แบงก์-นอนแบงก์
กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเวทีสานโอกาสสร้างธุรกิจกับโครงการ 'Krungsri Unicorn Startup Studio' ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรแห่งนวัตกรรม


ปัจจุบันภาคธุรกิจการเงินต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ โดยเฉพาะกระแสดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ยกระดับการทำงาน หลายองค์กรจึงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กรอย่างต่อเนื่อง จึงเปิดตัวโครงการ “Krungsri Unicorn Startup Studio” เพื่อมุ่งส่งเสริมให้พนักงานทั้งองค์กรได้พัฒนาศักยภาพ ผลักดันให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งนวัตกรรม และผลักดันให้เกิดการสร้างแนวคิดธุรกิจใหม่ๆ หรือสตาร์ทอัพ (Startup) ในองค์กร 


นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า “โครงการ “Krungsri Unicorn Startup Studio” เป็นโครงการบ่มเพาะธุรกิจภายในองค์กรสำหรับพนักงาน (Internal Startup Program) ที่เปิดโอกาสให้พนักงานกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ที่มีศักยภาพและมีแนวคิดในการทำธุรกิจใหม่ ๆ ได้นำเสนอไอเดียดี ๆ หรือโมเดลธุรกิจของตัวเองที่เป็นประโยชน์เพื่อปูทางสู่การสร้างนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ ๆ ที่จะมีส่วนช่วยยกระดับการให้บริการลูกค้า หรือสามารถเสริมประสิทธิภาพให้กับธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้ในอนาคต หรือแนวคิดธุรกิจที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยผู้เข้าร่วมโครงการที่เสนอแนวคิดและโมเดลธุรกิจพร้อมแผนการดำเนินงานที่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับโอกาสในการเป็นผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ (Startup Founder) ทำโครงการให้เกิดขึ้นได้จริง รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ทั้งในด้านเงินทุน ความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกิจ รวมทั้งได้รับคำแนะนำดี ๆ จากผู้มีประสบการณ์ในวงการธุรกิจและสตาร์ทอัพในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งนับเป็นโอกาสและประสบการณ์ที่หาได้ยาก โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ที่มุ่งส่งเสริมให้มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในองค์กร  เพื่อปูทางไปสู่การสร้างความเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในระยะยาว”

แม้ปีนี้กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จะริเริ่มโครงการ “Krungsri Unicorn Startup Studio” ขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ก็ได้รับความสนใจจากพนักงานร่วมส่งผลงานสมัครเข้าร่วมโครงการมากมาย ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะเข้ารอบต่าง ๆ รวม 3 ระดับ ได้แก่ ระดับโพนี (Pony) คือ ระดับเริ่มต้นที่ผู้ก่อตั้ง (Founder) ทำโครงการแบบไม่เต็มเวลา และเป็นขั้นตอนของการริเริ่มวางรูปแบบโมเดลธุรกิจ ระดับเซ็นทอร์ (Centaur) คือ ระดับกลางที่ผู้ก่อตั้งทำโครงการแบบเต็มเวลา และเริ่มทดลองนำโซลูชั่นหรือแผนธุรกิจที่คิดทดลองในตลาด และระดับยูนิคอร์น (Unicorn) คือ ระดับเจ้าของกิจการที่เข้ามาบริหารและดำเนินธุรกิจอย่างเต็มตัว ต่อยอดธุรกิจให้เกิดขึ้นได้จริง โดยปัจจุบัน โครงการกำลังดำเนินการอยู่ในช่วงโพนี และมีทีมที่ผ่านเข้ารอบรวม 7 ทีม ซึ่งนำเสนอโมเดลธุรกิจครอบคลุมภาคธุรกิจในด้านต่าง ๆ อาทิ เทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยว (TravelTech), เทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech), เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech), ไลฟ์สไตล์,  กีฬา เป็นต้น
 

