เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปี 2565... กับความท้าทายยุคโอมิครอน


ประเด็นสำคัญ

- ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 กลับมาอีกครั้งในช่วงรอยต่อระหว่างปี 2564 เข้าสู่ปี 2565 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนอกจากจะเป็นตัวแปรที่มีผลต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังมีนัยต่อเนื่องมายังการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในปี 2565 ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากว่า ไทยสามารถตีกรอบควบคุมการระบาดของโอมิครอนได้ดีและทันท่วงที ธนาคารพาณิชย์ก็จะยังคงมีเวลาที่จะสามารถพลิกฟื้นรายได้จากธุรกิจหลักและผลการดำเนินงานในภาพรวมกลับมาได้ แต่ระดับกำไรสุทธิ และมาตรวัดความสามารถในการทำกำไร อาทิ ROA และ NIM จะฟื้นตัวในกรอบจำกัด และจะยังอยู่ต่ำกว่าระดับในช่วงก่อนโควิด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบธ.พ. ไทย) ในปี 2565 จะอยู่ที่ราว 1.86 แสนล้านบาทในปี 2565 ต่ำกว่าระดับกำไรสุทธิเฉลี่ยช่วงก่อนโควิดที่ทำได้สูงกว่า 2.00 แสนล้านบาทต่อปี  

- สินเชื่อระบบธ.พ. ไทยในปี 2565 มีแนวโน้มเติบโตในกรอบที่ชะลอลงเล็กน้อยมาที่ 4.0-5.5% จากที่คาดว่าจะปิดสิ้นปี 2564 ที่ 6.0% แต่การเติบโตของสินเชื่อจะถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยปกติมากขึ้น อย่างไรก็ดีคุณภาพสินเชื่อยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่า สัดส่วน NPLs ในปี 2565 จะขยับขึ้นไปที่กรอบ 3.20-3.50% ต่อสินเชื่อรวม แม้ว่าจะยังคงได้รับอานิสงส์จากการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธปท. 
 
- ในช่วงหลังจากนี้ คงต้องติดตามระดับความเสี่ยงจากการระบาดของโอมิครอนอย่างใกล้ชิด โดยหากความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 จากสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มสูงขึ้น และมาตรการสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจยาวนานกว่าช่วงต้นปี 2565 ก็คงจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังรายได้จากธุรกิจหลัก และภาพรวมของผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ด้วยเช่นกัน  ดังนั้นในปี 2565 จะเป็นปีที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องเดินหน้าธุรกิจอย่างระมัดระวัง และต้องเตรียมวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ดุเดือด โดยเฉพาะค่าธรรมเนียม สินเชื่อดิจิทัล และการแสวงหาโอกาสในพื้นที่ธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกการเงินยุคดิจิทัล
ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2565 ขึ้นกับความสำเร็จในการล้อมกรอบการระบาดของโอมิครอน 
 
-ในปี 2565 ที่กำลังจะมาถึง คงมาพร้อมกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ส่งผลทำให้ทางการไทยต้องยกระดับมาตรการควบคุมป้องกันสถานการณ์การระบาดให้มีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งหากว่า ไทยสามารถตีกรอบควบคุมการระบาดของโอมิครอนได้ดีและทันท่วงที รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว ก็คงส่งผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเผชิญภาวะหยุดชะงักแค่เพียงในช่วงต้นปี 2565 แต่มีโอกาสที่จะกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงหลังจากนั้น (หรือช่วงประมาณไตรมาสที่ 2/2565 เป็นต้นไป) และทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังคงสามารถประคองแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าปี 2564 ซึ่งภายใต้เงื่อนไขสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจตามภาพดังกล่าว น่าจะเอื้อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถพลิกฟื้นรายได้จากธุรกิจหลักและผลการดำเนินงานในภาพรวมกลับมาได้เช่นเดียวกัน
 
อย่างไรก็ดี ระดับการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ที่ยืดเยื้อของโควิด-19 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มาตรวัดความสามารถในการทำกำไรของระบบ ธ.พ. ไทย (18 แห่ง) ในปี 2565 จะยังคงฟื้นตัวในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด และจะยังไม่สามารถกลับไปเทียบเท่ากับปี 2561-2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤตโควิดได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ระบบธ.พ. ไทยอาจบันทึกกำไรสุทธิในปี 2565 ที่ประมาณ 1.86 แสนล้านบาท ซึ่งแม้จะเพิ่มขึ้น 5.0% จากกำไรสุทธิของปี 2564 ที่คาดไว้ที่ 1.78 แสนล้านบาท แต่ก็จะยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับกำไรสุทธิเฉลี่ยช่วงก่อนโควิดที่ทำได้สูงกว่า 2.00 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) มีแนวโน้มขยับขึ้นมาที่ 0.90% ในปี 2565 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 0.85% แต่ก็ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 1.27% ในช่วงก่อนโควิดด้วยเช่นกัน
 
