การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรม สบส.เผยนักเรียน กว่าร้อยละ 68 ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงรับประทานอาหารร่วมกันจากความเคยชิน


 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยนักเรียน กว่าร้อยละ 68 ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงรับประทานอาหารร่วมกันจากความเคยชิน หรือมองว่าร่วมรับประทานอาหารกับบุคคลใกล้ชิดไม่เสี่ยงโรคโควิด 19 แนะสถาบันการศึกษา และผู้ปกครองร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง เน้นย้ำให้นักเรียน/บุตร หลาน ตั้งสติคิดว่าทุกคนมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อ จนเกิดการปรับเปลี่ยนแนวคิด พฤติกรรมสู่วิถีชีวิตใหม่ห่างไกลโควิด 19


 
 
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (COVID 19) ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่ก็ยังมิอาจไว้วางใจได้เสียทีเดียว ด้วยการมาของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” (Omicron) ประกอบกับการเปิดภาคเรียนของเด็กนักเรียน ที่ทำให้เกิดกิจกรรมการรวมกลุ่มของนักเรียน ก็อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ได้ โดยจากการเก็บข้อมูลจากนักเรียนที่กำลังศึกษาระดับมัธยม ซึ่งมีพฤติกรรมล้อมวงรับประทานอาหารร่วมกันกับเพื่อน และคนในครอบครัว ใน 19 จังหวัด จำนวน 14,387 ราย ระหว่างวันที่ 1-25 พฤศจิกายน 2564 โดยกองสุขศึกษา กรม สบส.พบความคิดเห็น 5 อันดับแรก ซึ่งเป็นสาเหตุให้นักเรียนเลือกรับประทานอาหารร่วมกัน ดังนี้ 1)เป็นวัฒนธรรมที่เคยชิน ร้อยละ 68.47  2)เป็นคนใกล้ชิด ร้อยละ 68.19 3)เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ร้อยละ 63.57 4)ประเภทอาหารที่กินเอื้อต้องให้กินร่วมกัน 56.82 และ 5)กินอาหารร่วมกันช่วยเพิ่มความสนุกสนาน ร้อยละ 53.87 โดยอาหารที่นักเรียนส่วนใหญ่รับประทานร่วมกับเพื่อนหรือครอบครัว ได้แก่ หมูกระทะ สุกี้ ร้อยละ 56.8 ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคโควิด 19 ดังนั้น กุญแจสำคัญในการผลักดันให้เยาวชนเกิดการปรับเปลี่ยนความคิดเห็น ลด ละ เลิก แนวคิด ในการร่วมวงรับประทานอาหารร่วมกันนั้น ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และครอบครัว จะต้องร่วมให้ความรู้ ความเข้าใจ ถึงความเสี่ยง และอันตรายจากการรับประทานอาหารร่วมกันที่อาจจะทำให้มีการแพร่กระจายของโรคโควิด 19 มีการปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่าง พร้อมแนะนำวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ให้นักเรียน/บุตร หลาน มีการเว้นระยะห่างในการรับประทานอาหาร ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน ล้างมือให้สะอาด รับประทานอาหารสุกใหม่ และแยกสำรับอาหารเฉพาะแต่ละคน เกิดการตั้งสติคิดว่าทุกคนคือผู้ติดเชื้อ จนนักเรียน/บุตร หลาน มีการปรับเปลี่ยนความคิดเห็น และพฤติกรรมสุขภาพให้ถูกต้องเหมาะสมกับวิถีชีวิตใหม่ที่ห่างไกลโรคโควิด 19 

 
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวเพิ่มเติมว่า กรม สบส.ได้มอบหมายให้กองสุขศึกษา ดำเนินการผลิต และเผยแพร่สื่อความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อโควิดแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention : UP) 10 ข้อ ดังนี้ ออกจากบ้านเมื่อจำเป็น เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร สวมหน้ากากอนามัยทับด้วยหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ อย่าใช้มือสัมผัสหน้ากาก รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก ปาก หากเป็นกลุ่มเสี่ยงให้หลีกเลี่ยงออกนอกบ้าน ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ แยกของใช้ส่วนตัว กินอาหารปรุง สุก ใหม่ แยกสำรับ ช้อนกลางส่วนตัว และหากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงให้ตรวจด้วย ATK ทุก 3 - 5 วัน ซึ่งจะมีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ร่วมเผยแพร่สื่อความรู้ที่ผลิตลงไปยังกลุ่มนักเรียน ซึ่งหากทุกคนร่วมมือกันในการลด ละ เลิก พฤติกรรมเสี่ยง เชื่อว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ก็จะผ่านพ้นไปโดยเร็ว และเมื่อการระบาดของโรคได้ผ่านพ้นไปแล้ว ทุกคนก็จะสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติสุขดังเดิม ทั้งนี้ ประชาชนที่ต้องการสืบค้นข้อมูลด้านสุขภาพ แนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ หรือการดูแล ป้องกันตนเองจากโรคโควิด 19 สามารถสืบค้นข้อมูลได้ที่เว็บไซต์คลังความรู้สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (http://healthydee.moph.go.th)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ธ.ค. 2564 เวลา : 12:51:01
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 2:42 am