เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC มอง กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2022 คาดความเสี่ยงเงินเฟ้อและนโยบายการเงินของเศรษฐกิจหลักจะไม่เป็นแรงกดดันให้ กนง. ต้องรีบปรับขึ้นดอกเบี้ย


KEY SUMMARY

• กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี พร้อมทั้งประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2021 ขยายตัวที่ 0.9% และคาดว่าในปี 2022 และ 2023 จะขยายตัวที่ 3.4% และ 4.7% ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจไทย

มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องและคาดว่าจะกลับสู่ระดับ pre-COVID ได้ในช่วงต้นปี 2023 ขณะที่มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 จากราคาพลังงานเป็นหลัก แต่คาดว่า

จะคลี่คลายลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 ทั้งนี้การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้า

• คณะกรรมการระบุว่า นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการรวมหนี้ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ 

(debt consolidation) และปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (มาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 ก.ย. 21) ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

• EIC คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2022 โดยคาดว่าผลกระทบ

จากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า แต่เศรษฐกิจ

จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกน่าจะทำได้ในปี 2023 และคาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่จะเป็นไปอย่างช้า ๆ 

โดย EIC ประเมินว่าขนาดของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะกลับไปเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ในปี 2023

• EIC คาดว่าการดำเนินนโยบายทางการเงินของกลุ่มเศรษฐกิจหลักที่มีแนวโน้มปรับตึงตัวขึ้นในปี 2022 

จะไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก และจะไม่เป็นปัจจัยกดดันให้ กนง. ต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหมือนในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EM) อื่น ๆ เนื่องจาก 1) แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ยังมีจำกัดจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป 2) ในระยะสั้น เงินบาทอาจอ่อนค่าลงบ้างแต่ไม่รุนแรงนัก และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 

3) ปัจจัยพื้นฐานด้านเสถียรภาพต่างประเทศของไทยยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้แม้ว่าไทยมีความอ่อนไหวต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของสหรัฐฯ ไม่มาก แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยอย่างมีนัย

Key points

กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี พร้อมทั้งประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2021 ขยายตัว

ที่ 0.9% และคาดว่าในปี 2022 และ 2023 จะขยายตัวที่ 3.4% และ 4.7% ตามลำดับ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 22 ธันวาคม 2021 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี 

โดยคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานเป็นหลัก แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อโลกและการส่งผ่านต้นทุน ทั้งนี้การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้า จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยคณะกรรมการเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุน

การขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ประกอบกับมาตรการทางการเงิน

การคลังที่มีความต่อเนื่อง เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้รายได้ฟื้นตัว อย่างเข้มแข็ง 

• เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 0.9% ในปี 2021 และจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2022 และ 2023 ที่ 3.4% และ 4.7% ตามลำดับ (จากประมาณการในเดือนกันยายนที่ 0.7%, 3.9% และ 4.7% ในปี 2021, 2022 และ 2023) 

จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทยอยกลับมามากขึ้น ทั้งนี้การฟื้นตัวในหลายสาขาธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการประเมินว่าการระบาดของสายพันธุ์ Omicron จะกระทบเศรษฐกิจในช่วงแรกของปี 2022 โดยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่ผลกระทบอาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดและความเข้มงวดของมาตรการควบคุม ซึ่งคณะกรรมการคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะทยอยกลับสู่ระดับ pre-COVID ในช่วงต้นปี 2023 โดยการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron เป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องต้องติดตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ยังอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด 

• แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2021, 2022 และ 2023 จะอยู่ที่ 1.2%, 1.7% และ 1.4% ตามลำดับ (จากประมาณการในเดือนกันยายน

ที่ 1.0%, 1.4% และ 1.4%) โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 จากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะราคาพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อ

จะปรับลดลงมาเหนือขอบล่างของกรอบเป้าหมายในช่วงที่เหลือของประมาณการ ทั้งนี้โอกาสที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องยังมีไม่มากจากความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่ยังจำกัด

จากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว รวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ยังเปราะบาง โดยจากผลสำรวจพบว่า 55% ของผู้ประกอบการจะไม่ปรับเพิ่มราคาในอีก 3 เดือนข้างหน้า ขณะที่ผู้ประกอบการ 34% มีแนวโน้ม

ปรับเพิ่มราคาขึ้นไม่เกิน 20% อย่างไรก็ดี คณะกรรมการประเมินว่ายังมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะสูง

กว่าคาดในบริบทที่เงินเฟ้อโลกปรับสูงขึ้นเร็ว โดยจะติดตามพัฒนาการของปัจจัยข้างต้นอย่างใกล้ชิด 

กนง. ประเมินว่า สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังเป็นอุปสรรคต่อการกระจายตัวของสินเชื่อ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจ SMEs ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยรวมทรงตัว สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในระดับสูง จากความไม่แน่นอน

ของสถานการณ์ COVID-19 ที่อาจรุนแรงขึ้นและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อในระดับสูง คณะกรรมการเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ 

เห็นควรให้ผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

กนง. ระบุว่า มาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการรวมหนี้ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ (debt consolidation) 

และปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (มาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 ก.ย. 21) ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

กนง. ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงจะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของการกลายพันธุ์ของ COVID-19 ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น  

Implications

EIC คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2022 และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกน่าจะทำได้อย่างเร็วที่สุดในปี 2023 โดยคาดว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron จะอยู่ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า แต่เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกน่าจะทำได้ในปี 2023 และคาดว่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่จะเป็นไปอย่างช้า ๆ โดย EIC ประเมินว่าขนาดของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะกลับไปเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ในช่วงกลางปี 2023 (ขณะที่ ธปท. ประเมินว่าจะเป็นในช่วงต้นปี 2023) 

การดำเนินนโยบายทางการเงินของกลุ่มเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตึงตัวขึ้นต่อเนื่องในปี 2022 อาจเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศ Emerging markets (EMs) โดยในการประชุม FOMC เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ประกาศเร่งความเร็วของการลดปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (QE Tapering) เป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมกราคม 2022 (จากเดิม 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) รวมถึง dot plot ได้แสดงถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปี 2022 ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ประกาศลดปริมาณการซื้อสินทรัพย์ผ่านโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ในไตรมาสแรกของปี 2022 ลงเช่นกัน พร้อมส่งสัญญาณว่าการเข้าซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2022 นอกจากนี้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ก็ได้ประกาศ

ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.25% (จาก 0.1%) ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา (เพิ่มเติมใน BOX : การดำเนินนโยบายทางการเงินของกลุ่มเศรษฐกิจหลักที่ตึงตัวขึ้น) จึงกล่าวได้ว่า ธนาคารกลางหลักได้เริ่มลดการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินลง และกำลังเข้าสู่การดำเนินนโยบายทางการเงินแบบตึงตัว ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันให้กลุ่มประเทศ EMs 

มีความเสี่ยงต่อเงินทุนไหลออกและการอ่อนค่าของสกุลเงิน โดยประเทศที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาก มีสัดส่วนหนี้สาธารณะและหนี้ต่างประเทศสูง มีเงินเฟ้อสูง และทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่รุนแรงกว่า (รูปที่ 1)  

รูปที่ 1 : ไทยมีเสถียรภาพต่างประเทศในเกณฑ์ดี จากเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ หนี้ภาครัฐ และหนี้ต่างประเทศที่น้อย เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มาก และเงินบาทที่ยังมีเสถียรภาพ

 

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ CEIC, Bloomberg  และ The economist

อย่างไรก็ตาม EIC คาดว่าแรงกดดันดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก และจะไม่เป็นปัจจัยกดดันให้ กนง. 

