การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
ศธ.ชูจุฬาภรณราชวิทยาลัยต้นแบบมัธยมดี 4 มุมเมือง ย้ำปัญหาหลักที่ร้องเรียน ''หลักสูตร-พัฒนาการศึกษาไทย''


ศธ. ต่อยอดการพัฒนาโรงเรียน วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย "สัมฤทธิผล ก้าวไกล ในระดับนานาชาติ"  เตรียมใช้เป็นต้นแบบ พัฒนาโรงเรียนมัธยมดี 4 มุมเมืองและโรงเรียนประจำทั่วประเทศ  เพราะโดดเด่นด้าน “วิชาการ-ระเบียบวินัย-การบริหารจัดการ”  ครูตั้นย้ำ  กรณีนักเรียนเรียกร้อง-กังวล และเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญสุด คือ หลักสูตร การพัฒนาระบบการศึกษาไทย ระบุส่วนภัยคุกคามนักเรียน ทำอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งวันแรก และปลดครูทำผิดหลายราย 


เมื่อวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน? 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน "10 ปี การพัฒนาต่อยอดโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยตามอุดมการณ์” โดยมี คุณหญิงกัลยาโสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, H.E. Mr. NASHIDA Kazuya เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, H.E. Mr. Taha Macpherson เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย, นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ ห้อง Jupiter โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถนนวิภาวดี กรุงเทพมหานคร
 

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ สร้างเยาวชนที่มีคุณภาพให้ประเทศ ทั้งในเรื่องของความสำเร็จในการประเมินคุณภาพการศึกษานานาชาติ PISA, การเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ, ผลงานโครงการของนักเรียนที่จดอนุสิทธิบัตร เป็นต้น จึงเป็นโอกาสดีที่จะต่อยอดการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม จึงขอให้สานต่อการดำเนินงานและยกระดับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทั่วประเทศ ให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน รวมถึงเตรียมแนวทางการพัฒนาเด็กนักเรียนที่มีความเป็นเลิศ เพื่อให้เด็กเหล่านี้เข้ามีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในอนาคต

"โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ และแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า สามารถเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่น ๆ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการได้ หากเราสามารถนำต้นแบบนี้ไปพัฒนาสถานศึกษาอื่น ๆ ทั่วประเทศ หรือสนับสนุนให้สถานศึกษาที่มีความเป็นเลิศ ดูแลและให้ความช่วยเหลือ 
 

รวมทั้งแบ่งปันทรัพยากรด้านการศึกษา ตลอดจนสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนต่าง ๆ ร่วมกันกับโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง ก็จะส่งผลให้โรงเรียนในพื้นที่นั้น มีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ ขอขอบคุณหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาการศึกษา สร้างเยาวชนที่มีความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศ" รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนประจำที่ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครู สนับสนุนให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดเวลา ทั้งทักษะด้านวิชาการ ดนตรี และกีฬา ส่งผลให้เด็กมีความสามารถรอบด้าน และมีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันด้านต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นการกระตุ้นและทำให้เด็กเกิดความตื่นตัวในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ นอกจากนี้ นักเรียนได้นำปัญหาของท้องถิ่นมาทำการวิจัย และช่วยแก้ปัญหาให้กับคนในพื้นที่ จึงเป็นการต่อยอดการพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในทุกด้าน

"เด็กไทยมีความรู้ความสามารถ รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ?ให้การสนับสนุนการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย ให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการศึกษาที่มีคุณภาพในระดับสากล โดยกระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางที่จะขยายผลความร่วมมือระหว่างโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณรา?วิทยาลัย ผ่านโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เพื่อสร้างพื้นฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ" รมช.ศึกษาธิการ กล่าว 
 
 

นอกจากนี้ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ยังเป็นต้นแบบด้านพื้นฐานบริหารจัดการเกี่ยวกับโรงเรียนประจำในบริบทอื่นๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เท่านั้น รวมถึงการเป็นต้นแบบของการสร้างระเบียบวินัย 

