คริปโตเคอเรนซี่
Special Report :''DeFi'' ระบบการเงินแบบใหม่ ไม่ง้อธนาคาร


DeFi ย่อมาจากคำว่า “Decentralized Finance” แปลตรงตัวมีความหมายว่า ระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ หรือไร้ศูนย์กลางการควบคุม ซึ่งแตกต่างจากระบบการเงินที่คนเราส่วนใหญ่ในโลกยอมรับอย่างธนาคาร ที่ผู้คนต่างเชื่อใจนำเงินหรือสินทรัพย์ไปฝากไว้  ยอมให้เห็นและควบคุมการทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะโอนเงินไปหาใคร ได้รับเงินจากที่ไหนมา ซื้อหรือขายของให้ใครบ้าง ระบบการเงินในลักษณะที่เราคุ้นเคยกันนี้คือระบบที่เรียกว่า “CeFi” หรือ “Centralized Finance” ระบบการเงินแบบรวมศูนย์ หรือมีศูนย์กลางคอยควบคุมดูแล จัดเก็บและจัดการทรัพย์สินและข้อมูลของเรา


 
ตัวของ DeFi จะถูกสร้างขึ้นด้วยการเขียน “Smart Contract” เป็นการกำหนดเงื่อนไขหรือตกลงการกระทำเหล่านั้นมาเขียนลงเป็น Code และรันระบบอยู่ได้ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเปิดให้ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ DeFi นั้นเปรียบได้กับธนาคารดิจิทัลที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เข้ามาควบคุมการทำธุรกรรมต่างๆ ในบางแพลตฟอร์ม DeFi ก็จะมีข้อตกลงแตกต่างกันไป ที่อาจจะอนุญาตให้ผู้ใช้งานเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลระบบ การโหวตเลือกแนวทางต่างๆ เสมือนเป็นผู้ถือหุ้นธุรกิจก็ไม่ปาน และยังทำหน้าที่ได้เหมือนกับธนาคาร เช่น
 
 
 
แพลตฟอร์ม DeFi MakerDao

1.การสร้างสินทรัพย์ (Decentralized Asset Creation) การสร้างสินทรัพย์ที่เหมือนกับรัฐบาลสร้างตัวกลางเพื่อออกสกุลเงิน แต่ในโลกของ Defi สามารถออกสกุลเงินที่มีมูลค่าคงที (Stable Coin) โดยที่ไม่ต้องอาศัยตัวกลาง ซึ่งไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลหรือคนอื่นๆ เช่น MakerDAO เป็นDeFi ที่ให้ผู้ใช้นำเหรียญ Ethereum (ETH) มาค้ำ 150% ของมูลค่าเพื่อสร้างเหรียญ DAI ที่เป็น Stable Coin ไปใช้ เช่นการสร้าง 1 DAI ต้องใช้ ETH มูลค่า 1.5 USD ในสัญญากู้ยืม และคืน DAI ในลักษณะที่เราต้องจ่ายดอกเบี้ย แลกกับ ETH เป็นหลักประกันที่ค้ำไว้ 
 
 
 
Decentralized Exchange ชื่อ Uniswap

2.แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนแบบไร้ตัวกลาง (Decentralized Exchange) เรียกสั้นๆได้ว่า “DEX” เป็นตลาดไร้ตัวกลางแลกเปลี่ยนสกุลเงินหรือเหรียญดิจิทัลต่างๆ เรียกการกระทำนี้ว่าการ “Swap” แตกต่างจาก Exchange ทั่วไปที่ทำงานบนเซิร์ฟเวอร์ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง มีโอกาสถูก Hackได้ ที่เคยได้พูดไปในบทความ Crypto Wallet คืออะไร? ต้องมีกระเป๋าไว้เก็บเหรียญด้วยหรอ? แต่ตัว DEX ทำงานอยู่บน Blockchain การ Swap เหรียญจะเกิดขึ้นบน Blockchain จริงๆ ทำให้มีความปลอดภัยเนื่องจากการตัดความเสี่ยงเรื่องตัวกลางไป และเราเป็นคนคุม Private Key เชื่อมต่อกับกระเป๋า Crypto Wallet ในการเข้าไป Swap ตัวอย่าง DEX ที่มีชื่อเสียงได้แก่ Uniswap, Sushiswap หรือ Wardenswap เป็นต้น
 
