เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCBS CIO : คาดเฟดจะใช้เวทีการประชุม FOMC สื่อสารเพื่อลดความผันผวนจากการเลือกตั้งสหรัฐในสัปดาห์นี้


* ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS CIO) มองเฟดจะสื่อสารผ่านการประชุมนโยบายการเงินในครั้งนี้ เพื่อลดความผันผวนจากการเลือกตั้งที่พึ่งผ่านไป

* ผลของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายพร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการขาดดุลทางการคลังระดับสูง จะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าในระยะยาว

* แนะนำลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มการลงทุนในหุ้น โดยมองว่าผลเลือกตั้ง และทิศทางนโยบายการเงินเป็นบวกกับการลงทุนในกลุ่ม Emerging Markets วัฏจักร และกลุ่มมูลค่ามากที่สุด

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS CIO) คาดว่าจะมีความผันผวนตกค้างมาจากการเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐไม่ว่าผลจะเป็นเช่นไร แต่หลังการเลือกตั้ง มีการประชุม FOMC รออยู่ ซึ่งในภาพรวม เชื่อว่าเฟดจะ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00-0.25% แต่มองการสื่อสารจะเป็นลักษณะสวนทางกับความเสี่ยงหลักแบ่งเป็นสองกรณี 


(1) ถ้าตลาดหุ้นสหรัฐ “ปรับตัวลง” (โอกาสเกิดขึ้น 60%) เชื่อว่าเฟดจะสื่อสารในเชิงผ่อนคลายมากขึ้น และอาจมีการพูดถึงนโยบายการเงินที่สามารถนำมาใช้เพื่อลดความผันผวน และกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก เช่น Negative Interest Rate หรือ Yield Curve Control

(2) ถ้าตลาดหุ้นสหรัฐ “ปรับตัวขึ้น” หลังเลือกตั้ง (โอกาสเกิดขึ้น 40%) เชื่อว่าเฟดจะลดการสื่อสารในเชิงผ่อนคลายนโยบายการเงินลง และหันไปสนับสนุนการใช้นโยบายการคลังในปี 2021 ทันที

มุมมองตลาดการเงินและทิศทางนโยบายการเงินดังกล่าว จะส่งผลต่อสินทรัพย์ต่าง ๆ ในตลาดการเงินดังนี้

ดอกเบี้ยและบอนด์ยีลด์ – ดร.จิติพลเชื่อว่ามุมมองดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เปลี่ยนแปลง และคาดว่ายีลด์สหรัฐจะไม่ผันผวนแรง เพราะปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำใกล้ 0% มองยีลด์อายุ 2ปีจะขยับขึ้นมาที่ระดับ 0.20% ซึ่งยังต่ำกว่าขอบบนของดอกเบี้ยนโยบายอยู่ แต่ยีลด์สหรัฐระยะยาวมีโอกาสปรับตัวลงได้ จากความผันผวนโดยรวมของตลาดที่สูงขึ้น โดยประเมินยีลด์ 10ปีที่ระดับ 0.75% ในช่วงสิ้นปี
 
เงินดอลลาร์ – มองว่านโยบายการเงินไม่มีผลกับเงินดอลลาร์ เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว ขณะที่ในอนาคตเชื่อว่าดัชนีดอลลาร์จะถูกขับเคลื่อนจากทิศทางนโยบายการคลังและมุมมองความเสี่ยง (Risk on หรือ risk off) ของนักลงทุนในตลาด คาดว่าทั้งสองเรื่องจะมีความชัดเจนหลังจากทราบผลการเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐ จึงคงมุมมองกรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) ที่ระดับ 90-95จุดในช่วงที่เหลือของไตรมาสที่สี่ แต่คาดว่าการปล่อยให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นแต่คงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำของธนาคารกลางสหรัฐ จะกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าได้อีกราว 7-15% ในปี 2021
 
สินค้าโภคภัณฑ์ – ประเมินบอนด์ยีลด์ที่ต่ำยาวนานเป็นประเด็นหนุนราคาทองคำให้ซื้อขายในระดับ 1700-2100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จุดที่ต้องระวังไม่ใช่นโยบายการเงิน แต่เป็นการคิดค้นวัคซีนโควิด-19 ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จเร็ว อาจส่งผลให้ตลาดกลับไปเปิดรับความเสี่ยงซึ่งเป็นลบต่อทิศทางราคาทองคำ จึงคงมุมมองราคาทองคำสิ้นปี 2020 ที่ 1850 ดอลลาร์ต่อออนซ์
 
โดยสรุป ดร.จิติพล คาดว่าผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดครั้งนี้จะเป็นปัจจัยในการปรับสมดุลความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐหลังเลือกตั้ง

ดังนั้นสำหรับนักธุรกิจไทย สามารถมองเป็นโอกาสที่จะทำการกู้ยืมในช่วงดอกเบี้ยต่ำเพื่อธุรกิจในระยะยาวได้ แต่ผู้ส่งออกอาจต้องเตรียมพร้อมกับการอ่อนค่าของดอลลาร์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากนโยบายการเงินและการคลังสหรัฐที่จะผ่อนคลายมากหลังเลือกตั้ง

ส่วนในฝั่งนักลงทุน ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงมากขึ้นในการลงทุนคือสัดส่วนการลงทุนในบอนด์ ซึ่งปัจจุบันให้ผลตอบแทนที่ต่ำมากเป็นความเสี่ยงต่อเป้าหมายการลงทุนระยะยาว อย่างไรก็ดี คาดว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจใน Emerging Markets เกิดขึ้นได้เร็ว สร้างโอกาสในการลงทุนกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) และกลุ่มมูลค่า (Value) ที่ยังคงฟื้นตัวช้ากว่าการลงทุนในกลุ่มเติบโตสูง (Growth)

การประชุม FOMC ครั้งถัดไปวันที่ 15-16 ธันวาคม 2020



ที่มา: Bloomberg World Interest Rate Probability, Bloomberg และ SCB Securities วันที่ 29 ตุลาคม 2020

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 พ.ย. 2563 เวลา : 12:05:49
08-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 8, 2024, 1:06 am