หุ้นทอง
การประเมินหุ้นเน้นคุณค่า ในภาวะ COVID-19


การประเมินหุ้นเน้นคุณค่า ในภาวะ COVID-19

นิยามดั้งเดิมของผู้ลงทุน เน้นคุณค่า (Value Investor : VI) นั้น ถูกสร้างขึ้นมาจาก Benjamin Graham ซึ่งในนิยาม “คุณค่า” ของหุ้นนั้น คือ หุ้นที่ “ถูก” นี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด

หลังจากนั้น Warren Buffett ก็ได้รับความคิดของ Phillip Fisher ซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญของหุ้นเติบโต (Growth Stock) ทำให้ความหมายของนักลงทุนหุ้นคุณค่านั้นกว้างขึ้นไปอีก กล่าวคือ แทนที่ “คุณค่า” จะอยู่ที่ “ความถูก” แต่มาอยู่ที่ “ความคุ้มค่า” ซึ่งมีเรื่องของการเติบโตอยู่ในองค์ประกอบด้วย
 
นับตั้งแต่ตำราต้นแบบของหุ้นเติบโตอย่าง Common Stocks and Uncommon Profits (ชื่อภาษาไทย : หุ้นสามัญกับกำไรที่ไม่สามัญ) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 1958 หลังจากนั้นโลกก็ไม่มีตำราลักษณะเดียวกันเลยมาเกือบ 70 ปี

 
จนกระทั่งยุคใหม่ที่ “หุ้นเทคโนโลยี” กลายเป็นความใหม่ของผู้ลงทุนเน้นคุณค่าเพราะไม่มีตำรามาจับยึด โดยพบว่าหากนักลงทุนในสหรัฐอเมริกาคนไหนยังคงใช้วิชา VI อย่างเข้มข้น จะได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าหุ้นเทคโนโลยีอย่างไม่ต้องสงสัย
 
คุณวีระพงษ์ ธัม นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) มองว่าโดยส่วนตัวในฐานะนักลงทุนเน้นคุณค่าก็ต้องเปิดใจเพื่อค้นหาแนวทางการลงทุนใหม่ ๆ เพราะกำลังอยู่ในขอบเขตที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่นเดียวกับธุรกิจสมัยใหม่และการลงทุนในขอบเขตใหม่ด้วยวิชาการลงทุนเน้นคุณค่านั้นยังใช้ได้ เพียงแต่ต้องปรับ Mindset และปรับเครื่องมือการลงทุนให้เหมาะสมตามยุคสมัย
 
มีคำกล่าวว่า บุรุษผู้มีค้อนในมือย่อมเห็นทุกสิ่งเป็นตะปู การพยายามแบ่งแยกกลุ่มนักลงทุนเป็น Growth หรือ Value Investor ไม่ต่างจากการที่เชื่อว่านักลงทุนนั้นมีเพียงค้อน แต่อันที่จริงแล้ว ทุกคนมีเครื่องมือทั้งกล่องต่างหาก การลงทุนในโลกยุคใหม่ที่ซับซ้อนนั้น จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่หลากหลายถึงจะประสบความสำเร็จได้
 
ยกตัวอย่างเช่น หลังจากเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 จะได้ยินคำว่าเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) มากขึ้น จึงมีคำถามตามมาว่า นักลงทุนเน้นคุณค่าหนักใจกับการประเมินหุ้นเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะว่าไปแล้วความยากง่ายไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเภทอุตสาหกรรม แต่ความยากอยู่ที่การเลือกหุ้น ด้วยเหตุผลดังนี้
 
1. สภาพคล่องล้นตลาด เมื่อสภาพคล่องล้นทำให้ Valuation ของหุ้นส่วนใหญ่แพงขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือ หุ้นส่วนใหญ่ถูกซื้อขายใน Valuation ที่แพง แล้วหุ้นที่ Undervalue ก็เหลือน้อยมาก หรือถ้ามีก็จะถูกไล่ราคาอย่างรวดเร็ว นี่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเน้นคุณค่าประเมินหุ้นได้ยากมากขึ้น
 
โดยในช่วงที่สภาพคล่องล้นตลาด ทำให้นักลงทุนพยายามหาอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต ดังนั้น อะไรที่เติบโตมาก ๆ หรือมีศักยภาพการเติบโตในระยะยาว Valuation จะอยู่ในระดับแพงมากจึงเป็นความยากในการตัดสินใจลงทุน
 
2. การปรับตัว เนื่องจากเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นอะไรที่ท้าทาย ดังนั้น นักลงทุนต้องปรับตัวในการศึกษาธุรกิจใหม่ ๆ เหล่านี้ เพราะถ้าอยู่กับธุรกิจเดิม ๆ และไม่ปรับตัวอาจเป็นความเสี่ยงในการลงทุน รวมถึงโอกาสในการสร้างผลตอบแทนระยะยาว
 
แม้ว่าแนวคิดการประเมินมูลค่าหุ้นจะไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ มองหาธุรกิจที่สามารถสร้างกระแสเงินสดและคำนวณกระแสเงินสดที่จะสร้างได้ในอนาคต ว่าคุ้มค่ากับความเสี่ยงและราคาหุ้นในปัจจุบันหรือไม่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ ในแง่ของมุมมอง เพราะอุตสาหกรรมใหม่จะมีลักษณะของการสร้างกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงเวลา มีวิธีการบันทึกบัญชี และมีสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก
 
นอกจากเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีความท้าทายแล้วยังมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง โดยมีลักษณะ Disruption ผู้ที่เพลี้ยงพล้ำก็มีโอกาสพ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว ซึ่งภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยากกับเศรษฐกิจยุคเก่า (Old Economy) ดังนั้น เมื่อความไม่แน่นอนมีสูงบวกกับ Valuation อยู่ในระดับแพง นักลงทุนต้องใช้ความสามารถในการมองอนาคตหรือการติดตามข้อมูลข่าวสารที่ใกล้ชิดมากขึ้น
 
เศรษฐกิจยุคใหม่จะมีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ สามารถแข่งขันกันได้ทุกอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมบางประเภทอาจไม่ใช่คู่แข่งในวันนี้ แต่เดือนหน้าอาจกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญได้ เนื่องจากสามารถทำอะไรก็ได้และทำได้ทุกอย่างเพราะไม่มีพรมแดนและข้อจำกัดในการแข่งขัน
 
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ อาจมีคำถามต่อว่าจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนเน้นคุณค่าหรือไม่ คำตอบคือ นักลงทุนเน้นคุณค่าไม่ได้จำกัดตายตัวว่าจะต้องลงทุนระยะยาว แต่จะลงทุนด้วยการให้ความสำคัญกับการประเมินมูลค่าหุ้นก่อนตัดสินใจเข้าซื้อหรือขายหุ้น โดยจะลงทุนเมื่อสามารถประเมินได้ว่าหุ้นตัวนั้นมีราคาตํ่ากว่า “มูลค่าที่แท้จริง” ในทางกลับกันจะขายหุ้นออกเมื่อหุ้นตัวนั้นมีราคาสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง
 
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพการลงทุนจากนี้ไปนับวันจะมีความท้าทายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นักลงทุนต้องประเมินรายละเอียดในแต่ละอุตสาหกรรม และสิ่งที่ควรทำก็คือ หาจุดที่ตัวเองได้เปรียบ และหาจุดที่หุ้นได้เปรียบ บวกกับกระจายความเสี่ยงแบบเหมาะสมและวางกองกำลังในยุทธศาสตร์ให้ครบก็จะเป็นผู้ชนะ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ส.ค. 2564 เวลา : 10:18:17
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 1:13 am