หุ้นทอง
SSF & RMF คู่หูกองทุนประหยัดภาษี


ช่วงสิ้นปีมักจะเป็นเวลาทองของการบริหารจัดการด้านภาษีในช่วงโค้งสุดท้าย ทำให้กองทุนที่ช่วยประหยัดภาษีได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ

ดังนั้น วันนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอพามาทำความรู้จัก 2 กองทุนรวมคู่แฝดอย่าง “SSF” และ “RMF” กัน เพราะการลงทุนในรูปแบบนี้ นอกจากจะช่วยสร้างนิสัยการออมการลงทุนระยะยาวแล้ว ยังช่วยคุณลดหย่อนภาษีเป็นของแถมอีกด้วย


กองทุนรวมเพื่อการออม SSF

SSF ย่อมาจากคำว่า “Super Savings Fund” เป็นกองทุนน้องใหม่ที่เพิ่งเริ่มใช้เมื่อต้นปี 2563 ซึ่งเน้นการออมระยะยาวและเป็นตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีที่มาแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF ที่หมดอายุไปเมื่อปี 2562

กองทุน SSF มีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ ดังนี้

1.ลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็ได้ ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนทองคำ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

2.ซื้อหน่วยลงทุนเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีแต่ไม่เกิน 200,000 บาทและเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท 

3.ถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ

4.ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อและไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี

5.นำค่าซื้อมาหักลดหย่อนภาษีได้ในปี 2563-2567


กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF

สำหรับกองทุน RMF หลายคนน่าจะคุ้นเคยดีอยู่แล้ว โดย RMF ย่อมาจากคำว่า “Retirement Mutual Fund” เป็นกองทุนที่ส่งเสริมการออมเงินไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุ ลักษณะจะคล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเอกชน และกองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ โดยเมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ก็มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อให้นักลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีมากขึ้น

ปัจจุบันกองทุน RMF มีหลักเกณฑ์ ดังนี้

1.ลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็ได้ ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนทองคำ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

2.ซื้อหน่วยลงทุนเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

3.ถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก และขายได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

4.ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ แต่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี (หรืออย่างน้อยซื้อปีเว้นปี)

5.ใช้สิทธิตามเกณฑ์ใหม่ได้ในปีที่ลงทุน เริ่มปี 2563 เป็นต้นไป


กองทุน SSF และ RMF นับเป็นอีกตัวช่วยสำหรับคนที่อยากลงทุนและได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีไปพร้อมๆ กัน ซึ่งมีให้เลือกมากมายหลายกอง ใครสนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่เป็นผู้ออกกองทุนนั้นๆ 

ที่สำคัญ อย่าลืมเลือกกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เรามีความรู้ความเข้าใจ เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และพิจารณาเลือกกองที่มีค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมด้วย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 มี.ค. 2564 เวลา : 11:02:10
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 12:49 am