หุ้นทอง
ก.ล.ต. เผยความคืบหน้าโครงการ Regulatory Guillotine ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ และลดภาระของประชาชน


ก.ล.ต. เผยความคืบหน้าโครงการ Regulatory Guillotine โดยปรับปรุงกฎเกณฑ์ทุกด้าน ผ่านโครงการย่อย 81 โครงการ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจและลดภาระของประชาชน สอดคล้องกับหลักการในมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ

 

 
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ตามที่ ก.ล.ต. ได้เปิดตัวโครงการนำร่องภายใต้โครงการ Regulatory Guillotine จำนวน 21 โครงการย่อย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดขั้นตอน กระบวนการและเอกสารที่ต้องยื่นต่อ ก.ล.ต. รวมทั้งทบทวนกฎเกณฑ์ให้มีเท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดย ก.ล.ต. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องทำให้ในปัจจุบันมีจำนวน 81 โครงการย่อย ที่กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2563 - 2565 ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งผลดี คือ 1) ลดจำนวนกระดาษ 1,946,804 แผ่นต่อปี 2) ลดระยะเวลาการดำเนินการ 102,035 ชั่วโมงต่อปี และ 3) ลดต้นทุนการดำเนินการ 217,806,703 บาทต่อปี

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้แต่งตั้งคณะทำงานปฏิรูปกฎเกณฑ์ด้านตลาดทุน (Regulatory Guillotine) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจและลดภาระของประชาชน โดยการดำเนินการในระยะต่อไปจะมีที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในด้าน Regulatory Guillotine ทั้งในภาควิชาการและภาคเอกชนร่วมให้ความเห็นในคณะทำงานด้วย เพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย”

ทั้งนี้ โครงการย่อยที่มีกำหนดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปี 2563 มีจำนวน 5 โครงการย่อย ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ 1) โครงการพัฒนากระบวนการยื่นขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม แบบไร้กระดาษ (paperless) 2) โครงการยุบรวมแบบ filing เสนอขายตราสารหนี้จาก 32 แบบ ให้เหลือเพียง 13 แบบ 3) โครงการเพิ่มช่องทางการยื่นแบบคำขอความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีในตลาดทุนซึ่งลงลายมือชื่อดิจิทัล โดยทาง e-mail 4) โครงการทบทวนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวม และ 5) โครงการทบทวนระเบียบวิธีปฏิบัติของ ก.ล.ต. ว่าด้วยการรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

หมายเหตุ: Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน โดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 

เอกสารแนบ

รายละเอียดโครงการย่อยที่มีกำหนดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปี 2563 ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

1. โครงการพัฒนากระบวนการยื่นขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม แบบไร้กระดาษ (paperless) ก.ล.ต. ได้พัฒนาระบบและปรับปรุงหลักเกณฑ์การขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม รวมทั้งการยื่นเอกสารประกอบคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ OFAM) โดยไม่ต้องส่งเอกสารเป็นกระดาษมายัง ก.ล.ต. อีก ส่งผลให้เป็นการปลดภาระของภาคเอกชนในการจัดส่งคำขอและเอกสารประกอบคำขอเป็นกระดาษทั้งหมด หรือร้อยละ 100

2. โครงการปรับปรุงแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายตราสารหนี้ (แบบ filing) โดยจะยุบรวมแบบ filing ทั้งหมด 32 แบบ ให้เหลือเพียง 13 แบบ ส่งผลให้จำนวนแบบ filing ที่ภาคเอกชนต้องนำส่งต่อ ก.ล.ต. ลดลงถึงร้อยละ 60

3. โครงการเพิ่มช่องทางการยื่นแบบคำขอความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีในตลาดทุนซึ่งลงลายมือชื่อดิจิทัล โดยทาง e-mail โดยปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชน เพื่อให้ถือว่า ก.ล.ต. ได้รับแบบคำขอความเห็นชอบในรูปแบบกระดาษ ตามวันเวลาที่แสดงว่าสำนักงานได้รับ e-mail ซึ่งจะช่วยลดภาระในการยื่นแบบคำขอความเห็นชอบเป็นกระดาษร้อยละ 100 สำหรับผู้สอบบัญชีที่เลือกใช้ช่องทางนี้

4. โครงการทบทวนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน โดยยกเลิกข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ซึ่งจะช่วยลดภาระผู้ประกอบธุรกิจในการจัดเก็บข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหน่วยลงทุนและการติดตามตรวจสอบสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหน่วยลงทุน

5. โครงการทบทวนระเบียบวิธีปฏิบัติสำนักงาน ก.ล.ต. ว่าด้วยการรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยปรับปรุงระเบียบวิธีปฏิบัติสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อรองรับการยื่นหนังสือแสดงความตกลงในการนำส่งข้อมูลและแต่งตั้งผู้กำหนดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (แบบ EF-2) หนังสือแสดงความตกลงในการนำส่งข้อมูลและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (แบบEF-3) หนังสือเพิกถอนผู้กำหนดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการหรือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (แบบ EF-4) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ต้องส่งเอกสารกระดาษมายัง ก.ล.ต. ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ธันวาคม 2563

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 พ.ย. 2563 เวลา : 15:52:23
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 9:17 am