“งานในวันนี้ คือความสำเร็จด้านการศึกษาซึ่งใช้เวลา โดยเฉพาะในการศึกษาที่มีความเข้มข้นในเรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ซึ่งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนที่ได้รับการวางแผนมาและต่อยอดมาถึงรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาการศึกษาเข้มข้นที่โดเด่นด้านวิทยาศาสตร์”

นอกจากนี้  การต่อยอดให้มีโรงเรียนแบบจุฬาภรณราชวิทยาลัย ถือว่ามีความจำเป็น  เพราะสิ่งที่พบเห็นว่า การมีโรงเรียนในรูปแบบดังกล่าว  ในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง มีนักเรียนเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากมาจากในจังหวัดนั้นๆ  ทำให้เห็นว่าการเดินทางเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง แม้จะเป็นโรงเรียนประจำก็ตาม 

ดังนั้นทางรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ สามารถที่จะจัดสรรงบประมาณได้ เราก็จะขยายผลจากตรงนี้ เพราะเราเห็นต้นแบบโรงเรียนนี้มาแล้ว 10 ปี และเราสามารถเห็นจุดอ่อนจุดแข็ง ในการที่เราจะสร้างโรงเรียนต้นแบบทั้งด้านวิชาการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ต้นแบบการสร้างระเบียบวินัย ในโรงเรียนที่อาจจะเป็นโรงเรียนหลักในอนาคต  เช่น โรงเรียนมัธยมดี 4 มุมเมือง และการจัดระเบียบต่างๆ 
 

“เป็นแนวทางที่เราสามารถ นำไปใช้ได้ เห็นงบประมาณที่ชัดเจน และการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เช่นห้องเรียนต่างๆ ที่เราเห็นในโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้ว  เราสามารถนำมาขยายผลให้เป็นห้องเรียนสำหรับโรงเรียนมัธยมดี 4 มุมเมืองที่มีคุณภาพได้  จริงๆ แล้วทั่วประเทศการจัดสรรงบประมาณถือเป็นเรื่องสำคัญ” นายณัฏฐพล กล่าว

นอกจากนี้ ในมุมมองของตน  เรายังสามารถพัฒนาได้อีกในทุกๆ ด้าน เราต้องไม่หยุดในการพัฒนาศักยภาพการศึกษา หากอะไรที่เราคิดว่าเรามีความพร้อมแล้วสำหรับประเทศ เราต้องไปเปรียบเทียบความพร้อมกับโรงเรียนประเทศอื่นๆ และโรงเรียนนานาชาติ ว่า เรายังมีความแตกต่างกับเขาอีกหรือไม่ เพื่อนำความแตกต่างเหล่านี้ นำมาผสมผสาน ซึ่งเราสามารถนำมาพัฒนาได้ อันไหนที่เราคิดว่าดีแล้วเราก็ต้องทำต่อไป ส่วนอันไหนยังไม่ดีพอก็ต้องพัฒนา

ปัจจุบัน โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตั้งอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ตามภูมิภาคของประเทศไทย จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล

นอกจากนี้ นายณัฏฐพล ยังกล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องทรงผมของนักเรียนด้วยว่า  ผมได้ให้แก้ไขปัญหาทันทีในเรื่องดังกล่าวไปแล้ว ตั้งแต่วันที่น้องๆ มาเรียกร้อง โดยตนเองได้สั่งยกเลิกข้อ 7 ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจโรงเรียนในการตัดสินใจว่าควรทำอย่างไรกับทรงผม ตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ  หลังจากนั้น ก็ได้ทำการจัดตั้งคณะทำงานขึ้น 

“เมื่อมีข้อเสนอมาที่ผมและทีมงาน ที่ผ่านมาผมก็นำข้อเสนอเหล่านั้น มาดูกับฝ่ายปฏิบัติ มาดูเรื่องของทางโรงเรียน และทางคุณครู ว่าจะสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่  มีปัญหาอะไรบ้าง หรือมีข้อกังวลอะไรหรือไม่”

นายณัฏฐพล  กล่าวต่อว่า เพราะฉนั้น ในขบวนการแก้ไขเรื่องทรงผม และชุดนักเรียน ตนเองและกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่การสื่อสารถ้าหากยังไม่มีการทำความเข้าใจกันได้ดี  ก็น่าจะทำความเข้าใจหัน ตนและกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้ละเลย และในเรื่องปัญหาทุกๆ เรื่อง เราได้มีการหยิบยกขึ้นมาหารือกัน