 
แพลตฟอร์ม DeFi ชื่อ Compound

3.แพลตฟอร์มการกู้ยืมแบบไร้ศูนย์กลาง (Decentralized Lending) แพลตฟอร์มที่สามารถกู้ยืมได้แต่ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน คล้ายกับโรงรับจำนำที่สามารถเปลี่ยนสินทรัพย์หนึ่งเป็นอีกแบบหนึ่ง เช่นเรานำ ETH ไปค้ำเพื่อเอาเหรียญ Stable Coin อย่าง DAI หรือ USDC ออกมาใน DEX ที่มีชื่อว่า “Compound” แล้วนำเหรียญที่ได้นั้นไปใช้ลงทุน เมื่อใช้เสร็จก็นำกลับไปยัง DEXดังกล่าวเพื่อถอน ETH ออกมา ที่มีการกู้ยืมลักษณะนี้เกิดขึ้นเพราะเราอาจจะอยากถือเหรียญๆนี้ไว้ ไม่อยากขาย จึงไปค้ำเพื่อเอาเหรียญอื่นๆออกมาเช่นเหรียญStable Coin เพื่อนำไปลงทุนเพิ่มพูนกำไร เมื่อได้กำไรที่พอใจเราก็ค่อยเอาเหรียญ Stable Coin นั้นๆแลกถอนเหรียญ เราเอาไปค้ำพร้อมจ่ายดอกเบี้ยกลับมา ซึ่งมันเป็นโอกาสที่จะเพิ่มสินทรัพย์คริปโตมากขึ้น โดยไม่เสียเหรียญที่เราอยากจะถือไว้อีกด้วย 
 
 
การทำฟาร์มจับคู่เหรียญ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องบน Uniswap

4.การปล่อยกู้เพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด (Liquidity Pool) ลองนึกภาพตามว่าหากเราทำการซื้อเหรียญดิจิทัลต่างๆเก็บไว้ใน Crypto Walletของเรา เหรียญนั้นๆจะอยู่บนกระดานของDEXลดลง จนทำให้เกิดสภาวะทีเรียกว่าการขาดสภาพคล่องของเหรียญนั้นๆ ตัว Liquidity Pool จึงเป็นการเชื้อเชิญให้ผู้ใช้บริการที่มีเหรียญนั้นๆเก็บไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้งาน นำมาใส่ไว้ใน Pool ของแพลตฟอร์ม DeFi เจ้านั้นๆ เพื่อให้คนที่มีความต้องการสามารถซื้อขายเหรียญของเรา (โดยสิทธิในการถือครองเหรียญก็ยังเท่าเดิม) ซึ่งตลาด Liquidity Pool ก็จะไปเชื่อมกับตัว DEX นั่นเอง อาจจะเป็นในเว็บSwapของตัวเอง หรือให้เว็บอื่นดึงไปใช้ได้ ซึ่งผู้วางสินทรัพย์ก็จะได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยกลับไป อย่างการ “Yield Farming” เรียกเป็นภาษาพูดว่าการทำฟาร์ม นำเหรียญ2เหรียญมาจับคู่ฝากเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อได้ดอกเบี้ยกลับไป ซึ่งอาจจะเป็นจำนวนเหรียญนั้นๆมากขึ้น หรือได้รับ Governance Token เหรียญของแพลตฟอร์ม DeFi เจ้านั้นๆกลับไป

แล้วเราจะเชื่อถือ Defi ได้เหรอ?
 