ต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหมือนในประเทศอื่น เนื่องจาก

1) อัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2021 อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ระดับ 2.7% และ EIC คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยเฉลี่ยในปี 2021 อยู่ที่ 1.2% ขณะที่ในปี 2022 จะเร่งตัวเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 1.6% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3% 

และแตกต่างจากสถานการณ์ในประเทศ EMs อื่น ที่ธนาคารกลางจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็ว

เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อหรืออัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าเร็ว เช่น บราซิลที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 10.7% ในเดือนพฤศจิกายน (จาก 8.4% ในช่วงกลางปี 2021) จนทำให้ธนาคารกลางต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 5% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 สู่ระดับ 9.3% ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สำหรับไทยนั้น แรงกดดันดังกล่าว

จะยังค่อนข้างจำกัด ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของ ธปท. ที่พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีแนวโน้ม

ปรับขึ้นราคาในระยะ 3 เดือนข้างหน้า สะท้อนข้อจำกัดของผู้ประกอบการในการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคจากกำลังซื้อโดยรวมที่ยังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ 

2) คาดว่าในระยะสั้น เงินบาทจะอ่อนค่าลงบ้างแต่ไม่รุนแรงนัก โดยค่าเงินบาทอาจผันผวนได้ในระยะสั้นตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Omicron ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการเริ่มดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางในเศรษฐกิจหลัก ที่อาจส่งผลให้มีความผันผวนและการไหลออก

ของเงินทุนเคลื่อนย้ายจากภูมิภาครวมถึงไทยได้บ้าง ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 เงินบาทอาจอ่อนค่าอยู่ในช่วง 33.5-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี EIC คาดว่าค่าเงินบาทจะทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2022 ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่จะชัดเจนขึ้นและดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะขาดดุลลดลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าระวางเรือ (Freight) ที่คาดว่าจะทยอยปรับลดลงในปีหน้า นอกจากนี้ EIC คาดว่าการอ่อนค่าของเงินบาทในระยะสั้นจะไม่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยเร่งตัวขึ้นมากนัก เนื่องจากการส่งผ่านของการเปลี่ยนแปลงค่าเงินสู่ราคาสินค้า

และบริการในประเทศยังต่ำ (low FX passthrough) อีกทั้ง ธปท. ยังสามารถเข้าดูแลเงินบาทในเวลาที่อ่อนค่าลงเร็ว ผ่านการขายเงินสำรองทางการที่อยู่ในระดับสูง จึงทำให้ ธปท. ไม่จำเป็นต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลค่าเงินบาท ซึ่งต่างจาก EMs หลายประเทศที่มีเงินสำรองในระดับต่ำ

3) ปัจจัยพื้นฐานด้านเสถียรภาพต่างประเทศของไทยยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อ GDP ของไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ (36% ต่อ GDP) โดยหนี้สาธารณะของไทยกว่า 98% เป็นหนี้ในประเทศ นอกจากนี้ หนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยมีสัดส่วนน้อย (38% จากหนี้ต่างประเทศทั้งหมด) เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ในระดับสูง (3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น) และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเริ่มปรับลดลงตามดุลรายได้ บริการ และเงินโอนที่ขาดดุลน้อยลง โดย EIC คาดว่า ณ สิ้นปี 2022 

ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะขาดดุลลดลงเหลือเพียง 0.7% ต่อ GDP (จากในปี 2021 ที่คาดว่าจะขาดดุล 2.8% ต่อ GDP) ดังนั้น ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพต่างประเทศที่จะทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายจะไหลออกจากไทยในปริมาณมากจึงมีน้อย

แม้ว่าไทยจะมีความอ่อนไหวต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ ในระดับต่ำ แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย (รูปที่ 2) เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนมาก (5.9% ของ GDP) ดังนั้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนก็อาจเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ ธปท. จะต้องติดตามต่อไปในปี 2022

รูปที่ 2 : ไทยมีความอ่อนไหวต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของสหรัฐฯ ต่ำกว่า EMs อื่น ๆ แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ CEIC, Bloomberg  และ The Economist

BOX : การดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มเศรษฐกิจหลักที่ตึงตัวขึ้น

ภาวะการเงินโลกมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นต่อเนื่องตามการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลาง

