ยานยนต์
ขบ. เพิ่มพื้นที่คุมเข้มบริการรถโดยสารสาธารณะและการขนส่งสินค้า รวม 29 จังหวัด ตามประกาศ ศบค.


นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ออก ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 30) กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งสิ้น 29 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา จังหวัดระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรมการขนส่งทางบกจึงกำหนดมาตรการให้สอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าว ทั้งในส่วนของการให้บริการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะและการขนส่งสินค้า โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ดังนี้


การให้บริการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ที่มีจุดต้นทางปลายทางจากจังหวัดที่กำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด “งดให้บริการเดินรถโดยสารประจำทางเข้า-ออกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” และ “จำกัดการเดินรถระหว่างเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” เฉพาะเท่าที่จำเป็น โดยต้องหยุดการให้บริการตั้งแต่เวลา 21.00 - 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น นอกจากนี้ การให้บริการรถโดยสารสาธารณะภาพรวมทั้งประเทศ ผู้ประกอบการขนส่งต้องดำเนินการตามมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคอย่างเคร่งครัด อาทิ ต้องมีมาตรการคัดกรองผู้โดยสารตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด กำหนดจำนวนผู้โดยสารไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด และต้องปฏิบัติตามทางมาตรการเว้นระยะห่าง จัดที่นั่งของรถโดยสารประจำทางและรถโดยสารไม่ประจำทาง ให้จัดที่นั่ง 1 ที่นั่ง เว้น 1 ที่นั่ง โดยต้องบริหารจัดการให้จำนวนรถและเที่ยววิ่งเพียงพอต่อความจำเป็นและตามเวลาที่เหมาะสมกับการเดินทางของประชาชน โดยในระหว่างการให้บริการห้ามลงจากรถระหว่างทางหรือในสถานที่ซึ่งมิใช่ที่หยุดหรือจอดตามที่กำหนดไว้ เพื่อให้สามารถตรวจคัดกรองผู้โดยสารตามมาตรการสาธารณสุขได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 
การขนส่งสินค้าภาพรวมทั่วประเทศ “งดการขนส่งในช่วงตั้งแต่เวลา 21.00 – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น”
เว้นแต่ผู้ที่มีความจำเป็นในการขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน ได้แก่ ผู้ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตทางการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง ไปรษณียภัณฑ์ พัสดุภัณฑ์ สิ่งพิมพ์ หรือสินค้าเพื่อการส่งออกหรือนำเข้า สามารถขนส่งสินค้าได้ รวมถึงการขนส่งเที่ยวเปล่าหรือตู้สินค้าเปล่าในกรณีเดินทางไปรับสินค้าและเดินทางกลับ โดยจัดเตรียมใบอนุญาตขับรถ บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวพนักงานหรือหนังสือรับรองการทำงาน และเอกสารรับรองความจำเป็นเกี่ยวกับสินค้าและการเดินทางของผู้ขนส่งสินค้าเพื่อใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ส.ค. 2564 เวลา : 16:39:59
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 5:40 am