เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ การปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ของ EU ต่อโอกาสของผู้ส่งออกไทย


ประเด็นสำคัญ

สหภาพยุโรปได้เดินหน้าในการในเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) อย่างต่อเนื่อง ตามแผน European Green Deal นอกเหนือจากมาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้าข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2566 แล้วนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 64 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ได้ตกลงร่วมกันในการปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับสินค้าและบริการในสหภาพยุโรปที่จะช่วยในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate change เพื่อส่งเสริมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคของพลเมืองในประเทศ  ซึ่งนอกจากจะปรับลด VAT สำหรับสินค้าที่ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังได้มีการปรับลด VAT สำหรับสินค้าและบริการที่ส่งเสริมการรักษาสุขภาพและสินค้าและบริการที่เปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลด้วย โดยคาดว่าอัตราภาษีใหม่ จะเริ่มใช้ได้หลังจากที่สภายุโรปพิจารณาให้ความเห็นชอบในช่วงมีนาคมของปีหน้านี้  
 
 
ทั้งนี้ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มขั้นต่ำในสหภาพยุโรปนั้น ปัจจุบันอยู่ที่ 15% และจะมีการยกเว้นให้กับสินค้าและบริการที่ต้องการส่งเสริม โดยจะปรับลด VAT ขั้นต่ำลงมาอยู่ที่ 5%  ซึ่งประเทศสมาชิกสามารถลดอัตราภาษีมากกว่าที่ตกลงได้ แต่จะต้องอยู่ภายใต้หมวดสินค้าและบริการที่กำหนด และไม่กระทบการดำเนินการของแผน European Green Deal ซึ่งสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมที่จะได้รับการปรับลดอัตราภาษี
 
ครั้งนี้ ได้แก่ จักรยาน/จักรยานไฟฟ้าและบริการที่เกี่ยวข้อง ระบบทำความร้อน/ความเย็น/พลังงานไฟฟ้าและก๊าซชีวมวลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งแผงผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในบ้านและอาคาร ขณะเดียวกัน ยังมีการทำข้อตกลงเพื่อการยกเลิกการจัดเก็บ VAT ในอัตราที่ต่ำสำหรับสินค้าปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง ซึ่งจะเริ่มในปี 2032 เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยมีเวลาในการปรับตัว สำหรับสินค้าด้านสุขอนามัย ที่จะได้รับการปรับลด VAT ได้แก่ เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย และสินค้าที่จำเป็นสำหรับผู้พิการ เป็นต้น ขณะที่สินค้าและบริการด้านการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่จะได้รับการปรับลด VAT ได้แก่ การให้บริการอินเตอร์เน็ต รวมถึงบริการสื่อถ่ายทอดสด (live streaming) สำหรับการจัดงานกีฬาและวัฒนธรรม เป็นต้น
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นโยบายด้งกล่าว จะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นความต้องการใช้สินค้าพลังงานทดแทนและสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสหภาพยุโรปเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออกรถจักรยานและส่วนประกอบรถจักรยาน แม้ว่าตลาดรถจักรยานส่งออกไปต่างประเทศจะไม่ใหญ่มาก แต่ตลาดสหภาพยุโรปถือเป็นตลาดหลักในการส่งออกรถจักรยานและส่วนประกอบของไทย โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกถึงร้อยละ 49.7 ของมูลค่าการส่งออกรถจักรยานและส่วนประกอบรวมของไทย ซึ่งในช่วง ม.ค. – ต.ค. 64 มีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปกว่า 1,600 ล้านบาท สูงกว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2563 ตลอดทั้งปี ถึงร้อยละ 59  ประกอบกับหลายๆ ประเทศในสหภาพยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ ได้มีนโยบายปรับเปลี่ยนเมือง ที่เป็นมิตรต่อการปั่นจักรยานเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นคาดว่านโยบายในการลด VAT ที่จะเริ่มขึ้นในปีหน้านี้ จะช่วยกระตุ้นการส่งออกจักรยานและส่วนประกอบให้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2565 
 
นอกจากนี้ สินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นเพิ่มเติม ได้แก่ การส่งออกสินค้าอุปกรณ์ทำความเย็นที่มีเทคโนโลยีประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ซึ่งปัจจุบันไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป เป็นสัดส่วนร้อยละ 21.5 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบรวมของไทย โดยในช่วง ม.ค. – ต.ค. 64 มีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปแล้วกว่า 35,879 ล้านบาท ดังนั้น คาดว่า ความต้องการในสินค้าเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากนโยบายดังกล่าว ขณะที่สินค้าในหมวดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ จะยังคงมีความต้องการสูงอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดส่งออกเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.3 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทย 
 
ซึ่งในช่วงสิบเดือนแรกของปี 64 นี้ ไทยได้ส่งออกเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปสหภาพยุโรปแล้วเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 4,483 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจะทำให้ยอดส่งออกในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 
จากมาตรการลด VAT และจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในสหภาพยุโรปช่วงปลายปี 2564 นี้
โดยสรุป นโยบายการปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของสหภาพยุโรปในครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะส่งเสริมให้พลเมืองในสหภาพยุโรปมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหันมาใส่ใจทั้งในเรื่องของสุขภาพ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยเองในปัจจุบัน ก็มีการนำเครื่องมือทางภาษีดังกล่าว มาใช้เช่นเดียวกัน โดยมีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่ต้องการส่งเสริม เช่น สินค้าที่ส่งออกไปต่างประเทศ และสินค้าและบริการที่มีความจำเป็น อาทิ การรักษาพยาบาล หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงหน้ากากอนามัย ซึ่งปัจจุบันได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แต่สำหรับการใช้บริการทางอินเตอร์เน็ต หรือการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศ เช่น รถจักรยาน นั้น ไทยยังคงมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังคงต้องติดตามการดำเนินการของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะนโยบายภาษีเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่การบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการในอนาคตของไทย โดยล่าสุด กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตได้มีการชี้แจงว่าอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอน และการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนในต้นปี 2565 นี้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ธ.ค. 2564 เวลา : 17:39:56
07-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 7, 2024, 4:03 pm