เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.เปิดรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 2/2564


กรรมการที่เข้าร่วมประชุม

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน 
นายคณิศ แสงสุพรรณ นายรพี สุจริตกุล นายสมชัย จิตสุชน นายสุภัค ศิวะรักษ์ 
ภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดการเงิน
 
เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศที่อาจรุนแรงและยืดเยื้อ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้รับแรงสนับสนุนจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ออกมาเพิ่มเติม 
 
และการส่งออกที่ปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปยังมีความไม่แน่นอนจากการกลายพันธุ์ของไวรัสและประสิทธิผลของวัคซีนป้องกัน COVID-19
 
ตลาดการเงินโลกเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวปรับสูงขึ้นเร็วจากการคาดการณ์ของนักลงทุนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม จาก (1) อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้น (2) แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และ (3) อุปทานพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่แนวโน้มสูงขึ้นตามการก่อหนี้เพิ่มเติมของภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และหุ้นทั่วโลกปรับสูงขึ้นสวนทางกับราคาสินทรัพย์ปลอดภัย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของประเทศส่วนใหญ่รวมถึงของไทยปรับสูงขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว สำหรับค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. และดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate: NEER) อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน
 
มองไปข้างหน้า ความผันผวนในตลาดการเงินโลกจะยังอยู่ในระดับสูง ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ อาจปรับตัวอย่างรุนแรงหากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือการดำเนินนโยบายการเงินการคลังของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก อาทิ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการทยอยลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ไม่เป็นไปตามที่นักลงทุนคาดการณ์และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังตลาดการเงินไทย จึงต้องพิจารณาฉากทัศน์ของปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบในกรณีต่าง ๆ ต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

ภาวะเศรษฐกิจไทย
 
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องแม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่  แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจาก การระบาดระลอกใหม่ไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดครั้งก่อน เนื่องจากภาครัฐดำเนินมาตรการควบคุม การระบาดที่ไม่เข้มงวดเท่ากับปีที่ผ่านมาและเร่งออกมาตรการการคลังเพิ่มเติมได้เร็ว อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม โดยจะขยายตัวร้อยละ 3.0 และ 4.7 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ (1) ข้อสมมติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงตามการทยอยเปิดประเทศของไทยที่ล่าช้ากว่าคาด รวมถึงนโยบายจำกัดการเดินทางของนักท่องเที่ยวในต่างประเทศที่เข้มงวดโดยเฉพาะจีน และ (2) การใช้จ่ายภาครัฐในปี 2565 ที่ปรับลดลงมากขึ้นตามงบประมาณปี 2565 ที่ลดลงตามประมาณการรายได้รัฐบาล และการโอนเงินบางส่วนภายใต้ 
 
พ.ร.ก. กู้เงินฯ จากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อใช้ในแผนเยียวยาในปีนี้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ (1) การส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และ (2) แรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพิ่มเติมในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2564 คาดว่าจะเกินดุลเพียงเล็กน้อยโดยลดลงมากมาอยู่ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จาก (1) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่อยู่ในระดับต่ำ (2) ราคาสินค้านำเข้าที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (3) ดุลทองคำที่ไทยนำเข้าสุทธิสูง
 
ในช่วงทิศทางราคาทองคำขาลง และ (4) ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าในดุลบริการที่แพงขึ้นจากการขาดแคลนตู้
คอนเทนเนอร์ ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดจะปรับสูงขึ้นเป็น 25 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2565 ตามการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ
 
มองไปข้างหน้า ประมาณการเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากหลายปัจจัย ได้แก่ (1) การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่อาจล่าช้าจากข้อจำกัดในการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 อาทิ ความเพียงพอของวัคซีน ความกังวลของประชาชนในการฉีดวัคซีน และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส 
 
(2) แรงกระตุ้นจากภาครัฐอาจน้อยกว่าคาด หากมีความล่าช้าในการอนุมัติโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ 
ที่เหลือ ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดลงในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 (3) ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น โดยธุรกิจและแรงงานจะกลับมาฟื้นตัวช้าแม้การระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects) และ (4) การผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่อาจสูงขึ้นมากภายหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง
 
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 ปรับสูงขึ้นจากประมาณการเดิม และคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ 
 
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.2 ตามราคาน้ำมันดิบ
ที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ โดยจะขยายตัวสูงชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 จากผลของฐานต่ำในปีก่อน 
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงเดิม ทั้งนี้ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
 
ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ อภิปราย
 
คณะกรรมการฯ อภิปรายเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย มาตรการที่ควรดำเนินการในระยะต่อไป รวมทั้งแนวทางการผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงิน โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
• คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยที่ปรับสูงขึ้นเร็วตาม
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมานั้นส่งผลกระทบจำกัดต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากผู้ออกหุ้นกู้ภาคเอกชนส่วนใหญ่ระดมทุนในระยะสั้นและยังสามารถระดมทุนได้ปกติ อีกทั้ง corporate credit spread ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยเริ่มทรงตัวและเคลื่อนไหวตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ น้อยลง
 
