การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
มจธ. คืบหน้าเตรียมความพร้อมสถานที่ผลิตวัคซีน COVID-19 พร้อมห้องปฏิบัติการเฉพาะทางวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติยาชีววัตถุและวัคซีน มาตรฐานสากล ใช้เองในประเทศ


เมื่อสถานการณ์ของโรค COVID-19 ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีท่าทีจะคลี่คลาย อีกทั้งมีความเป็นไปได้ว่าเราจะยังต้องเผชิญกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 นี้ไปอีกระยะหนึ่ง การฉีดวัคซีนถือเป็นการป้องกันโรคดังกล่าวที่ได้ผลอย่างมาก แต่ประเทศไทยยังคงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาวัคซีนหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 จากต่างประเทศ และดำเนินการผลิตขึ้นใช้เองในประเทศ เพื่อป้องกันความสูญเสีย และถือเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านวัคซีน (Vaccine Security) ให้กับประเทศ 


ดังนั้น จากความต้องการผลิตวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ขึ้นในประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงได้ดำเนิน “โครงการเตรียมความพร้อมในการเป็นสถานที่ผลิต COVID-19 Vaccine ตามความต้องการของประเทศ” โดยใช้โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ ณ พื้นที่การศึกษาของ มจธ. บางขุนเทียน ที่นับเป็นโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งแรกในประเทศไทย พร้อมกับการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเฉพาะทางด้านการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของยาชีววัตถุและวัคซีนที่ได้มาตรฐานสากล ขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้แผนเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของประชาชนไทย เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2564 โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

 
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ หรือ NBF เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ทั้งในด้านกำลังคน องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ที่ทั้ง 2 องค์กรมีอยู่มาผนึกกำลังร่วมมือกันในการดำเนินงาน ทำให้โรงงานต้นแบบฯ มีความพร้อมและได้รับความไว้วางใจในการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเทคโนโลยีกระบวนการผลิตวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 เพื่อผลิตวัคซีนขึ้นใช้เองในประเทศตามความต้องการของรัฐ ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ เพื่อให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการผลิตวัคซีน COVID-19 หรือการระบาดของเชื้ออุบัติใหม่ โดยใช้กระบวนการผลิตระบบ Single Use System ที่สามารถรองรับการผลิตได้สูงสุด 2,000 ลิตรต่อรอบการผลิต นับเป็นเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเมื่อดำเนินการติดตั้งเครื่องมือเครื่องจักรเสร็จสิ้นแล้ว มจธ. ร่วมกับบริษัท คินเจนไบโอเทค จำกัด ซึ่งเป็น Strategic partner และมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิต พร้อมที่จะดำเนินทดลองทดสอบระบบเพื่อให้โรงงานนี้สามารถผลิตวัคซีน COVID-19 ตามความต้องการของประเทศได้ต่อไปในอนาคตอันใกล้
 

รวมถึงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเฉพาะทางด้านการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของยาชีววัตถุและวัคซีนมาตรฐานสากล (Biopharmaceutical Characterization Laboratory; BPCL) นั้น รศ. ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า มีความสำคัญและจำเป็น เพื่อให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานด้านห้องปฏิบัติการฯ เพื่อรองรับการผลิตวัคซีน COVID-19 ขึ้นใช้เองในประเทศและเพื่อให้การรับรองคุณภาพและประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งในต่างประเทศก็ต้องใช้ห้องปฏิบัติการนี้เช่นกัน อีกทั้งจะช่วยในการพัฒนาบุคลากรด้านการควบคุมคุณภาพในการผลิตวัคซีน COVID-19 รวมถึงยาชีววัตถุและวัคซีนอื่นๆขึ้นใช้เองในประเทศ และเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัคซีน และยาชีววัตถุที่ได้มาตรฐาน สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ นำโดย ดร.อัญชลี  ศิริพิทยาคุณกิจ และ พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตและควบคุมคุณภาพด้านวัคซีนและยาชีววัตถุของประเทศ ได้เข้าเยี่ยมชมเพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการฯ ทั้งด้านการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนตามมาตรฐาน ตามรูปแบบที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเครื่องมือในระบบ Single Use System พร้อมกระบวนการผลิตวัคซีน ณ มจธ. บางขุนเทียน โดยมี คณะผู้บริหาร มจธ. พร้อมด้วยผศ.สุชาดา ไชยสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการเตรียมความพร้อมในการเป็นสถานที่ผลิต COVID-19  มจธ. ให้การต้อนรับ ซึ่งผลการดำเนินการเตรียมความพร้อมในการเป็นสถานที่ผลิตวัคซีน -19 เป็นไปตามแผนที่วางไว้คิดเป็นร้อยละ 70 ของโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งมอบครุภัณฑ์ Single Use System อีก 5 รายการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งมอบได้ภายใน 31 ธันวาคม 2564
 
 

นอกจากนี้ผู้บริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติและคณะผู้เชี่ยวชาญฯ ยังได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการเฉพาะทางด้านการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของยาชีววัตถุและวัคซีน (Biopharmaceutical Characterization Laboratory; BPCL) ประกอบด้วย 1) Protein Characterization  2) Biologic Testing  3) Microbial & Cell Line Characterization และ 4) Viral Vector Characterization พร้อมชมการสาธิตการใช้เครื่องวิเคราะห์แยกชนิดเชื้อจุลินทรีย์ด้วยเทคนิค MALDI-TOF/MS  ณ ชั้น 4 อาคารวิจัยและนวัตกรรมกระบวนการชีวภาพ โดยมี รศ. ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ที่ปรึกษามหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับ
 
สำหรับความคืบหน้าของห้องปฏิบัติการฯ มีการดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ คิดเป็นร้อยละ 90 ในอนาคตจะสามารถใช้ห้องปฏิบัติการนี้เป็นศูนย์กลางด้านการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของยาชีววัตถุและวัคซีนของประเทศและในภูมิภาคอาเซียน โดยมหาวิทยาลัยได้มีการลงนามความร่วมมือการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและการพัฒนาเทคนิคด้านการวิเคราะห์ยาชีววัตถุและวัคซีนจาก Shimadzu Asia-Pacific นอกจากนี้ มจธ.อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อขอรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2566 และพร้อมดำเนินการเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ปี 2565 ต่อไปเพื่อลดการใช้บริการทดสอบที่ต่างประเทศและเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตยาชีววัตถุที่เข้ามาลงทุนในประเทศต่อไป

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ธ.ค. 2564 เวลา : 12:45:25
16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 2:54 pm