คุณภาพชีวิต
NIDA Poll รับเงินรัฐ... สนับสนุนรัฐบาลหรือเปล่า


ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “รับเงินรัฐ สนับสนุนรัฐบาลหรือเปล่า?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,320 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับโครงการที่ให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ทางการเงิน จากรัฐบาลและการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับรัฐบาล การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97

จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงการเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.50 ระบุว่า ไม่เข้าร่วมโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน ขณะที่ ร้อยละ 12.50 ระบุว่า เข้าร่วมโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน
 
 
ส่วนการเข้าร่วมโครงการที่ได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากรัฐบาล ในช่วงปี 2563 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.26 ระบุว่า ไม่เคยเข้าร่วมโครงการใด ๆ รองลงมา ร้อยละ 32.58 ระบุว่า เข้าร่วมโครงการ คนละครึ่ง ร้อยละ 25.68 ระบุว่า เข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และร้อยละ 3.48 ระบุว่า เข้าร่วมโครงการ ช้อปดีมีคืน เพื่อลดหย่อนภาษี 
สำหรับการตัดสินใจของผู้ที่เข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับรัฐบาล หลังเข้าร่วมโครงการที่ได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากรัฐบาล พบว่า  ส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.76 ระบุว่า มีส่วนทำให้สนับสนุนรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 25.38 ระบุว่า สนับสนุนรัฐบาล แต่ไม่เกี่ยวกับโครงการที่ได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากรัฐบาล ร้อยละ 22.12 ระบุว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้ว ร้อยละ 12.34 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะตัดสินใจอย่างไร และร้อยละ 1.40 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 
ด้านความคิดเห็นต่อโครงการที่ให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากรัฐบาล พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.32 ระบุว่า ประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการนี้ รองลงมา ร้อยละ 35.45 ระบุว่า เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี ร้อยละ 17.80 ระบุว่า พ่อค้า นายทุนได้ประโยชน์จากโครงการนี้ ร้อยละ 13.86 ระบุว่า เป็นมาตรการเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่ม ร้อยละ 10.15 ระบุว่า เปลืองงบประมาณ ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ร้อยละ 8.03 ระบุว่า ระบบและกติกาการใช้จ่ายยุ่งยากซับซ้อนเกินไป ร้อยละ 4.02 ระบุว่า ระบบและกติกาการใช้จ่ายทำให้สามารถควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ร้อยละ 3.26 ระบุว่า สร้างความเท่าเทียมกัน ร้อยละ 2.95 ระบุว่า เป็นโครงการประชานิยม ร้อยละ 1.52 ระบุว่า ระบบของร้านค้า/ห้าง ยังไม่มีประสิทธิภาพทำให้เกิดปัญหาการใช้เงินจากโครงการ และร้อยละ 1.59 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 
เมื่อถามถึงการรับเงินช่วยเหลือ/เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จากรัฐบาล พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.35 ระบุว่า เคยรับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน รองลงมา ร้อยละ 29.92 ระบุว่า ไม่เคยได้รับเงินช่วยเหลือ/เยียวยาใด ๆ ร้อยละ 20.53 ระบุว่า เคยรับเงินรับเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท สำหรับกลุ่มเกษตรกร ร้อยละ 6.44 ระบุว่า เคยรับเงินเยียวยาสำหรับกลุ่มคนที่มีความเปราะบางทางสังคม เช่น เด็กแรกเกิด ผู้พิการ และคนชรา และร้อยละ 5.76 ระบุว่า เคยรับเงินเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม
 
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการตัดสินใจของผู้ที่เคยรับเงินช่วยเหลือ/เยียวยาเกี่ยวกับรัฐบาล หลังรับเงินช่วยเหลือ/เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จากรัฐบาล พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.03 ระบุว่า มีส่วนทำให้สนับสนุนรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 25.73 ระบุว่า สนับสนุนรัฐบาล แต่ไม่เกี่ยวกับเงินช่วยเหลือ/เยียวยา ของรัฐ ร้อยละ 24.76 ระบุว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้ว ร้อยละ 12.54 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะตัดสินใจอย่างไร และร้อยละ 1.94 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ   
 
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.71 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.91 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.26 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.41 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.71 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.94 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.06 เป็นเพศหญิง 

ตัวอย่างร้อยละ 5.15 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 15.00 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 20.61 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.54 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 24.70 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 94.47 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.64 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.60 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 1.29 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 17.95 สถานภาพโสด ร้อยละ 75.83 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.55 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.67 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส 
 
ตัวอย่างร้อยละ 37.96 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 27.12 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.42 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 21.97 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 3.41 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.12 ไม่ระบุการศึกษา 
 
ตัวอย่างร้อยละ 7.58 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.19 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.59ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 26.74 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.61 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 13.56 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.21 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.52 ไม่ระบุอาชีพ 
 
ตัวอย่างร้อยละ 13.79 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 36.06 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 24.32 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 8.18 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 4.09 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 –  40,000 บาท ร้อยละ 4.47 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.09 ไม่ระบุรายได้
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 พ.ย. 2563 เวลา : 10:41:27
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 12:44 am