เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ส่งออกเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA ไทยคาดปี 64 เติบโตกว่า 38% แต่อาจเผชิญภาวะอุปทานตึงตัวในปีหน้า


ประเด็นสำคัญ

 • ท่ามกลางกระแสรักษ์โลกที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน การส่งออกเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA (Polylactic Acid) ของไทยในช่วงที่ผ่านมา

นับแต่ปี 2562 ไทยได้กลายเป็นฐานส่งออกเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA (Polylactic Acid)  อันดับที่ 3 ของโลกโดยมีส่วนแบ่งการส่งออกราวร้อยละ 20 ในปัจจุบัน รองจากสหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์ ที่มีส่วนแบ่งราวร้อยละ 40 และ 31 ตามลำดับ ทั้งนี้ การส่งออก PLA ของไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องท่ามกลางกระแสรักษ์โลกที่ทำให้หลายประเทศออกมาตรการจำกัดการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากโดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น จาน/ชาม ฟิล์มห่อหุ้ม และกล่องอาหาร เป็นต้น โดยสหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศล่าสุดที่มีการประกาศกฎระเบียบสำหรับมาตรการดังกล่าวตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้วัสดุทดแทนโดยเฉพาะเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมในการทำบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หนุนความต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับบริการส่งอาหารให้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าไทยจะได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มดังกล่าว แต่ทว่าในระยะข้างหน้าการส่งออก PLA ของไทยอาจต้องเผชิญความท้าทายจากภาวะกำลังการผลิตที่ตึงตัวมากขึ้นจากความล่าช้าในการลงทุนโรงงาน PLA ใหม่ ซึ่งจะมีส่วนกดดันแนวโน้มส่งออก PLA ของไทยชั่วคราว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้  
 
 
• ตลาดเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA มีความน่าสนใจและยังคงมีโอกาสทางการตลาดอยู่อีกมาก สะท้อนจากสัดส่วนตลาดในปัจจุบันที่ยังอยู่ที่เพียงราวร้อยละ 0.25 ของอุปสงค์เม็ดพลาสติกรวมทุกประเภทที่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ในขณะที่อุปสงค์ PLA โลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยเกือบร้อยละ 20 ต่อปี โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมาที่อุปสงค์ PLA โลกเติบโตสูงถึงร้อยละ 38.5 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หนุนความต้องการฟู้ดเดลิเวอรี่ให้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่มีมาตรการลดการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายยากมาก่อนหน้า เช่น ประเทศในยุโรปตะวันตก จีน และสหรัฐฯ เป็นต้น
 
• แม้ว่าอุปสงค์ PLA โลกจะมีแนวโน้มเติบโตได้ดี แต่ทว่าอุตสาหกรรมผลิต PLA โลกในปัจจุบันก็กำลังเผชิญภาพเหตุการณ์ที่อุปทานยังไม่สามารถขยายตัวได้เร็วพอจนก่อให้เกิดภาวะตึงตัวในบางขณะ โดยปัจจุบันอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยทั้งปีของโลกอยู่ที่ระดับสูงมากกว่าร้อยละ 90 ในขณะที่ระดับที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมโดยไม่ทำให้เกิดภาวะตึงตัวในบางช่วงเวลาของปีจะอยู่ที่ราวร้อยละ 80 ทั้งนี้ สาเหตุหลักของภาวะอุปทานตึงตัวมาจากระยะเวลาก่อสร้างโรงงานที่นานกว่า 1.5 ปี และต้องใช้เวลาอีกราว 2 ปีในการปรับกำลังการผลิตให้เพิ่มขึ้นจนเต็มศักยภาพได้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกดดันจากแผนการสร้างโรงงานใหม่ที่ล่าช้าจากผลกระทบล็อกดาวน์อันเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในยุโรป สหรัฐฯ และไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิต PLA ที่สำคัญของโลก 
 
• ทั้งนี้ ภาวะอุปทาน PLA ตึงตัวในตลาดโลกน่าจะยังคงดำเนินต่อเนื่องในระยะข้างหน้าแม้ว่ากำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นจากการกลับมาเร่งลงทุนสร้างโรงงานใหม่ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการรวบรวมและประเมินแผนการลงทุนของผู้ผลิต PLA ทั่วโลก พบว่า ในปี 2567 กำลังการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA โลกน่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 808,000 ตัน ในขณะที่อุปสงค์ PLA คาดว่าจะอยู่ที่ราว 732,100 ตันในปีดังกล่าว ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยทั้งปีจะยังคงอยู่ในระดับสูงราวร้อยละ 90.6 สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสการลงทุนโรงงานผลิต PLA ที่น่าจะยังคงมีอยู่อีกมากในระยะข้างหน้า
 
