หุ้นทอง
Warren Buffett กับการลงทุนด้วย ETF


“Warren Buffett” เคยให้คำแนะนำ “หลักการลงทุนแบบ 90/10” ผ่านจดหมายถึงผู้ถือหุ้นของ Berkshire Hathaway ไว้ว่า ในวันที่เขาจากโลกนี้ไป สิ่งที่เขาต้องการให้ผู้ดูแลทรัพย์สินบริหารจัดการทรัพย์สินสำหรับภรรยาของเขาก็คือ “90% ลงทุนใน S&P500 Index Fund ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำมาก และอีก 10% ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น”


มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ บอกว่า เพราะ Warren Buffett เชื่อว่าการลงทุนแบบนี้จะให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่ดีกว่าการลงทุนแบบอื่นที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงๆ ให้กับผู้จัดการกองทุน โดยหลักการที่ว่านี้ก็สอดคล้องกับรูปแบบการลงทุนผ่าน ETF หรือ Exchange Traded Fund นั่นเอง ซึ่งถือเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนแบบ Passive หรือสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีชี้วัด 
 
ย้อนกลับไปเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งในปี 2007 Warren Buffett ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าดัชนี S&P 500 สามารถจะเอาชนะกองทุน Hedge Fund ได้ โดยให้ความเห็นว่า “ผู้จัดการกองทุน Hedge Fund เก่งๆ จะแพ้นักลงทุนมือสมัครเล่นที่มีความอดทน โดยการถือกองทุน ETF ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำๆ อย่างดัชนี S&P 500 ในระยะยาว”
Warren Buffett ท้าเดิมพันกับ Ted Seides อดีตผู้จัดการกองทุน Hedge Fund กองหนึ่งที่ชื่อว่า Protégé โดยเดิมพันกันว่าใครจะชนะระหว่าง “ดัชนี S&P 500” กับ “กองทุน Active Fund” ภายในระยะเวลา 10 ปี

31 ธันวาคม 2017 เวลาผ่านไปจนครบกำหนด 10 ปี ผลปรากฏว่า กองทุนที่ Protégé เลือก ได้ผลตอบแทน 24% จากเงินต้น 1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดัชนี S&P 500 ได้ผลตอบแทนมากถึง 94% ถือว่ากองทุนดัชนีที่ลงทุนตามตลาด สามารถเอาชนะได้แบบขาดลอยเลยทีเดียว
 

เวลาผ่านมา 3 ปีหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัท Berkshire Hathaway ของ Warren Buffett ได้ตัดสินใจเข้าซื้อกองทุน ETF เป็นครั้งแรกในไตรมาส 4 ปี 2019 ได้แก่ SPDR S&P 500 ETF Trust (SPY) และ Vanguard S&P 500 ETF (VOO) รวมมูลค่า 25 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

SPDR S&P 500 ETF Trust (SPY) ถือเป็นกองทุน ETF กองแรกของโลกที่เกิดขึ้นมาเมื่อวันที่ 22 มกราคม 1993 ETF ลงทุนล้อไปกับดัชนี S&P500 ของสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันนี้ก็เป็นกอง ETF ที่มีมูลค่าทรัพย์สินที่ดูแลอยู่สูงที่สุดด้วยมูลค่า 299,240 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
 
Vanguard S&P 500 ETF (VOO) ก่อตั้งช้ากว่า คือ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2010 แต่ลงทุนตามดัชนี S&P 500 เหมือนกัน โดยมีมูลค่าทรัพย์สินที่ดูแล 166,360 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
 
ความแตกต่างระหว่าง SPY และ VOO ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่ง คงจะเป็นเรื่องของ “ค่าใช้จ่ายกองทุน”  (Expense Ratio) โดย SPY คิดที่ 0.09% ขณะที่ VOO คิดที่ 0.03%
 
เหตุการณ์นี้นับเป็นครั้งเเรกที่ Berkshire Hathaway เข้ามาลงทุนในตลาด ETF แต่เราคงไม่แปลกใจเท่าไรนัก หากเราได้เห็นสิ่งที่ Warren Buffett พูดไว้ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นในปี 2556 และผลลัพธ์ของการเดิมพันเมื่อปี 2560
 

