุย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเงินทุน เติมสภาพคล่องให้กับทุกกลุ่มทั้งรายย่อย, SMEs และผู้ประกอบการอื่นๆ โดยจะนำโปรดักต์ทุกเซกเมนต์ลงไปช่วย พร้อมจะไปช่วยเรื่องการแก้หนี้ เรื่อง CSR ต่างๆ อาทิ เด็กๆนักเรียนที่พ่อแม่ไม่มีเงินส่งเรียนหนังสือ ออมสินก็จะเข้าไปช่วย รวมถึงการเข้าไปสร้างดีมานด์ใส่เข้าไปด้วย สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับชุมชน นอกจากนี้ ลูกค้าเก่าของออมสินสามารถชำระดอกเบี้ยบางส่วนเป็น Voucher ที่พักโรงแรมได้ ซึ่งถ้าโครงการสมุยโมเดลประสบผลสำเร็จก็จะเป็นต้นแบบให้ขยายไปทำกับเมืองอื่นต่อไป

LastUpdate 27/10/2563 19:35:15 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 7:35 pm