- ในกรณีที่สามารถดูแลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ คาดว่า สินเชื่อของระบบธ.พ. ไทยในปี 2565 จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่อาจถูกขับเคลื่อนด้วยตัวแปรทางเศรษฐกิจตามปกติมากขึ้นกว่าในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งการเติบโตของสินเชื่อในช่วงนั้นมีแรงผลักดันจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้กับลูกหนี้หลายกลุ่ม โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ ทั้งในส่วนที่เป็นไปตามโครงการสินเชื่อของธปท. (สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์พักหนี้) และในส่วนของโครงการสินเชื่อที่ดำเนินการโดยสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ประกอบกับลูกหนี้บางส่วนก็อยู่ในช่วงการพัก และ/หรือชะลอการชำระหนี้ด้วยเช่นกัน 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2565 ที่น่าจะทยอยฟื้นตัวกลับมาอย่างค่อยเป็นค่อยไปอาจทำให้แรงหนุนจากการพักและ/หรือชะลอการชำระหนี้ที่มีต่อยอดคงค้างสินเชื่อน้อยลง และลูกหนี้บางส่วนน่าจะสามารถกลับมาเริ่มทยอยชำระคืนหนี้ได้มากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สินเชื่อระบบธ.พ. ไทยในปี 2565 จะขยายตัวที่ประมาณ 4.8% (กรอบคาดการณ์ที่ 4.0-5.5%) ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่คาดว่าจะเติบโตประมาณ 6.0% 
 
สินเชื่อธุรกิจปี 2565 อาจเติบโตประมาณ 4.2-5.2% โดยมีแรงหนุนจากการเบิกใช้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจในประเทศและธุรกิจระหว่างประเทศ ตลอดจนสินเชื่อสำหรับเสริมสภาพคล่องและเพื่อการลงทุน ตามลำดับ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยปี 2565 อาจเติบโตประมาณ 4.0-6.0% สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับที่คาดว่าจะปิดสิ้นปี 2564 ที่ 4.0% อย่างไรก็ดีกรอบการฟื้นตัวของสินเชื่อรายย่อยยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้เดิมของภาคครัวเรือนที่มีอยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิตในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน 
 
ทิศทางการเติบโตของสินเชื่อดังกล่าวข้างต้นจะช่วยประคองให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Income) ฟื้นตัวขึ้นตาม ขณะที่สถาบันการเงินมีแนวโน้มกระจายพอร์ตสินเชื่อไปยังพอร์ตที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกันมากขึ้น ซึ่งก็จะดำเนินการควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายในส่วนของเงินฝากให้มีประสิทธิภาพ ประกอบกับในปี 2565 ยังคงได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และธปท. ก็ได้มีการขยายเวลาปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF fee) ต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ในปี 2565 มีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อยไปที่ระดับ 2.60% (กรอบคาดการณ์ที่ 2.50-2.70%) เทียบกับตัวเลขคาดการณ์สำหรับปี 2564 ที่ 2.54%  

โจทย์เฉพาะหน้ายังเป็นเรื่องการดูแลลูกหนี้ และเร่งจัดการปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ในเชิงรุก รับมือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากโอมิครอน
 
- คงต้องยอมรับว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้โจทย์เฉพาะหน้าของธนาคารพาณิชย์ยังคงเป็นการเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยคงต้องปรับมาตรการช่วยเหลือให้เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละกลุ่ม เพราะลูกหนี้แต่ละรายมีปัญหาด้านรายได้และเงื่อนไขการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน ซึ่งแนวทางที่จะปรับใช้จะมุ่งเน้นที่การประเมินความสามารถในการชำระหนี้และปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว ขณะที่ลูกหนี้ในกลุ่มที่อ่อนไหวต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจและยังคงต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติมก็จะมีเม็ดเงินช่วยเหลือจากโครงการสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งน่าจะมีวงเงินเหลือสำหรับใช้ในปี 2565 ที่ประมาณ 115,000 ล้านบาท (ณ 13 ธ.ค. 2564 มีสินเชื่อที่อนุมัติแล้วประมาณ 134,900 ล้านบาท คิดเป็น 54% ของวงเงินโครงการ) หรืออาจจะมีการโยกเม็ดเงินจากโครงการพักทรัพย์พักหนี้ที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 70,556 ล้านบาทมาบางส่วน (ธปท. เคยส่งสัญญาณว่าสามารถปรับมาตรการในส่วนนี้ได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์) สำหรับในส่วนของลูกหนี้รายย่อยนั้น ทางเลือกที่เปิดเพิ่มเติมในปีหน้าก็จะเป็นการรวมหนี้ ซึ่งสามารถรวมหนี้ข้ามสถาบันการเงินและ/หรือผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นได้
 