โดยปกติแล้วหากเราได้รู้จักหรือมีความคุ้นเคยกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน ได้รับการยอมรับจากคนในสังคมเป็นส่วนใหญ่ และยิ่งมีหน่วยงานที่น่าเชื่อถือรับรอง เราก็จะเกิดความสบายใจและรับสิ่งนั้นเข้ามาโดยไม่มีข้อกังขาใดๆอีกๆ เช่นธนาคาร เห็นได้ว่าพื้นฐานคือเราอาศัย “ความเชื่อใจ” เป็นหลักในโลกระบบการเงินแบบรวมศูนย์ หรือ CeFi นั้นเอง เพราะเราได้มอบอำนาจหน้าที่ให้ธนาคารเข้ามาจัดการข้อมูลและสินทรัพย์ของเราทั้งหมดแล้ว หากกลับมายังโลกของ DeFi เป็นระบบการเงินที่ใหม่มากๆ ที่ใครหลายๆคนอาจมีความกลัว และความฉงนสงสัยในตัวมัน เนื่องจากความไม่เข้าใจว่า DeFi มันคืออะไรกันแน่? เป็นแชร์ลูกโซ่รึเปล่า? ซึ่งความน่าเชื่อถือของ DeFi นั้นเราก็ต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่ระบบนี้เป็น โดยตัวของDeFi เองนั้นถูกสร้างขึ้นด้วย Smart Contract  ที่มีการเปิดเผยออกสู่สาธารณะ (Open Source) เนื่องจากมันรันด้วยเทคโนโลยี Blockchain  ทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบ Code หลังบ้านของแพลตฟอร์ม DeFi นั้นๆได้ จึงไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางเข้ามาควบคุม สามารถทำความเข้าใจในเทคโนโลยีได้จากบทความ  “Blockchain เบื้องหลังการสร้างมูลค่าให้ Digital Asset” ต่างจากธนาคารที่เราจะไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือตรวจสอบการทำงานหลังบ้านได้เลย 

-ข้อควรระวังของ DeFi
 
 
Certik เว็บตรวจAudit แพลตฟอร์ม DeFi

สมมติว่าเราเจอ DEX ของที่ๆหนึ่งซึ่งให้ผลตอบแทนในการฝากสูงมาก สิ่งที่ควรเข้าใจก่อนคือ โดยปกติแล้วแพลตฟอร์มไหนที่ยังมีคนใช้งานน้อย หรือก็คือยังมีคนมาทำการฝากเงินกับแพลตฟอร์มนั้นน้อยอยู่ ดอกเบี้ยที่ได้รับจะสูง และจะลดหลั่นลงไปหากมีคนเข้ามาฝากเงินเยอะขึ้น เหตุผลคือเหมือนกับการตัดแบ่งเค้ก เค้กคือผลตอบแทนที่เราจะได้ ยิ่งมีคนเข้าร่วมใช้งานเยอะขึ้นๆ เค้กจะถูกตัดแบ่งให้บางลงเท่านั้น เราก็จะได้กินเค้กขนาดชิ้นที่เล็กลงนั้นเอง ซึ่งเจ้าแต่ละเจ้าก็จะให้จำนวนดอกเบี้ยที่แตกต่างกันออกไปซึ่งขึ้นอยู่กับเหรียญที่เอามาฝากด้วย หากบางฟาร์มที่ให้ดอกเบี้ยสูงมากๆ APR (ดอกเบี้ยรายปี) เป็น10,000% เป็น100,000% ที่ฝากเป็นวินาทีก็ได้กำไรแล้ว ต้องระมัดระวังและอย่าลงเงินของตนไปกับโปรเจคดังกล่าวโดยทันที สิ่งที่ควรรู้ถัดมาคือ เราต้องทำการตรวจสอบก่อนใช้แพลตฟอร์มDeFi นั้นๆให้ดีว่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน อย่างที่ได้กล่าวมาว่าโลกของDefi เป็นระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ สิ่งที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับ DeFi  คือ “Smart Contract”  หรือที่เรียกเป็นวลีว่า “Code is law” Code เป็นกฎหมายของโลก DeFi  ซึ่งจะเปิดให้ทุกคนเข้าไปดู Smart Contract หรือตัวCode ของหลังบ้านทุกบ้านได้ ซึ่งต้องมีความรู้ในภาษา Solidity แต่หากเราเป็นแค่คนธรรมดาที่ไม่มีความรู้เรื่องของ Code และการใช้ภาษาในการเขียนโปรแกรมดังกล่าว ก็ให้ดูว่ามีบริษัท Audit ที่ได้มาตรฐานเข้ามาตรวจสอบหรือไม่ Audit ในที่นี้ก็คือผู้ที่จะเข้ามาตรวจสอบ Smart Contract ของ DeFi แต่ละเจ้าว่าเขียน Code มีช่องโหว่ใดๆหรือไม่ ทำหน้าที่คล้ายกับผู้ตรวจสอบบัญชีหรือ Auditor ที่เราคุ้นเคยกันในโลกปัจจุบัน โดยAudit ที่ได้มาตรฐานเช่น “Certik” เราสามารถเข้าไปยังเว็บไซต์ www.certik.org/ เพื่อดูได้ว่า DeFi เจ้าไหนผ่านการ Audit จาก Certik แล้วบ้าง 
 
