เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.เผยพิษโควิดระบาดระลอก 3 กระทบเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค.หดตัว


นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤษภาคม 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการแพร่ระบาดระลอกสามของ COVID-19  ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และช่วยพยุงการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนขยายตัวได้เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากผลของมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อน จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลเพิ่มขึ้น
 
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้
 
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดระลอกสามของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้ของภาคครัวเรือน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลง แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วน
 
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามอุปสงค์ในประเทศและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงจากการแพร่ระบาดระลอกสาม ส่งผลให้การลงทุนทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้างปรับลดลง
 
มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเฉพาะ 1) หมวดสินค้าเกษตรที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์จากต่างประเทศ 2) หมวดสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และ 3) หมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงได้รับผลดีจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกที่ฟื้นตัวช่วยพยุงให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อนในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ต่อการผลิตและการส่งออกในบางสินค้า โดยเฉพาะอาหารแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า 
 
 
มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สอดคล้องกับการฟื้นตัวของการส่งออก
 
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนสะท้อนถึงบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตาม การเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรเป็นสำคัญ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมและชลประทาน
 
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ 
 
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากผลของมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในระยะเดียวปีก่อนที่มีมาตรการลดค่าน้ำประปาของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบางและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสาม โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ สำหรับ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อนตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน แม้ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามเงินดอลลาร์ สรอ. ที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่
 

LastUpdate 30/06/2564 16:39:38 โดย : Admin
04-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 4, 2024, 9:46 am