- นอกจากนี้ คุณภาพสินเชื่อยังเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน เพราะมาตรการดูแลเพื่อสกัดความเสี่ยงจากโควิด-19 อาจส่งผลทำให้ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติได้อย่างเต็ม ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสถานการณ์ด้านรายได้และกระแสรายรับของภาคธุรกิจ ตลอดจนภาวะการมีงานทำของภาคครัวเรือน ให้ยังไม่กลับมาเป็นปกติเช่นกัน 
 
ดังนั้นเท่ากับว่า แม้เศรษฐกิจในปี 2565 จะเริ่มมีทิศทางดีขึ้น แต่ก็จะยังคงเห็นสินเชื่อด้อยคุณภาพทยอยขยับสูงขึ้นในเวลาเดียวกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ (NPL ratio) จะขยับสูงขึ้นจากที่คาดว่าจะปิดสิ้นปี 2564 ที่ 3.20% ต่อสินเชื่อรวม ไปที่ 3.30% ต่อสินเชื่อรวมในปี 2565 (กรอบคาดการณ์ 3.20-3.50%) ซึ่งย้ำภาพการขยับขึ้นของ NPL ratio เป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน โดยคงต้องติดตามสัญญาณไหลเข้าของหนี้ด้อยคุณภาพในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ตลอดจนสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อมในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ขนส่งทางอากาศ และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่การฟื้นตัวจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของกำลังซื้อภายในประเทศเป็นสำคัญ 
 
แม้ประเด็นคุณภาพสินเชื่อจะยังคงอยู่ในวิสัยที่สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการได้ แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ลากยาวและสร้างความเปราะบางให้กับลูกหนี้หลายกลุ่ม ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องเตรียมรับมือและเร่งแก้ปัญหาเรื่องนี้ในเชิงรุก ตั้งแต่ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มลูกหนี้ธุรกิจและรายย่อยและทำการปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้อย่างต่อเนื่องโดยใช้ช่วงจังหวะเวลาที่ในปี 2565 ยังคงได้รับอานิสงส์จากการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธปท.อยู่ อย่างไรก็ดี มองว่า ธนาคารพาณิชย์จะยังให้น้ำหนักความสำคัญกับการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ตั้งสำรองฯ) โดยแม้ว่าระดับการตั้งสำรองฯ ในปี 2565 อาจจะผ่อนลงมาจากที่เร่งตั้งสำรองฯ ไปมากในช่วงรับมือกับโควิด-19 ในปี 2563-2564 แต่คงต้องยอมรับว่าการตั้งสำรองฯ ยังมีแนวโน้มอยู่ในกรอบที่สูงกว่าระดับการตั้งสำรองฯ ในภาวะปกติ เพื่อรองรับสถานการณ์หนี้เสียที่ยังต้องใช้เวลาในการแก้ไข โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost) ในปี 2565 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.27% (กรอบคาดการณ์ 1.25-1.30%) ชะลอลงจากตัวเลขคาดการณ์สำหรับปี 2564 ที่ 1.40% แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 1.23% ในปี 2561-2562

ปรับกลยุทธ์ เตรียมรุกแพลตฟอร์มสินเชื่อออนไลน์ และตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล  
 
ในช่วงรอยต่อระหว่างปี 2564-2565 จะเป็นช่วงที่เห็นสัญญาณการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และท่าทีที่มีต่อตลาดแพลตฟอร์มสินเชื่อออนไลน์และบริการเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงินได้อย่างชัดเจน ซึ่งสถาบันการเงินและผู้เล่นอื่นๆ แต่ละรายก็จะมีแนวทางเพื่อเดินหน้ารุกตลาดในส่วนนี้ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการแยกตั้งบริษัทย่อย และ/หรือการจับมือกับพันธมิตรเพื่อเดินหน้าให้บริการทางการเงินในโลกดิจิทัล ซึ่งขอบเขตธุรกิจที่สถาบันการเงิน และ/หรือกลุ่มธุรกิจทางการเงินไม่ว่าจะมีสถาบันการเงินหรือบริษัทโฮลดิ้งเป็นบริษัทแม่ ก็จะยังคงทำได้ภายใต้การกำกับดูแลของธปท. ตามเดิม
 
