หุ้นทอง
SCBS CIO วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุน : จับตาถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯต่อสภาคองเกรส และความคืบหน้าในการออกมาตรการเยียวยารอบใหม่ของสหรัฐฯ


ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15-19 ก.พ.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบ โดยในช่วงแรก ดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน และความคาดหวังการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯรอบใหม่วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯลดช่วงบวกลง และปิดลบ จากความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯยุติการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย นอกจากนี้ ดัชนีฯยังได้รับปัจจัยกดดันจากการที่สภาคองเกรสไต่สวนกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์หุ้น GameStop ซึ่งสร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯก่อนหน้านี้ ในขณะที่ ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวก ขานรับการที่คณะกรรมาธิการยุโรปสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 ของ Moderna เพิ่มอีก 150 ล้านโดส ประกอบกับ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ในเดือน ก.พ.ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดบวกเช่นกัน ขานรับตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 4/2020 ขยายตัว 12.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี และดีกว่าตลาดคาดที่ 9.5% ประกอบกับได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ของ Pfizer อย่างเป็นทางการ สำหรับตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับลดลง จากการความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางจีนอาจใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว หลังธนาคารกลางจีนได้ถอนสภาพคล่องออกจากระบบ 260 พันล้านหยวน ขณะที่ ตลาดหุ้นไทย ปิดลบ จากแรงขายหุ้น DELTA และ OR เนื่องจากปัจจัยลบเฉพาะตัว เช่น ตลาดหลักทรัพย์ได้ประกาศใช้เกณฑ์ Cash balance ระดับ 2 กับหุ้น DELTA และการที่ผู้จัดทำดัชนี FTSE ยังไม่ปรับหุ้น OR เข้าคำนวณในดัชนีตามเกณฑ์ Fast track ด้าน ราคาน้ำมันดิบปิดลบ จากรายงานที่ว่า อิรักได้ส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของเดือน ก.พ. และแนวโน้มที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่านจะดีขึ้น แม้ว่า สภาพอากาศที่หนาวเย็นจัดจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ ก็ตาม ขณะที่ ราคาทองคำ ปิดลบเช่นกัน โดยได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ดอลลาร์ สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้น และ อายุ 10 ปีที่เพิ่มขึ้นอยู่ระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563

 
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
 
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน โดยได้รับ Sentiment ในเชิงบวก จากความคาดหวังการออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ ตามที่นางเพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯกล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะพยายามผลักดันมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจรอบใหม่วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ให้ผ่านการอนุมัติภายในเดือนนี้ ขณะที่ นางเยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ย้ำว่า การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ จะช่วยให้การจ้างงานเข้ากลับสู่ภาวะเต็มศักยภาพภายในเวลา 1 ปี ประกอบกับได้แรงหนุนจากแนวโน้มการแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งล่าสุดทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วรวม 205 ล้านโดส

อย่างไรก็ตาม ความกังวลจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงที่ทางการสหรัฐฯอาจออกกฎระเบียบเพิ่มเติมในตลาดการเงินสหรัฐฯ หลังสภาคองเกรสได้ไต่สวนกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในปรากฏการณ์ GameStop ความเสี่ยงจากแรงขายทำกำไรระยะสั้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี จากประเด็น Valuation ที่ค่อนข้างตึงตัว แนวโน้มการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดขี้น และความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้ง ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ยังมีอยู่ ประกอบกับ นักลงทุนรอติดตามถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อสภาคองเกรส โดยประเด็นข้างต้นเหล่านี้ จะสร้างความผันผวน และกดดันตลาดหุ้นโดยรวมให้เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

·การออกมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมของสหรัฐฯ โดยล่าสุด วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต ได้เปิดเผยรายละเอียดของร่างกฏหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาอยู่ที่ 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง เงินเยียวยาชาวอเมริกันที่มีรายได้ต่ำกว่า 7.5 หมื่นดอลลาร์ สหรัฐฯ คนละ 1,400 ดอลลาร์ สหรัฐฯ การขยายสวัสดิการผู้ว่างงาน และเงินช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด

·ติดตามการระบาดของโควิด-19 และการใช้มาตรการ lockdown โดยมีผลสำรวจที่บ่งชี้ว่า บรรดาบริษัทของอังกฤษเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวในปีนี้ เนื่องจากคาดหวังว่า การฉีดวีดซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนจำนวนมาก จะทำให้รัฐบาลสามารถผ่อนคลายมาตรการ lockdown ได้เร็วขึ้น

·ประเด็นเรื่องการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19 โดยสื่อญี่ปุ่นรายงานว่า บริษัท AstraZeneca ของอังกฤษวางแผนที่จะผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ในญี่ปุ่น และจะเริ่มจัดจำหน่ายภายในประเทศทันทีที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลญี่ปุ่น ด้านวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Sinovac จะถึงไทยล็อตแรกจำนวน 2 แสนโดส ในวันที่ 24 ก.พ. โดยจะเริ่มฉีดเร็วอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 27 หรือ 28 ก.พ.นี้

·ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยรัสเซียเตรียมตัดความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (EU) หลัง EU อาจเพิ่มบุคคลสัญชาติรัสเซียเข้าสู่บัญชีดำ โดยเน้นผู้ที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีรัสเซีย และมีแนวโน้มประกาศคว่ำบาตรต่อรัสเซีย

·ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯและจีน หลังรัฐบาลจีนกำลังพิจารณาระงับการส่งออกแร่หายากให้กับประเทศหรือบริษัทต่างๆที่จีนมองว่า อาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของจีน โดยการระงับข้างต้นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผู้รับเหมาของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้านรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯกล่าวว่า สหรัฐฯจะยังแข็งข้อกับจีนต่อไป และจะยังคงการใช้กำแพงภาษี

·ติดตามถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อสภาคองเกรส ในวันที่ 23-24 ก.พ.นี้ โดยก่อนหน้านี้ รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 26-27 ม.ค.บ่งชี้ว่า ที่ประชุมฯ ยังย้ำการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย โดยส่งสัญญาณคงขนาดการซื้อสินทรัพย์ไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯยังไม่เข้าใกล้เป้าหมายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ

·การรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 4/2020 เช่น Home Depot, HSBC, Lloyds, Nvidia Corp, Salesforce, Moderna, Bayer, Berkshire

·ตัวเลขเศรษฐกิจ

สหรัฐฯ   รายได้ส่วนบุคคล ยอดใช้จ่ายส่วนบุคคล ยอดขายบ้านใหม่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคลขั้นพื้นฐาน และ GDP ในไตรมาสที่ 4/2020

ยุโรป ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และปริมาณเงินในระบบ

เยอรมนี GDP ในไตรมาสที่ 4/2020

ญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม

ไทย ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ม.ค. โดย ธปท.

วิเคราะห์โดย: นางสาวเกษรี อายุตตะกะ CFP®  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ SCBS-Chief Investment Office
                     นายจตุรภัทร ทนาบุตร   ผู้จัดการ SCBS-Chief Investment Office                             

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ก.พ. 2564 เวลา : 10:43:37
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 9:13 am