ข่าวประชาสัมพันธ์
กอนช.รับนโยบายนายกฯ สั่งเร่งสำรวจแหล่งน้ำที่ขาดน้ำเพิ่มเติม เปลี่ยนสูบทิ้งเป็นสูบกลับเก็บ


กอนช.ขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ ประวิตร สั่งเร่งสำรวจแหล่งน้ำที่ขาดน้ำ ระดมเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือสูบน้ำกลับเก็บใช้ช่วงแล้ง พร้อมสั่งเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเร่งสำรวจความแข็งแรงของอ่าง เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ยังคงตกหนักในหลายพื้นที่


 

วันนี้ (12 ต.ค. 64)  ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้มอบนโยบายให้ กอนช. พิจารณาแหล่งน้ำที่อยู่นอกขอบเขตพื้นที่น้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำสาธารณะหรือหนองน้ำธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งมีบางแห่งที่ยังขาดน้ำและบางแห่งยังสามารถรองรับน้ำได้เพิ่มเติมอีก โดยให้เร่งทำการสำรวจเพื่อทำการสูบน้ำที่ท่วมบริเวณขอบตลิ่งหรือริมตลิ่งของแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำสายต่างๆ ในลักษณะการสูบส่ง-สูบทอยน้ำกลับไปกักเก็บไว้ในพื้นที่แหล่งน้ำตอนบนหรือพื้นที่ดอน โดย กอนช. ได้รับนโยบายและสั่งการให้หน่วยงานเริ่มเข้าสำรวจแหล่งน้ำต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อดำเนินการโดยใช้เครื่องจักรเครื่องมือที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง อาทิ เครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ เครื่องสูบน้ำระยะไกล ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยเร่งระบายน้ำ และเป็นการนำน้ำส่วนเกิน ไปพักเก็บไว้ในแหล่งน้ำที่ยังขาดน้ำอยู่ที่สามารถนำมาใช้บริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงพิจารณาลดการระบายน้ำเขื่อนต่างๆ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งให้มากที่สุดด้วยเช่นกัน

สำหรับการติดตามสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในช่วงวันนี้ (12 ต.ค.) ถึง 14 ต.ค. 64 จะมีน้ำทะเลหนุนสูง อาจทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยานอกคันกั้นน้ำ จ.ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบ โดยเมื่อวานนี้ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครประชุมร่วมกับ 6 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ จ.นครปฐม ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการเพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือไหลหลาก และความพร้อมการให้ความช่วยเหลือประชาชนในกรณีที่เกิดฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขัง รวมถึงการสำรวจตลิ่งและคันกั้นน้ำที่เป็นจุดอ่อนเพื่อเป็นการป้องกันไว้ล่วงหน้า 

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันยังเหลือพื้นที่ประสบภัยรวมทั้งสิ้น  14 จังหวัด 64 อำเภอ 376 ตำบล ได้แก่ จ.สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา และอุบลราชธานี ซึ่งหน่วยงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้เร่งดำเนินการเร่งสำรวจตรวจสอบความเสียหายและช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นตามข้อสั่งการรองนายกรัฐนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โดยเร่งด่วนแล้ว ขณะเดียวกัน กรมชลประทานยังได้เร่งจัดทำแนวพนังใหม่แทนแนวเดิมที่ชำรุดที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้ เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนประชาชนโดยเร่งด่วนด้วยเช่นกัน

ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์พายุ 2 ลูก คือ พายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” ซึ่งได้อ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วบริเวณประเทศลาว และสลายตัวไปแล้วเมื่อวานนี้ (11 ต.ค. 64) แต่ยังคงส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนัก ในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ในพื้นที่ จ.เลย นครพนม จันทบุรี ตราด ระนอง และพังงา รวมทั้งควรเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางบริเวณ จ.ตราด  ส่วนร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้ฝนตกปานกลางถึงตกหนักบางแห่งในพื้นที่ จ.เลย ขอนแก่น นครราชสีมา อุทัยธานี สระบุรี สระแก้ว และควรเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางบริเวณดังกล่าว ขณะที่อิทธิพลจากพายุโซนร้อน “คมปาซุ” ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงจะทำให้เกิดฝนตกหนักและอาจเกิดน้ำหลากในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกและภาคตะวันออก ช่วงวันที่ 14-16 ต.ค. 64  ที่นอกจากจะส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกแล้ว ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้ฝนตกปานกลางถึงตกหนักบางแห่ง ได้แก่ จ.กาฬสินธุ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ลพบุรี สระบุรี นครนายก ตาก กาญจนบุรี อุทัยธานี และสุพรรณบุรี และควรเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในบริเวณดังกล่าวด้วยที่อาจจะมีปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีในการช่วยเติมน้ำในเขื่อนเนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนบริเวณดังกล่าวยังมีน้อยด้วยเช่นกัน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ต.ค. 2564 เวลา : 19:03:38
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 11:45 pm