อย่างไรก็ดี สำหรับบริการด้านสินเชื่อนั้น คาดว่า สีสันของตลาดสินเชื่อรายย่อยในปี 2565 ส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ที่ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล หรือ Digital P-loan  โดย ณ ขณะนี้ มีสถาบันการเงินและนอนแบงก์ที่ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ในปัจจุบันได้รับอนุญาตให้สามารถปล่อยสินเชื่อ Digital P-loan แล้ว  ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สถานการณ์การแข่งขันของ Digital P-loan เพื่อช่วงชิงฐานลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาดน่าจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงหลังจากนี้ โดยคาดว่า ยอดคงค้างของ Digital P-loan มีโอกาสเติบโตขึ้นแตะระดับสูงกว่า 10,000 ล้านบาทได้ในปี 2565 จากยอดคงค้างที่ 2,087 ล้านบาทในเดือนต.ค. 2564

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีความเสี่ยงที่ต้องจับตาเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้ธนาคารพาณิชย์จะยังคงต้องขับเคลื่อนธุรกิจในปี 2565 ด้วยความระมัดระวัง โดยแม้ว่าความเสี่ยงจากโควิดจะถูกจำกัดวงไว้ได้อย่างทันท่วงที และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2565 สามารถประคองทิศทางการฟื้นตัวได้ แต่ผลกระทบที่เรื้อรังจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า แม้ระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศอาจบันทึกกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาที่ 1.86 แสนล้านบาทในปี 2565 (เทียบกับตัวเลขคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2564 ที่ 1.78 แสนล้านบาท) แต่ก็จะยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับกำไรสุทธิเฉลี่ยช่วงก่อนโควิดที่ทำได้สูงกว่า 2.00 แสนล้านบาทต่อปี เช่นเดียวกับมาตรวัดความสามารถในการทำกำไร อาทิ ROA และ NIM ที่แม้จะขยับสูงขึ้นในปี 2565 แต่ก็จะยังไม่สามารถกลับไปเทียบเท่ากับปี 2561-2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤตโควิดได้ 
 
ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับสู่ภาพปกติ อาจส่งผลทำให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อระบบธ.พ. ไทยในปี 2565 ชะลอลงมาอยู่ที่ 4.8% จากที่คาดว่าจะเติบโต 6.0% ในปี 2564 ขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพยังคงเป็นประเด็นที่ธนาคารพาณิชย์สามารถบริหารจัดการได้ แต่ยังต้องเร่งแก้ไขปัญหาในเชิงรุก ควบคู่ไปกับติดตามสัญญาณไหลเข้าของหนี้ด้อยคุณภาพในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะหนี้ไม่มีหลักประกัน และสินเชื่อ SMEs อย่างใกล้ชิด ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว คาดว่า แนวโน้ม NPLs ปี 2565 จะขยับเข้าหาระดับประมาณ 3.30% ต่อสินเชื่อรวม จากระดับประมาณ 3.20% ณ สิ้นปี 2564 ขณะที่ระดับการตั้งสำรองฯ ในปี 2565 จะผ่อนคลายลงไม่มาก และยังคงอยู่สูงกว่าระดับการตั้งสำรองฯ ในภาวะปกติ โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost) ในปี 2565 อาจย่อตัวลงไปที่กรอบประมาณ 1.25-1.30% จากตัวเลขคาดการณ์สำหรับปี 2564 ที่ 1.40% 
 
อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนอย่างใกล้ชิด โดยหากความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 จากสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มสูงขึ้น และมาตรการสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจยาวนานกว่าช่วงต้นปี 2565 ก็คงจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังรายได้จากธุรกิจหลัก และภาพรวมของผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ด้วยเช่นกัน โดยในกรณีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สินเชื่อระบบธ.พ.ไทยอาจขยับลงกรอบล่างของช่วงประมาณการปี 2565 ซึ่งคาดไว้ที่ 4.0-5.5% สวนทางกับทิศทางของสัดส่วน NPLs ที่อาจขยับสูงขึ้นเข้าใกล้กรอบบนของช่วงประมาณการที่ 3.20-3.50% ของสินเชื่อรวม
 
สำหรับสถานการณ์ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หากไม่นับรวมความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์แล้ว คงต้องยอมรับว่า ความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้าจะเป็นเรื่องการปรับแนวทางการดำเนินงานและเตรียมวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับปี 2565 ซึ่งคาดว่า จะเป็นปีแห่งการแข่งขันที่ดุเดือดของสนามบริการทางการเงิน โดยเฉพาะค่าธรรมเนียม สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และการแสวงหาโอกาสจากดิจิทัลแพลตฟอร์มในพื้นที่ธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกการเงินยุคใหม่ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่ง สร้างโมเดลการเติบโต และชดเชยรายได้ที่สะดุดไปในช่วงผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 
 

LastUpdate 23/12/2564 11:57:19 โดย : Admin
02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 5:30 am