ถอดบทเรียนการลงทุนจาก Warren Buffett
 
บทเรียน 3 ข้อ ที่เราได้จาก Warren Buffett ในเรื่องนี้ คือ
 
1. Diversification หรือการกระจายความเสี่ยง โดยกระจายการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ มั่นคง อยู่รอดและเติบโตได้ในระยะยาว อย่างหุ้นในดัชนี S&P 500 ซึ่งเคยมีผลการศึกษาว่า ยิ่งถือหุ้นจำนวนเยอะ ยิ่งเป็นการลดความเสี่ยงลง และมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น
2. Simplicity หรือความเรียบง่าย ไม่ต้องลงทุนอะไรที่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางอะไรมากมายนัก แค่เลือกดัชนีให้ถูกและลงทุนไปเรื่อยๆ
3. Discipline หรือวินัยการลงทุน คำพูดที่น่าจะเหมาะที่สุด คือ “เวลาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดสำหรับนักลงทุนระยะยาว” เพราะเราต้องปล่อยให้ผลตอบแทนเติบโต ออกดอกออกผลกับเม็ดเงินที่ลงทุนไป

ETF การลงทุนที่ชนะแบบไม่ต้องรบ
 
จากทั้งหมดที่เล่ามา ETF น่าจะเป็นทางเลือกลงทุนที่อธิบายถึงความสำเร็จส่วนหนึ่งในการลงทุนของ Buffett ได้เป็นอย่างดี โดย ETF ย่อมาจาก Exchange Traded Funds เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนตามดัชนีต่างๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงการเคลื่อนไหวของดัชนีอ้างอิงมากที่สุด และสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดได้เหมือนหุ้น
 

Exchange  คือ การซื้อขายเปลี่ยมือหน่วยลงทุนโดยจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

Traded คือ การมีสภาพคล่องสูง สามารถทำรายการลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ได้เหมือนกับหลักทรัพย์จดทะเบียนตัวหนึ่ง ซื้อขายกันได้ตลอดทั้งวันทำการ และเห็นราคาขึ้นลงตลอดเวลาแบบ Real-Time มี Bid-Offer ไม่ต่างจากหุ้น

Fund เพราะว่า ETF ถือเป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง
 
สรุปง่ายๆ ได้ว่า ETF เป็นการนำเอาจุดเด่นของกองทุนรวมดัชนี และหุ้นผสมผสานเข้าไว้ด้วยกัน โดยสามารถลงทุนได้หลากหลายประเภท เช่น หุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ น้ำมัน ทองคำ เป็นต้น
จากข้อมูล ณ สิ้นปี 2562 ทั่วทั้งโลกมี ETF ทั้งสิ้น 7,927 กอง มูลค่ามากถึง 7 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ส่วนของประเทศไทยนั้นมี ETF 12 กอง มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 16,557 ล้านบาท โดยมีกองทุนเด่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น

• TDEX (ThaiDEX SET50 ETF) ลงทุนในดัชนี SET50
• BSET100 กองทุนเปิด BCAP SET100 ETF สร้างผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนี SET100 Total Return Index
• 1DIV กองทุนเปิดไทยเด็กซ์ SET High Dividend ETF ลงทุนในดัชนี SET HD
• ENGY ลงทุนใน SET Energy & Utilities Sector
• CHINA กองทุนเปิดดับเบิลยูไอเอสอี เคแทม ซีเอสไอ 300 ไชน่า แทร็กเกอร์ สร้างผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนี CSI300
 
 
หากเราจะลองลงทุนตามที่ Warren Buffett ทำ คือ “ลงทุนในกองทุนดัชนี S&P 500” เราอาจลงทุนใน “TDEX” ซึ่งเป็นการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ 50 บริษัทของไทย โดยผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ของ TDEX จะอยู่ที่ 5.39% ต่อปี (ข้อมูล ณ วันที่ 22 พ.ย. 2563) ซึ่งถือว่าทำผลตอบแทนได้ดีทีเดียว แม้จะเจอกับวิกฤติ COVID-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา (หากเราเลือกหุ้นลงทุนเอง อาจขาดทุนด้วยซ้ำไป)

หรือหากจะดูผลตอบแทนย้อนหลังช่วงก่อนเกิด COVID ให้เราลองเทียบผลตอบแทนเฉลี่ย 10 ปี จะได้ 8.92% (ข้อมูล 10 ปี เทียบเมื่อสิ้นสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563) ซึ่งสูงกว่ามากทีเดียว
 
โดยสรุปแล้ว ETF น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่ดีไม่แพ้ตลาด มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี เป็นเครื่องมือสำหรับการลงทุนในระยะยาว แถมยังมีความยืดหยุ่นในการซื้อขายได้สะดวก เหมาะกับการลงทุนอย่างสบายใจและยั่งยืน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 มิ.ย. 2564 เวลา : 16:37:57
05-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 5, 2024, 8:31 pm