 
แพลตฟอร์มDeFi ชื่อMeerkat Finance ทำการRugpullขโมยเงินด้วยการปิดเว็บไซต์
 
การที่เราจำเป็นต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเว็บ DeFi ก่อนนำเงินหรือเหรียญไปฝากเพื่อกินดอกเบี้ยเป็นเพราะเคยเกิดกรณีที่เรียกว่า “Rugpull” อยู่บ่อยครั้ง คือการขโมยเงินเราออกไปดื้อๆ ทำการปิดเว็บไซต์Defi ไม่ให้เข้าไปทำธุรกรรมใดๆได้อีกหลังจากนำเหรียญดิจิทัลไปฝาก ซึ่ง Developer ที่สร้าง Defi นั้นๆขึ้นมา เขาสามารถทำได้เป็นเพราะการจงใจเขียน Code หรือตั้งใจให้มีช่องโหว่เพื่อที่เขาสามารถปิดเว็บและหอบเงินหนีไปได้ Defi ที่ตั้งใจทำมาเพื่อ Rugpull ก็จะตั้ง APY สูงๆเพื่อเชื้อเชิญให้คนนำเหรียญดิจิทัล นำเงินมากไว้ที่นี้ ซึ่งพูดกันตามตรงก็คือเล่นกับความโลภของคนนั้นเอง บางคนอาจจะเข้าใจความเสี่ยงนี่ดีแต่ยังมีการเข้าไปลงทุนบนเว็บ DeFi ที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีAudit รับรอง คอมมูนิตี้ Defi จะเรียกว่า “สายซิ่ง” หรือ “ฟาร์มซิ่ง” คือนำเหรียญไปฝากเพื่อหวังผลกินดอกเบี้ย APY สูงๆ โดยฝากในระยะเวลาสั้นๆถึงสั้นมากๆ และรีบชิ่งเอาเหรียญพร้อมดอกเบี้ยที่ได้ออกมาก่อน เว็บ DeFi นั้นจะปิดตัวลง ซึ่งเป็นการกระทำที่เสี่ยงมากและทาง AC News ไม่แนะนำว่าให้ทำ เพราะเหมือนเรานำเงินหย่อนไปในปากของคนที่มีทีท่าว่าจะหอบเงินเราหนีไปแน่ๆครึ่งทางแล้ว และมันเท่ากับว่าเราไม่ได้ลงทุนในทิศทางที่ปลอดภัย แต่เป็นการเล่นพนันมากกว่า กรณีการ Rugpull ที่โด่งดังครั้งหนึ่งคือแพลตฟอร์ม DeFi ชื่อว่า Meerkat Finance เปิดตัวบน Binance Smart Chain ที่ให้ดอกเบี้ยสูงมากๆ มีคนนำเหรียญมาฝากคิดเป็นเงินกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในวันเดียว จากนั้นก็ปิดหน้าเว็บไซต์ ขโมยเงินออกไปทั้งหมดภายในวันนั้นเลย ซึ่งปัญหาคือเขาเขียน Code แบบมีช่องโหว่ที่ทำให้เจ้าเว็บนั้นขโมยเงินออกไปได้ แต่เคสนี้ยังเป็นเคสที่โชคดี เพราะ Meerkat Finance สร้างขึ้นบน Binance Smart Chain เป็น Chain ของ Binance เว็บไซต์Exchange เหรียญดิจิทัล เป็น “ตัวกลาง” ให้บริการพื้นที่ในการซื้อขายเหรียญ ทางBinance จึงสามารถ Block Address เจ้าของ Meerkat Finance ที่หอบเงินที่ขโมยมาเต็มกระเป๋าใน Addressนั้น ทำให้ไม่สามารถถอนเงินออกไปได้ และได้ทำการคืนเงินให้กับคนที่มาลงทุนได้ในที่สุด  
 
