การตลาด
สกู๊ป โรงพยาบาลเอกชน ''แข่งดุ'' งัดบริการใหม่ ''กู้วิกฤต'' เพิ่มรายได้สู้โควิด-19


การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้รับผลกระทบไปพอสมควร  เห็นได้จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ออกมาคาดการณ์ว่า รายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน (ในตลาดหลักทรัพย์ฯ) ปี 2564 น่าจะกลับมาขยายตัวได้ประมาณ 1-4%  เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่หดตัวไป 14.1%  ขณะที่กำไรสุทธิคาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ประมาณ 15-20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  

แต่การฟื้นตัวดังกล่าวยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2562  เนื่องจากยังมีปัจจัยด้านโควิด-19 กดดันการทำรายได้และกำไรของโรงพยาบาลเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติในสัดส่วนที่สูง 
 
อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ชาวไทย กลุ่มประกันสังคมและข้าราชการ ยังพอไปได้หรือได้รับผลกระทบน้อยกว่าโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นจาะกลุ่มเป้าหมายคนไข้ต่างชาติ  ซึ่งปัจจัยที่เกิดขึ้นดังกล่าว  ทำให้การแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเริ่มมีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีผู้ประกอบการอยู่ในตลาดจำนวนมาก ขณะที่คนไข้ที่มีศักยภาพกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะคนไข้กลุ่ม Medical Tourism ที่น่าจะยังไม่กลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์โดยการแย่งชิงตลาดคนไข้ในประเทศ ที่ได้รับแรงกดดันจากกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเช่นกัน
 
จากการแข่งขันที่รุนแรงดังกล่าว ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ต้องรักษาฐานลูกค้าเดิม ควบคู่ไปกับการมองหาตลาดลูกค้าใหม่ๆ มาทดแทน เช่น กลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพเอกชน โดยในระยะสั้น ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในแต่ละ Segment อาจจะต้องมีการปรับตัว  เพื่อประคองการเติบโตของธุรกิจ ด้วยการควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้คนไข้เข้าถึงได้ 
 
 
ขณะเดียวกัน ก็ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับคนไข้ต่างชาติที่เริ่มทยอยเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในไทย (กลุ่ม Special Tourism Visa: STV และกลุ่มอื่นๆ ที่รัฐอาจจะพิจารณาเพิ่ม) ขณะที่ระยะกลางถึงยาว ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนควรนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการต้นทุนและอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้  เพื่อนำมาซึ่งรายได้ใหม่ๆ และกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ซึ่งธุรกิจในกลุ่ม Non-hospital เป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น เช่น ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น
 
ทั้งหมดนี้ถือเป็นกลยุทธ์หลักในการแก้เกมธุรกิจในปี 2563 ที่ผ่านมา  ซึ่งธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนถือเป็นหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19  เห็นได้จากรายได้และกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของโรงพยาบาลเอกชน (ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ) หดตัวอยู่ที่  -14.2%  และ -54.8%  ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2562   
 
โดยโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้กลุ่ม Medical Tourism ในสัดส่วนที่สูง น่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก จากจำนวน Medical Tourism ที่คาดว่าจะหายไปไม่ต่ำกว่า 85% ของจำนวน Medical Tourism ทั้งหมด  ขณะเดียวกัน กำลังซื้อคนในประเทศก็ยังไม่ฟื้นตัว  และการแข่งขันของตลาดในประเทศที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มคนไข้เงินสดเป็นหลักได้รับผลกระทบเช่นกัน 
 
 
นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการ บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) กล่าวว่า  แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้น  แต่โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลหลักของ THG  ซึ่งมีความสามารถในการรักษาโรคทั่วไป โรคที่มีความซับซ้อนและโรคเฉพาะทางยังคงมีปริมาณคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการในทิศทางที่ดีใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งกลุ่มคนไข้ในประเทศ และกลุ่มคนไข้ต่างชาติที่เดินทางเข้ามารักษาตัวในประเทศไทย  โดยผ่านการคัดกรองและกักตัวใน Alternative Hospital Quarantine ตามกระบวนการอย่างถูกต้อง ส่งผลให้อัตราส่วนคนไข้ในที่เข้าใช้บริการเกือบเต็มจำนวนเตียงที่มีทั้งหมด
 
