สุขภาพ
ปตท.สผ.- เออาร์วี หนุน งจุฬาฯ-ใบยาง ลงนาม MOU สนับสนุน 30 ล้านบาท พัฒนาวัคซีนโควิดของคนไทย คุณภาพเทียบเท่าต่างชาติ คาดสำเร็จปี 65


นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์  โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงการสนับสนุนงบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดโปรตีนซับยูนิตจากใบยาสูบ “จุฬาฯ-ใบยา” กับ รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ประธานมูลนิธิ ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ และ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท    ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุด้วยพืช ซึ่งดำเนินการโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด


 

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.สผ. มีภารกิจหลักในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานแก่ประเทศ ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ปตท.สผ. ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับวิกฤตเคียงข้างคนไทยและบุคลากรทางการแพทย์ โดยได้สนับสนุนทั้งนวัตกรรมและงบประมาณให้กับโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ มาตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา

“การพัฒนาวัคซีนจุฬาฯ-ใบยาครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวที่มีความสำคัญระดับชาติ ซึ่ง ปตท.สผ. ยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมสนับสนุน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ทั้งงบประมาณ องค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้การค้นคว้าวิจัย ทดลอง ผลิตวัคซีนจุฬาฯ-ใบยาครั้งนี้ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยและคนไทยมีวัคซีนต้านโควิดที่มีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ สร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งในการป้องกันเชื้อโรค รวมทั้ง ยังเป็นการสะท้อนถึงความสำเร็จและความสามารถของประเทศไทยในการพึ่งพาตนเองได้อย่างชัดเจน โดย เออาร์วี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท.สผ. จะนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาร่วมในการพัฒนาและผลิตวัคซีนจุฬาฯ-ใบยาครั้งนี้ด้วย” นายพงศธรกล่าว
 

นวัตกรรมอื่นๆ ซึ่ง ปตท.สผ. โดยเออาร์วี ได้พัฒนาขึ้นร่วมกับพันธมิตร เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ได้แก่ เตียงและรถเข็นเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ ชุดอุปกรณ์ระบบตรวจวัดอุณหภูมิตู้เก็บวัคซีนโควิด-19 และควบคุมห่วงโซ่ความเย็น หุ่นยนต์ CARA นำส่งเวชภัณฑ์และอาหาร หุ่นยนต์ Xterlizer ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติด้วยแสงยูวี เป็นต้น

ด้าน รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ประธานมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ กล่าวว่า “มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ ขอขอบคุณ ปตท.สผ. และ เออาร์วี ที่ให้การสนับสนุน ร่วมเป็นพันธมิตรในภารกิจครั้งสำคัญนี้ เราเป็นองค์กร      ไม่แสวงหาผลกำไรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนทางการเงินให้แก่ใบยา ไฟโตฟาร์ม ให้สามารถศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อคิดค้นและผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับคนไทยได้สำเร็จจนข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้และด้วยแพลตฟอร์มเทคโนโลยีเดียวกันนี้ที่เราคนไทยเป็นเจ้าของเองตั้งแต่ต้นน้ำจะช่วยสร้างความมั่นคงให้ระบบสาธารณสุขไทยได้อย่างแท้จริง”

ปัจจุบัน วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา กำลังอยู่ระหว่างทดสอบในมนุษย์ เฟสที่ 1 เบื้องต้นประมาณ 100 คน ในขนาดโดส 10 ไมโครกรัม 50 ไมโครกรัม และ 100 ไมโครกรัม ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน คาดว่าภายในไตรมาส 3 ของ ปี 2565 จะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากฝีมือคนไทยในประเทศได้เองสูงสุด 5 ล้านโดสต่อเดือน หรือ 60 ล้านโดสต่อปี

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ก.ย. 2564 เวลา : 19:00:40
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:38 pm