• เมื่อพิจารณาอุตสาหกรรมการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA ของไทย พบว่า มากกว่าร้อยละ 95 จะเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหภาพยุโรป (ร้อยละ 30 ของปริมาณส่งออก PLA ไทย) จีน (ร้อยละ 23) และสหรัฐฯ (ร้อยละ 13) โดยสาเหตุที่ทำให้ไทยกลายเป็นฐานผลิตและส่งออกเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA ที่สำคัญของโลก นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของผลิตผลทางการเกษตรโดยเฉพาะอ้อยและมันสำปะหลังซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต PLA และนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเศรษฐกิจหมุนเวียนของภาครัฐแล้ว ผลจากการลงทุนร่วมกับบริษัทพันธมิตรที่เป็นผู้ผลิต PLA ชั้นนำของโลก ก็มีส่วนหนุนการตั้งฐานผลิตในไทย 
 
• แม้ว่าปัจจุบันการส่งออกเม็ดพลาสติกชีวภาพของไทยยังคงมีสัดส่วนเพียงแค่ร้อยละ 0.8 ของปริมาณส่งออกเม็ดพลาสติกทุกประเภทของไทย ทว่านับแต่เริ่มมีการผลิตในช่วงปลายปี 2561 การส่งออก PLA ของไทยก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในระดับที่สูงกว่าการขยายตัวของอุปสงค์ PLA โลก โดยนอกจากปัจจัยหนุนที่ได้รับจากภาวะอุปทานตึงตัวในแหล่งผลิตอื่นของโลกแล้ว การขยายตัวของการส่งออก PLA ไทยยังได้รับแรงหนุนสำคัญจากกำลังการผลิตของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปีจากการปรับจูนสายการผลิตเพื่อให้เข้าใกล้ระดับเต็มศักยภาพของโรงงานซึ่งอยู่ที่ราว 75,000 ตันต่อปีภายใต้แผนการลงทุนในช่วงปี 2561
 
 
• อย่างไรก็ดี การปรับจูนศักยภาพกำลังการผลิตของไทยได้ดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยของไทยในปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นแตะร้อยละ 81 ของกำลังการผลิตเต็มศักยภาพ เมื่อประกอบกับแผนสร้างโรงงาน PLA ใหม่ในไทยที่เกิดความล่าช้าจากโควิด-19 และน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีหน้า จึงน่าจะส่งผลให้การส่งออก PLA ของไทยในปี 2565 ได้รับแรงกดดันจากภาวะกำลังการผลิตที่ตึงตัวมากขึ้น ก่อนที่จะเริ่มทยอยคลี่คลายหลังโรงงานใหม่เริ่มเดินเครื่องได้ราวช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปริมาณการส่งออก PLA ของไทยในปี 2564 น่าจะขยายตัวได้ราวร้อยละ 38.6 และจะชะลอตัวลงสู่ระดับร้อยละ 13.6 ในปี 2565 ก่อนที่จะกลับมาเร่งขยายตัวได้อีกครั้งในปี 2566 
 
• สำหรับความท้าทายในอนาคตของไทย ผู้ผลิต PLA ไทยอาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในตลาดจีนซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดหลักของไทยรองจากสหภาพยุโรป เนื่องจากในปัจจุบันเริ่มเกิดกระแสที่ผู้ประกอบการจีนหันมาสนใจลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA มากขึ้น โดยได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐจีนที่ต้องการลดขยะพลาสติกภายในประเทศผ่านมาตรการทยอยลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายยาก และส่งเสริมการใช้พลาสติกชีวภาพหรือวัสดุธรรมชาติอื่นทดแทน ส่งผลให้ในปี 2567 จีนน่าจะกลายเป็นผู้ผลิต PLA ที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีระดับกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นแตะ 325,000 ตันต่อปี สูงกว่าปี 2563 ราว 5 เท่า โดยกำลังการผลิตส่วนใหญ่ในระยะ 3 ปีข้างหน้าน่าจะใช้ตอบสนองอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก ซึ่งแนวโน้มความต้องการของตลาดจีนในปี 2567 น่าจะมีกว่า 360,000 ตัน 
 
• ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว การส่งออก PLA ของไทยไปยังตลาดจีนในระยะข้างหน้าจึงมีแนวโน้มที่จะเผชิญการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่กำลังการผลิต PLA ของไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบจากการแข่งขันและสามารถรองรับอุปทานของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น นอกเหนือจากการขยายตลาดส่งออกศักยภาพอื่นเพิ่มเติม เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เป็นต้น ผู้ประกอบการ PLA ไทยอาจจะใช้แนวทางขยายฐานลูกค้าสู่ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกในประเทศไทยที่ต้องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเพื่อการส่งออก ซึ่งปัจจุบันไทยก็เป็นฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้กับบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป หรือแม้แต่การจับตลาดบรรจุภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารเพื่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้สด ที่ต้องอาศัยการห่อหุ้มด้วยบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งไทยมีการส่งออกไปยังหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐฯ เป็นต้น ที่มีความต้องการลดการใช้พลาสติกที่ยากแก่การย่อยสลาย
 

LastUpdate 05/08/2564 17:01:26 โดย : Admin
06-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 6, 2024, 8:51 am