เดิมที่โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง มีคนไข้จากตะวันออกกลางมาใช้บริการจำนวนมาก แต่หลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19  ทำให้จำนวนผู้ป่วยกลุ่มนี้ลดลง  ส่งผลให้รายได้ลดลงไปกว่าครึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันได้มีคนไข้จากชาติอื่นๆ เข้ามาทดแทนบางส่วน เช่น คนไข้จากประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง หรือ CLMV ซึ่งประกอบด้วย  กัมพูชา ลาว เมียนมา  และเวียดนาม เดินทางเข้ามารักษาโรคทั่วไปและโรคที่มีความซับซ้อนจำเป็นต้องดูแลใกล้ชิด เช่น โรคมะเร็ง ต้องพักรักษาตัวระยะยาว หรือคนไข้ชาวจีนที่เข้ามาใช้บริการศูนย์ IVF เพื่อแก้ไขปัญหามีบุตรยาก เป็นต้น  
 
นอกจากนี้  ในส่วนของคนไข้ในประเทศก็มีเข้ามาใช้บริการในศูนย์การรักษาโรคเฉพาะทางเพิ่มขี้น ทั้งผู้เข้าใช้บริการที่ศูนย์ทันตกรรมดิจิทัล เพื่อทำรากฟันเทียม ทำครอบฟัน และวีเนียร์ เป็นต้น  ทำให้ปัจจุบันมีรายได้เพิ่มขึ้น  แม้ว่าจะมีการระบาดของโรคโควิด-19  เนื่องจากคนไข้มีความมั่นใจในความสะอาด และมีอุปกรณ์ทันสมัยได้มาตรฐาน  
 
 
แนวโน้มที่ดีดังกล่าว  ทำให้โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง  มีการปรับกลยุทธ์เพิ่มเติมในด้านของการสื่อสาร  เพื่อสร้าง Brand Awareness กับประชาชนในพื้นที่และผู้พักอาศัยในพื้นที่ละแวกโรงพยาบาล โดยสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์และออฟไลน์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้โรงพยาบาลเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ด้วยการนำเสนอความพร้อมในการรักษา เพื่อให้เป็นที่ไว้วางใจแก่ผู้ใช้บริการในพื้นที่ ต่อยอดไปสู่การขยายฐานผู้ใช้บริการในประเทศสำหรับศูนย์การรักษาเฉพาะทางต่างๆ เช่น ศูนย์ทันตกรรมดิจิทัล Jin Wellness Clinic ศูนย์หัวใจ และศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ เป็นต้น 
 ด้านโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  ก็มีการปรับกยุทธ์ในการทำตลาดเช่นกัน  โดยล่าสุดได้มีการเปิดตัวโปรแกรม
Bumrungrat @Home Service Center เพื่อรองรับจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ด้วยการเสริมบริการ Allergy free at Home ดูแลผู้ป่วยถึงที่บ้าน ทั้งการเจาะเลือด ฉีดวัคซีน รับคำปรึกษาจากแพทย์โดยตรงผ่านทางออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์คนไข้หรือลูกค้าที่ไม่สะดวกจะเข้ามารับบริการในโรงพยาบาล  โดยบริการดังกล่าวจะยิงยาวไปถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564
 
ขณะที่โรงพยาบาลกรุงเทพ  ก็มีการนำบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 (RT-PCR) ด้วยวิธีการป้ายจมูกและคอ กลับมาอีกครั้ง เน้นให้บริการแบบทราบผลภายใน 24 ชม.  พร้อมกับมอบโปรโมชั่นส่วนลด 50% ค่าห้องพักผู้ป่วยใน หออภิบาลผู้ป่วยกึ่งวิกฤต หออภิบาลผู้ป่วยวิกฤต ผ่านแคมเปญ “ไทยช่วยไทย ราคาประหยัด”
 

LastUpdate 16/01/2564 11:28:16 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:25 am