ในระยะหลัง แต่คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินและนัยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอย่างใกล้ชิด
 
• คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและมีความแตกต่างกันมากขึ้นระหว่างภาคเศรษฐกิจ (uneven recovery) ภาครัฐจึงควรออกแบบมาตรการให้ตรงจุดและเพียงพอ รวมทั้งเร่งดำเนินมาตรการเพื่อช่วยลด scarring effects ในระบบเศรษฐกิจ โดยควรเร่งแก้ปัญหาเรื่องฐานะทางการเงินของภาคเอกชนที่มีความเปราะบางมากขึ้น ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังอ่อนแออยู่ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป มาตรการการคลัง จึงควรเร่งเบิกจ่ายมาตรการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อรักษาความ ต่อเนื่องของแรงกระตุ้นภาครัฐ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับภาคครัวเรือน มาตรการทางการเงินและสินเชื่อ ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ทั้งของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ รวมถึงเร่งกระจายสภาพคล่องให้ตรงจุดเพื่อช่วยลดภาระหนี้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการเร่งดำเนินมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (asset warehousing) ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือที่ (1) สร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินส่งผ่านสภาพคล่องไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ตรงจุด และสอดคล้องกับปัญหาและศักยภาพของธุรกิจ (2) ลดภาระการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยชั่วคราวให้ธุรกิจที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัว โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ในกรณีเลวร้ายที่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาด คณะกรรมการฯ เห็นว่าภาครัฐควรเตรียมพร้อมชุดมาตรการการเงินและการคลัง (policy package) เพิ่มเติมไว้รองรับความเสี่ยงดังกล่าว โดยเฉพาะหากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยในปี 2564 น้อยกว่าที่คาด 
 
• คณะกรรมการฯ เน้นย้ำถึงความจำเป็นของนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่จะช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว โดยเห็นว่าศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มต่ำลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการระบาดของ COVID-19 ยังอาจซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิม เช่น ปัญหาสังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำของรายได้ให้เลวร้ายลง คณะกรรมการฯ จึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่จะช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะการปรับรูปแบบการทำธุรกิจและพัฒนาทักษะแรงงาน (upskill/reskill) ให้สอดคล้องกับบริบทหลัง COVID-19 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน และเพิ่มรายได้ประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนลดภาระหนี้สินได้เร็วยิ่งขึ้น
 
• คณะกรรมการฯ อภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายต่าง ๆ อย่างเหมาะสม (integrated policy) เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นและการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่า (1) นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องและมาตรการการเงินการคลังที่ตรงจุดจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย (2) มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) และมาตรการกำกับดูแลรายสถาบันการเงิน (microprudential) จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน (low for long) เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง และ (3) ภาครัฐควรเร่งผลักดันและเร่งดำเนินนโยบายเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว 

การดำเนินนโยบายการเงิน
 
คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
 
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมบ้าง อย่างไรก็ตาม ฐานะทางการเงินที่เปราะบางของภาคเอกชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะ SMEs และภาคครัวเรือนจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จึงควรเน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับปัญหา โดยประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ใช่ระดับอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในระดับต่ำ แต่โจทย์สำคัญคือการกระจายสภาพคล่องในระบบธนาคารที่อยู่ในระดับสูงไปสู่ธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ จึงควรใช้มาตรการการเงินและสินเชื่อซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ใน
 
การประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด 
 
คณะกรรมการฯ จะติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ แม้คณะกรรมการฯ ประเมินว่าแรงกดดันค่าเงินบาทลดลงจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงมากในปี 2564  แต่คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ผลักดันนโยบายการปรับ FX ecosystem อย่างต่อเนื่องเพื่อปรับโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทยซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการส่งเสริมให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันของไทยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น จะช่วยสนับสนุนเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกและทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยไหลเข้าออกอย่างสมดุลมากขึ้น 
 
คณะกรรมการฯ เห็นว่าความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานภาครัฐมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยเห็นควรให้เร่งดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่ออกมาเพิ่มเติมเพื่อช่วยกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนเศรษฐกิจช่วงฟื้นฟูในอนาคต ทั้งนี้ นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง สถาบันการเงินควรเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง มาตรการการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งอนุมัติและเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยังเหลือ นอกจากนี้ ภาครัฐควรร่วมกันผลักดันนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลัง COVID-19 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว
 
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยจะติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ประสิทธิผลและการกระจายวัคซีน การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ความเปราะบางในตลาดแรงงาน รวมทั้งความต่อเนื่องและความเพียงพอของมาตรการภาครัฐ ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
 

LastUpdate 07/04/2564 10:47:26 โดย : Admin
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 5:23 pm