ในเศรษฐกิจหลักจากแรงกดดันเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ดี โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 14-15 ธันวาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศเร่งความเร็วการลดปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (QE Tapering) เป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมกราคม 2022 

จากเดิม 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2021 เนื่องจากปัญหา Supply-Demand Imbalances ส่งผลให้เงินเฟ้อในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เงินเฟ้อของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.8% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ประกอบกับตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากอัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีความจำเป็นลดลง 

นอกจากนี้ การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต (Median Dot Plot) ของคณะกรรมการ Fed ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางที่ Hawkish ขึ้น ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดย Dot Plot ได้แสดงถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปี 2022 และปรับเพิ่มอีก 3 ครั้ง และ 2 ครั้ง ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ (รวมทั้งสิ้น 8 ครั้งหรือ 200 bps ในอีก 3 ปีข้างหน้า) โดย EIC คาดว่า Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในไตรมาส 2 ปี 2022 เป็นอย่างเร็ว เนื่องจากในแถลงการณ์หลังการประชุมของ FOMC ล่าสุด Fed ได้ส่งสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังปรับขึ้นเร็ว ซึ่ง EIC มองว่าอาจบรรลุกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแล้ว นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดและโครงสร้างตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงาน (participation rate) ลดลง จึงมีโอกาสที่สหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะการจ้างงานเต็มขั้น (full employment) เร็วกว่าที่คาดได้

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ประกาศลดการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินในการประชุมเดือนธันวาคม 

จากความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อเช่นกัน โดย ECB ได้ประกาศลดปริมาณการซื้อสินทรัพย์ผ่านโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ในไตรมาสแรกของปี 2022 พร้อมส่งสัญญาณว่าการเข้าซื้อสินทรัพย์ภายใต้โครงการ PEPP จะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2022 โดย EIC คาดว่าการเข้าซื้อสินทรัพย์ในโครงการ PEPP 

จะลดลงเหลือเฉลี่ย 4 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ในไตรมาส 1 ปี 2022 (จากเดิมที่เข้าซื้อเฉลี่ย 6.5 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนในไตรมาส 4 ปี 2021) ทั้งนี้หลังจากที่ PEPP สิ้นสุดลง คาดว่า ECB จะเพิ่มการซื้อสินทรัพย์ในโครงการ Asset Purchase Programmes (APP) จากปกติเดือนละ 2 หมื่นล้านยูโร เป็นเดือนละ 4 หมื่นล้านยูโรในไตรมาสที่ 2 

และ 3 หมื่นล้านยูโรในไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 (Temporary QE bridge รวมทั้งสิ้น 9 หมื่นล้านยูโร) และจะกลับมาซื้อที่ระดับ 2 หมื่นล้านยูโรตามเดิมในเดือนตุลาคม 2022 เป็นต้นไปจนถึงปี 2023 นอกจากนี้ EIC คาดว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในปี 2024

นอกจากนี้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.25% (จาก 0.1%) ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ Omicron โดยเป็นธนาคารกลางหลักประเทศแรกที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษได้เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 5.1% ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ประกอบกับตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มตึงตัว และการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron อาจส่งผลให้ปัญหาเงินเฟ้อจากข้อจำกัดด้านอุปทาน (Supply-side constraints) มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดย BOE คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในอังกฤษจะอยู่ที่ระดับ 5% ณ สิ้นปี 2021 และจะเพิ่มสู่ระดับสูงสุดที่ 6% ในเดือนเมษายน 2022 ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ BOE ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบล่าสุด ทั้งนี้ EIC คาดว่า BOE มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2022 หากการระบาดของ Omicron ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ 

บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/8004

ผู้เขียนบทวิเคราะห์ : วชิรวัฒน์ บานชื่น (wachirawat.banchuen@scb.co.th)    

        

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส                                         

ณิชนันท์ โลกวิทูล (nichanan.logewitool@scb.co.th)

นักวิเคราะห์

Economic Intelligence Center (EIC)

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

EIC Online: www.scbeic.com

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ธ.ค. 2564 เวลา : 12:28:34
02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 3:19 am