หุ้นทอง
เทคนิคแก้ปัญหาเงินขาดมือ ตามสไตล์ ''มนุษย์ฟรีแลนซ์''


ปัญหาเงินขาดมือ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ในแง่ของธุรกิจเมื่อขาดสภาพคล่องก็อาจทำให้ธุรกิจสะดุดได้ไม่ต่างกันกับคนทำงานทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น “มนุษย์เงินเดือน” ที่มีรายได้ประจำ หรือ “มนุษย์ฟรีแลนซ์” ที่มีรายได้ตามงานที่ได้รับ ซึ่งหากชีวิตเกิดสะดุด การบริหารเงินเกิดขาดมือ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาได้ง่าย ๆ ยิ่งในยุค COVID-19 เช่นนี้ การบริหารเงินที่ดีมีความสำคัญมาก


โดยเฉพาะกลุ่มคนใน “อาชีพอิสระ” หรือ “อาชีพฟรีแลนซ์” ที่ไม่ได้ขึ้นตรงต่อหน่วยงานหรือองค์กรใด จะมีเงิน
รายได้หรือค่าจ้างเป็นครั้ง ๆ ไปหลังทำงานชิ้นนั้นเสร็จสิ้น ทำให้รายรับในแต่ละเดือนไม่มีความสม่ำเสมอ ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนงานที่ทำและเม็ดเงินที่ได้รับในแต่ละครั้ง จึงยิ่งต้องบริหารเงินของตัวเองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ในวันนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเทคนิคการ “แบ่งเก็บเงิน 3 กอง” ในการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันสำหรับมนุษย์ฟรีแลนซ์ ที่มีรายได้แบบไม่สม่ำเสมอ มาแชร์เพื่อเป็นแนวทางหรือเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ได้ประยุกต์ใช้กัน

“กองแรก: เงินสำรองฉุกเฉิน” เป็นเงินที่เตรียมไว้รับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่ว่าจะทำงานฟรีแลนซ์แบบไหนก็ทำได้  ซึ่งวิธีการ คือ แบ่งเงินจากรายรับในแต่ละครั้งออกมาบางส่วน จะมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือนของตัวบุคคลนั้น ๆ ด้วย ซึ่งโดยปกติ จะมีการแนะนำให้ทยอยเก็บให้ได้ 3-6 เท่า ของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพื่อเก็บไว้ใช้ในช่วงที่ไม่มีรายได้แต่ยังมีรายจ่ายอยู่ เช่น ค่าเช่าบ้าน, ค่าโทรศัพท์, ค่าเบี้ยประกัน เป็นต้น
การเกิดวิกฤติ COVID-19 เรียกได้ว่ากระทบไปทุกอาชีพ และก็พบว่าการเตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน อาจเก็บมากกว่านี้ได้เช่นกัน ส่วนจะมีเงินสำรองจำนวนเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นคำถามที่ตอบยากเพราะตัวเลขค่าใช้จ่ายของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน จึงทำให้คนที่ตอบคำถามได้ดีที่สุดก็เป็นตัวเรานั่นเอง

แล้วคุณต้องเก็บเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไหร่ดี คุณอาจจะเริ่มลองคำนวณตัวเลข “ค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Cost)”  ที่จะต้องจ่ายออกเป็นประจำ หรือที่เรียกว่าภาระหนี้สินต่อเดือน เช่น ค่าผ่อนคอนโด ค่าผ่อนรถยนต์ ค่าน้ำมันรถ และ
ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น

โดยเมื่อได้ตัวเลขที่ต้องจ่ายต่อเดือนนั้นมาแล้ว ขั้นตอนต่อมา ก็ลองคำนวณดูว่าเงินที่เราต้องจ่ายนี้ในช่วงระยะข้างหน้าอย่างน้อย 3-6 เดือน จะเป็นเงินประมาณเท่าไหร่  ซึ่งช่วงระยะเวลาที่ใช้ในการคำนวณนี้ก็อาจจะมีการปรับขึ้นลงได้ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ตัวอย่างเช่น ค่าผ่อนคอนโด 15,000 บาท, ค่าผ่อนรถยนต์ 8,000 บาท, ค่าน้ำมันรถ 2,000 บาท และค่าโทรศัพท์ 700 บาท
 
จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายคงที่รวมต่อเดือน 25,700 บาท เราจะต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินประมาณ 77,100 - 154,200 บาท* (*ตัวเลขการคำนวณที่จะเกิดในกรอบช่วงเวลาระยะเวลา 3-6 เดือน ซึ่งเป็นการตั้งสมมุติฐานเท่านั้น โดยในสถานการณ์จริงอาจตั้งเป้าหมายเงินสำรองฉุกเฉิน 12 เดือน หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและปัจจัยต่างๆ)
 
 
“กองที่ 2: เงินสำรองด้านสุขภาพ” เพื่อรับมือกับปัญหาด้านสุขภาพที่หลายคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เป็นเงินที่แบ่งมาซื้อประกันเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงต่าง ๆ เงินสำรองด้านสุขภาพ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีที่อาการของโรคมีลักษณะรุนแรงต้องรักษาเป็นการเร่งด่วน หรือต้องผ่าตัดด่วน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต การมีประกันคุ้มครองก็อาจช่วยลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลงได้
 
ซึ่งการจะพิจารณาหรือคัดเลือกประกันที่มีความเหมาะสมนั้น ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลว่าประกันส่วนไหนมีความเหมาะสมหรือคุ้มค่าที่สุด แต่ก็มีประกันสุขภาพหรือประกันอุบัติเหตุบางรายการที่มีความคุ้มครองได้อย่างครอบคลุม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาก่อนตัดสินใจซื้อเช่นกัน

มาถึง “กองที่ 3: เงินช่วยทำงาน” หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นส่วนของการลงทุนให้เงินช่วยทำงาน โดยแบ่งเงินมาลงทุนใน “กองทุนรวม” สร้างโอกาสให้เงินมีผลตอบแทนที่งอกเงย เพื่อช่วยให้มีรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง  ข้อดีคือมีผู้เชี่ยวชาญช่วยบริหารเงินให้ด้วย ซึ่งปัจจุบันกองทุนรวมสามารถเลือกลงทุนได้หลากหลายสินทรัพย์ ตั้งแต่การลงทุนที่มี
ความเสี่ยงต่ำไปจนถึงความเสี่ยงสูง มีทั้งการลงทุนกับสินทรัพย์ที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ โดยผลตอบแทนที่ได้ก็จะแตกต่างกัน ขึ้นกับประเภทกองทุนที่ไปลงทุนและความสามารถในการบริหารกองทุนของผู้จัดการกองทุนนั่นเอง

หากใครกังวลว่า แล้วถ้าจะลงทุน จะต้องใช้จำนวนเงินเท่าไหร่ จำนวนมากหรือเปล่า  ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมในไทย มีการเปิดกองทุนที่ใช้เงินลงทุนไม่มากหลักร้อยก็สามารถลงทุนได้แล้ว หรือบางกองทุนก็ไม่ได้มีการกำหนดจำนวนลงทุนขั้นต่ำเลย เพื่อเปิดอิสระและโอกาสให้แก่ทุกคนที่สนใจจะลงทุน
 
อย่าลืมว่า ในแต่ละวันที่ผ่านไป คุณไม่อาจรู้ได้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง สำหรับใครที่มีรายได้ประจำ อาจจะเกิดผลกระทบไม่มาก แต่กลุ่ม “อาชีพอิสระ” หรือ “อาชีพฟรีแลนซ์” นั้น มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ ยิ่งต้องมีวินัยในการออม ‘มีมาออมมาก มีน้อย ออมน้อย’ สำคัญให้ทำอย่างสม่ำเสมอ

ทุกครั้งที่มีรายได้เข้ามาอย่าลืมใช้สูตรแบ่งเงิน 3 กอง ข้างต้น เชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเงินขาดมือให้อยู่หมัด มีทั้งอิสระทางอาชีพและมีอิสรภาพทางการเงินได้อย่างแน่นอน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ต.ค. 2564 เวลา : 16:22:55
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 12:04 am