แบงก์-นอนแบงก์
ธนาคารกรุงเทพ ขานรับธปท. ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย ขยายเวลาแพ็กเกจเดิมถึง 30 มิ.ย. 64


ธนาคารกรุงเทพ ขานรับนโยบาย ธปท. ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ โดยขยายระยะเวลาขอรับความช่วยเหลือไปอีก 6 เดือน ถึง 30 มิถุนายน 2564 ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สินเชื่อทุกประเภท ผ่านหลากหลายมาตรการ ทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขยายวงเงิน พักชำระหนี้ จนถึงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างดีที่สุด ย้ำจุดยืน ‘เพื่อนคู่คิด’ เคียงข้างลูกค้าใกล้ชิด ดูแลทุกมิติ หนุนลูกค้าปรับตัวร่วมกัน จนลุกขึ้นยืนอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง


นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศขยายระยะเวลามาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ซึ่งขยายขอบเขตการแพร่ระบาดออกไปเป็นวงกว้างหลายพื้นที่ ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ธนาคารกรุงเทพเข้าใจถึงสถานการณ์ที่ทุกคนกำลังเผชิญในขณะนี้ จึงได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ด้วยการขยายระยะเวลาขอรับความช่วยเหลือต่อไปอีก 6 เดือน จนถึง 30 มิถุนายน 2564 จากเดิมสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2563
 

ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย จะครอบคลุมลูกค้าบัตรเครดิต ลูกค้าสินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับ ลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน เพื่อช่วยลูกค้าลดความวิตกและกังวลใจจากผลกระทบดังกล่าว โดยมีรายละเอียดของมาตรการเพื่อให้ลูกค้าแจ้งขอรับความช่วยเหลือได้ดังนี้
 

สินเชื่อบัตรเครดิต
 
- เปลี่ยนประเภทเป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลา (Term Loan) 48 งวด หรือขยายระยะเวลาตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 12% ต่อปี

นอกเหนือจากมาตรการข้างต้น ธนาคารได้มีการปรับลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำให้กับลูกค้าทุกรายโดยอัตโนมัติตั้งแต่ เม.ย. 63 จนถึงปี 2565 และปรับลดเพดานดอกเบี้ยตั้งแต่ ส.ค. 2563 รวมถึงการพิจารณาขยายวงเงินให้แก่ลูกค้าที่มีความจำเป็นเป็นการชั่วคราว
 

2.สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ
 
ประเภทสินเชื่อที่มีลักษณะหมุนเวียน (Revolving Loan)

- ลดอัตราผ่อนขั้นต่ำ ตามความสามารถในการชำระหนี้
- เปลี่ยนเป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลา (Term Loan) 48 งวด หรือขยายระยะเวลาตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% ต่อปี
 
ประเภทสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด (Installment Loan)

- ลดค่างวดอย่างน้อย 30% โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% ต่อปี
 
3.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน
 
-เลื่อนชำระค่างวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือ
- เลื่อนชำระเงินต้น (จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย) เป็นระยะเวลา 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าแต่ละรายตามความเหมาะสม หรือ 
- ลดค่างวดโดยขยายเวลาการชำระหนี้
 

รวมถึง ลูกค้าสามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการรวมหนี้ (Debt Consolidation) โดยนำสินเชื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ซึ่งอยู่กับธนาคารกรุงเทพ มารวมเป็นสินเชื่อเดียวกันเพื่อลดภาระทางการเงิน

ธนาคารจะเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้า โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้   สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารจะพิจารณาปรับและผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้เพิ่มเติมเป็นรายกรณี เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและบรรเทาความเดือดร้อนเป็นการเร่งด่วน

นอกจากการให้ความช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยข้างต้นแล้ว ธนาคารยังคงช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในเชิงรุกอย่างทันเหตุการณ์ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและเสริมสภาพคล่อง เช่น การให้ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan ธปท.) อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยแทนลูกค้า 6 เดือนแรก
 

“ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ “เพื่อนคู่คิด” เข้าใจถึงผลกระทบจากสถานการณ์ในขณะนี้ และพร้อมอยู่เคียงข้างลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมเผชิญและก้าวผ่านทุกวิกฤติไปด้วยกัน ซึ่งธนาคารได้พยายามช่วยเหลือและสนับสนุนลูกค้าในทุกมิติ ขณะเดียวกัน ธนาคารยังพยายามสนับสนุนให้ลูกค้าปรับตัวด้วยการหาตลาดใหม่และช่องทางการขายเพิ่มเติม ตลอดจนการอบรมสัมมนาความรู้ใหม่ให้แก่ลูกค้า เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถเริ่มฟื้นตัวเองและกิจการกลับมาได้อย่างต่อเนื่อง จนถึงการปรับตัวหรือขยายธุรกิจเข้าสู่ความท้าทายใหม่ที่สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกในอนาคต (Future World) ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ลูกค้ากลับมาลุกขึ้นยืนใหม่ได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง โดยมีธนาคารกรุงเทพ เป็น “เพื่อนคู่คิด” ที่พร้อมเคียงข้างไปตลอด” นายสุวรรณ กล่าว
 
ทั้งนี้ ลูกค้าทุกท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสื่อประชาสัมพันธ์ของธนาคารกรุงเทพทุกช่องทาง ได้แก่ www.bangkokbank.com, Bangkok Bank Line Official หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ บัวหลวงโฟน โทร.1333 หรือ 0 2645 5555

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ม.ค. 2564 เวลา : 17:46:45
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 3:55 pm