ทีม  Marget หนึ่งในทีมที่ผ่านเข้ารอบโพนี ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 2 คน ได้แก่ ธณะเศรษฐ์ แสงดี และ จันทิมา ปานโชติ คู่หูจากสายงาน Operations ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ พูดถึงโครงการนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ยุค Covid-19 แบบนี้ จะหาองค์กรที่คิดจะทำโครงการสนับสนุนการทำสตาร์ทอัพภายในองค์กรแบบนี้ยากมาก เพราะปัจจัยจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อ ดังนั้น เมื่อบริษัทกล้าให้โอกาสสานฝันในการทำธุรกิจให้เป็นจริง และให้เติบโตไปพร้อมกับองค์กร และที่สำคัญยังพร้อมสนับสนุนทั้งในด้านเงินทุน  ความรู้ และคำแนะนำจากตัวจริงเสียงจริงในวงการธุรกิจและสตาร์ทอัพ เราสองคนจึงรีบสมัครเข้าร่วมทันทีที่ทราบข่าวโครงการเพื่อไม่อยากเสียโอกาสดี ๆ ในชีวิตไป และยิ่งพอผ่านเข้ารอบมาได้ก็รู้เลยว่าตัดสินใจไม่ผิดจริง ๆ เพราะทำให้เราเข้าใจมุมมองในการเป็นผู้ประกอบการและการทำธุรกิจของตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง รู้สึกคุ้มค่ามากที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้”
 
 
ตัวแทนหนุ่มน้อยหน้าใส 2 คนจากทีม KLA  ซึ่งเป็นตัวแทนจากสายงาน Innovation ได้แก่ ภาณุพงศ์ มาตังครัตน์ และ วรเมธ ตระกูลคูศรี มาร่วมบอกเล่าความประทับใจที่มีต่อโครงการนี้ว่า “โครงการ  “Krungsri Unicorn Startup Studio” เหมาะสำหรับคนที่มีความฝันและมีไอเดียที่ดีทางธุรกิจแต่ขาดแรงสนับสนุน หลังจากเข้าร่วมโครงการทำให้เราสามารถก้าวข้ามผ่านกรอบความคิดแบบเดิม ๆ ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เราไม่เคยเรียน รวมไปถึงได้รู้จักกับเพื่อนในโครงการที่มีความฝันคล้าย ๆ กับเรา พวกเราจึงอยากจะบอกทุกคนว่าถ้าหากเรามีความฝัน ขอให้มีความกล้าที่จะลงมือทำ ต้องขอบคุณโครงการนี้ที่เปิดโอกาสให้เราได้ทดลองทำความฝันให้เป็นจริงครับ”

 
ปิดท้ายการสัมภาษณ์กับสามหนุ่มสามมุมจากส่วนงานการตลาด ทีม SUPERSUB จากหน่วยธุรกิจบัตรเครดิตกรุงศรี ได้แก่ กิตติธัช สุขทอง, สิทธิโชค พรหมโสภา และ เรืองทัย จันสามารถ ที่เล่าถึงการเข้าร่วมโครงการว่า “หลังจากที่เข้าไปฟังตอนเปิดโครงการครั้งแรกแล้วเกิดไอเดียการทำธุรกิจจึงได้รวมตัวกันเป็นทีม ซึ่งทุกคนในทีมก็คิดว่าในเมื่อกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ให้โอกาสพนักงานเช่นนี้ ทีมเราจึงคิดว่าลองดูก็ไม่เสียหายเพราะมีแต่ได้กับได้ ไม่ว่าจะเป็น ได้ความรู้เกี่ยวกับการทำสตาร์ทอัพ ได้รับคำแนะนำดี ๆ จากกูรูในวงการสตาร์ทอัพและธุรกิจ และที่สำคัญได้ก้าวออกมาจากคอมฟอร์ทโซนของตัวเองด้วย เป็นการเอาชนะตัวเองที่ดีมาก นอกจากนั้น ความรู้และทักษะที่ทีมเราได้เรียนรู้ แม้ไม่ชนะการแข่งขันแต่ก็สามารถนำความรู้ไปต่อยอดและปรับใช้กับงานที่ทำในปัจจุบันได้ด้วย”
หลังจากผ่านเวิร์คช็อปสุดพิเศษเข้มข้นทุกสัปดาห์ โดยได้รับคำแนะนำและความคิดเห็นจากผู้บริหารและสตาร์ทอัพตัวจริงในวงการที่มีประสบการณ์ ผู้สมัครทั้ง 7 ทีมที่เข้ารอบสุดท้าย ได้นำเสนอแผนธุรกิจของแต่ละทีม เพื่อลุ้นโอกาสได้รับเลือกเป็นผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ (Startup Founder)  ในรอบ Demo Day ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อเฟ้นหาตัวจริงที่จะพลิกเกมธุรกิจ สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ต่อไป 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 พ.ย. 2563 เวลา : 00:11:04
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 4:45 am