ข่าวประชาสัมพันธ์
''บิ๊กป้อม'' ลุยพื้นที่ตรวจน้ำท่วมขอนแก่น สั่งเร่งระบายน้ำลดผลกระทบประชาชน คาด 10 -15 วัน กลับเข้าสู่สภาวะปกติ


วันนี้ (14 ตุลาคม 2564) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ จ.ขอนแก่น โดยประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการบริหารจัดการน้ำท่วมในลุ่มน้ำชีเพื่อป้องกันและลดผลกระทบให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด

โดยมี นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวต้อนรับและรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำเสนอภาพรวมการบริหารจัดการน้ำตามมาตรการ กอนช. และแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำและแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม/น้ำแล้งในพื้นที่ รวมถึงผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมอุตุนิยมวิทยา และผู้ว่าราชการอีก 3 จังหวัดลุ่มน้ำชี ได้แก่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และ ยโสธร เข้าร่วมประชุมด้วยเนื่องจากเป็นพื้นที่รับมวลน้ำต่อจาก จ.ขอนแก่น เข้าร่วมนำเสนอการบริหารจัดการน้ำภาพรวมและการเตรียมการรับมือ ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ก่อนที่รองนายกรัฐมนตรีจะทำพิธีกดปุ่มกิจกรรมเพิ่มความสุขสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เพื่อเติมน้ำต้นทุนแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับพื้นที่ อ.ภูเวียง และ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น หลังจากนั้นลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและแจกถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ ต.ดอนหัน และ ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น


พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อติดตามเร่งรัดการแก้ไขปัญหาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ตามลำน้ำชี ตั้งแต่จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม โดยขณะนี้มวลน้ำกำลังเข้าสู่จังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร และจังหวัดอุบลราชธานีตามลำดับ ซึ่ง กอนช. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 เพื่อเตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้าและสามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังเร่งขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้ให้สิ้นสุดโดยเร็วประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด  สั่งการให้ทุกหน่วยปฏิบัติเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากที่ยังมีแนวโน้มฝนตกหนักอยู่ในขณะนี้ เร่งดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ รวมถึงวางแผนเก็บน้ำสำรองทุกแหล่งทั้งผิวดินและใต้ดินไว้รองรับในช่วงฤดูแล้งหน้าด้วย โดยมอบหมายให้ สทนช. ร่วมกับจังหวัด กรมชลประทาน และ กฟผ. พิจารณากำหนดแผนบริหารจัดการน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงตลอดลำน้ำชีด้วย พร้อมทั้งให้อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดขอนแก่น โดยจังหวัดขอนแก่น และ สทนช. เป็นเจ้าภาพหลักจัดทำแผนบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในจังหวัดขอนแก่น โดยเสนอผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำชี และให้ สทนช. รวบรวมเสนอ กนช. เห็นชอบต่อไป สำหรับโครงการที่ได้รับงบประมาณดำเนินการแล้วขอให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งเน้นย้ำทุกภารกิจด้านน้ำต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดขยายผลการแก้ไขปัญหาด้านน้ำของประเทศได้อย่างยั่งยืน

 สำหรับสถานการณ์พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ที่สลายตัวเป็นดีเปรสชั่นและหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ และเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงวันที่ 24-25 ก.ย. 64 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 9 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ซึ่ง กอนช. ได้ออกประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก น้ำล้นตลิ่ง และการเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนต่างๆ ล่วงหน้ารวม 4 ฉบับ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการป้องกันผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและทรัพย์สินจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย อาทิ  จัดจราจรน้ำให้มาไหลรวมกันน้อยที่สุด บริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ และเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน รวมถึงปรับลดการระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์จากวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. ล่าสุดระบายเหลือประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคอีสานปัจจุบันคงเหลือพื้นที่น้ำท่วม 22 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี 9 อำเภอ ใน จ.ขอนแก่น และ        10 อำเภอ ใน จ.นครราชสีมา  โดยสถานการณ์น้ำท่วม จ.ขอนแก่น ปัจจุบันระดับน้ำยังสูงกว่าตลิ่ง 0.50-1.10 เมตร            แต่มีแนวโน้มลดลงวันละ 12 ซม. โดยคาดว่าน้ำที่หลากบริเวณหน้าเขื่อนมหาสารคาม อ.โกสุมพิสัย และท่วมทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำชี อ.เมืองขอนแก่น ประมาณ 10 -15 วัน จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวขัองเร่งให้การช่วยเหลือพร้อมสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือเข้าดำเนินการให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายโดยเร็ว ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำ 55 เครื่อง เรือ 5 ลำ รถยนต์ 8 คัน และเครื่องผลักดันน้ำ 40 คัน

ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สทนช.ได้เร่งรัดผลักดันแผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จ.ขอนแก่น โดยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี’61–64 มีการพัฒนาแหล่งน้ำเกิดขึ้นรวม 2,070 แห่ง พื้นที่ได้รับการป้องกันกว่า 4.6 แสนไร่ เช่น ประตูระบายน้ำลำน้ำเชิญ แก้มลิงแก่งน้ำต้อน แก้มลิงหนองโป่งขี้กั่ว เป็นต้น และในปี’65 มีแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามงบบูรณาการอีก 40 แห่ง ปริมาณน้ำ 3.62 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 13,589 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 6,475 ครัวเรือน มีพื้นที่ได้รับการป้องกัน 963 ไร่ เช่น ระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนบ้านไผ่ แก้มลิงกุดหมากเท้งพร้อมอาคารประกอบ ฝายห้วยสายบาตร และอนุรักษ์ฟื้นฟูห้วยโพงพร้อมระบบกระจายน้ำ เป็นต้น ขณะเดียวกันยังได้เร่งขับเคลื่อนแผนงานโครงการสำคัญ อีก 13 โครงการที่เน้นเพิ่มการเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน และการป้องกันน้ำท่วมเพื่อป้องกันชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในช่วงปี’66 - 68 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 36.4 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 35,181 ไร่ และ 9,344 ครัวเรือน อาทิ การขุดลอกแม่น้ำชี ระยะทาง 215 กม. อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้ ระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองขอนแก่น ระยะที่ 2 แก้มลิงหนองเอียด และแก้มลิงหนองแปน เป็นต้น

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ต.ค. 2564 เวลา : 18:38:12
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 8:30 pm