นอกจากนี้กลุ่มที่มีความกังวลเกี่ยวกับการศึกษา เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับข้อเรียกร้องทั้งหมดของนักเรียน นายณัฏฐพล ย้ำว่า คือความกังวล เรื่องหลักสูตรการศึกษา การพัฒนาการศึกษา และอนาคตการศึกษาไทย 

“ผมอยากให้ทั้งนักเรียน และผู้เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญในเรื่องของการศึกษา ว่า การจะพัฒนาการศึกษาให้ได้ดี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทรงผม หรือเรื่องชุดนักเรียน เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น  แต่เรื่องหลักๆ จะเป็นเรื่องหลักสูตร และการพัฒนาการศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องอย่างเข้มข้น และเราก็จะทำกันต่อไป “

นายณัฏฐพล ย้ำต่อว่า ที่ผ่านมาเราเห็นปัญหากันอยู่ และวันนี้เราก็ได้เห็น โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนา แม้เราเห็นตัวอย่างที่ดี แต่เราก็จะไม่หยุดเพียงแค่ตรงนี้ 

“ผมอยากให้สื่อมวลชน นำข้อมูลเหล่านี้ไปเผยแพร่ว่า ผมและกระทรวงศึกษาธิการไม่ละเลยในทุกๆ เรื่อง ที่ยกประเด็นมาเป็นปัญหาของการศึกษาไทย เพียงแต่เราต้องมาดูว่า เรื่องไหนเป็นเรื่องหลัก และเรื่องไหนเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจังและเข้มข้น “นายณัฏฐพล กล่าว

ส่วนเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนนั้น นายณัฏฐพล ระบุว่า ตนได้เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่อง และตั้งแต่วันแรกที่ตนเองเข้ามารับตำแหน่ง ตนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นหลัก และมีขบวนการในการป้องกันการคุกคามทางเพศอย่างต่อเนื่องและชัดเจน  และได้มีการปลดครูที่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ด้วย

นายณัฏฐพล บอกต่อว่า หากมีเรื่องร้องเรียนและประเด็นต่างๆ ก็สามารถสื่อสารเข้ามาได้ เพราะเรามีหลายช่องทาง ทั้งที่เป็นช่องทางผู้ที่โดนกระทำเราสามารถปกปิดข้อมูลได้โดยไม่มีใครทราบใน www.nataphon.com ของผมเอง ซึ่งมีหลายคนที่ส่งข้อมูลเข้ามา และผมก็ได้ดำเนินการทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องคุกคามทางเพศ

“ผมไม่ปล่อยให้มีเรื่องคุกคามทางเพศไว้ในสถานศึกษาแน่นอน  แต่ข้อมูลต้องมี ซึ่งผมไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ที่เราปลดครูที่กระทำผิด หรือถูกกล่าวหา เราได้ดำเนินการหลังทำการสอบสวนแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของกระทรวงศึกษาธิการ ในการแก้ไขปัญหา และผมไม่ต้องการให้นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมือง ว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่ให้ความสนใจในเรื่องนี้ ซึ่งไม่จริงเลย เราสนใจและให้ความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมาด้วยซ้ำ”

นอกจากนี้กรณีแฮชแท็คเรื่องผมนั้น นายณัฏฐพล บอกว่า ผู้ที่ออกมาให้ข้อมูลพยายามที่จะอธิบายโดยการยกตัวอย่าง เพื่อพยายามให้การสื่อสารเข้าใจง่าย ทำให้การสื่อสารเป็นประเด็นในเรื่องต่างๆ ก็รับฟังเหตุผลว่า สื่อสารอย่างนั้นเพราะอะไร  จริงแล้วไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเรื่องไม่ได้สำคัญ เป็นเรื่องตลก  เป็นเรื่องการยกตัวอย่างให้เห็นง่ายเข้าใจง่าย เท่านั้นเอง

LastUpdate 25/11/2563 18:34:58 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:20 pm