 
เหรียญ Squid Game โดน Developer ทำการ Soft Rugpull ด้วยการเทเหรียญขาย

นอกจาก Rugpull ยังมีกลโกงอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “Soft Rugpull” ไม่มีการปิดเว็บไซต์ขโมยเงินไปดื้อๆ แต่เป็นการเทเหรียญ Governance Token หรือเหรียญที่ Developer ของแพลตฟอร์ม DeFi นั้นๆสร้างขึ้นมา ที่เราจะได้รับทั้งจาก การนำเหรียญไปฝาก หรือไปจับคู่เหรียญแล้วฟาร์ม ได้ผลตอบแทนออกมาเป็น เหรียญ Governance Token ดังกล่าว ที่เราสามารถเอาเหรียญนี้ไปขายได้ และเราก็สามารถซื้อเหรียญนั้นมาได้เอง ซึ่งเป็นเหรียญที่ถ้าเราถือไว้จะมีสิทธิในการออกเสียง หรือได้รับประโยชน์ในแพลตฟอร์มดังกล่าว ซึ่งจะขึ้นอยู่แต่ละเจ้า โดยเป็นเรื่องปกติที่ของทุกแพลตฟอร์ม DeFi จะมี Governance Token เป็นของตัวเอง ทีนี้กลโกงนั้นอยู่ที่การตั้งดอกเบี้ยสูงๆเชื้อเชิญให้เรา นำ Governance Token นั้นๆมาฝาก มาทำการStake หรือฟาร์มจับคู่เหรียญอื่น ยิ่งคนเห็นว่าได้ผลตอบแทนที่สูงมากๆก็จะรุมซื้อเหรียญ Governance Token นั้น และด้วยกลไกลของตลาด เมื่อมีคนต้องการมาก ราคาของเหรียญก็จะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้ถ้า Developer ของแพลตฟอร์ม DeFi เจ้านี้ถือเหรียญ Governance Token เป็นจำนวนมาก และได้เทเหรียญขายทั้งหมดที่มีในคราวเดียว ราคาของเหรียญก็จะดิ่งลงทันที ภารกิจการ Soft Rugpull ก็เป็นการสำเร็จเสร็จสิ้น

โดยสรุปแล้ว DeFi ก็คือระบบการเงินในรูปแบบกระจายศูนย์ ที่ไม่มีตัวกลางมาคอยจัดการการทำธุรกรรม เหมือน CeFi อย่างธนาคาร แต่สามารถทำธุรกรรมได้เหมือนกับธนาคารแทบทุกประการ ทั้งการนำเงินไปฝาก ซึ่งแค่อยู่ในรูปแบบของเหรียญดิจิทัลเพื่อรับดอกเบี้ย แต่ได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคาร การกู้ยืม หรือการเพิ่มสภาพคล่อง  ซึ่งอาจจะเข้าใจยากไปเสียหน่อยสำหรับมือใหม่ที่เพิ่งทำความรู้จักกับ DeFi และเหรียญ Cryptocurrency ต่างๆ แต่หากเราพยายามศึกษาค้นคว้า และมีความเข้าใจในโลกการเงินแบบใหม่เพียงพอ เราก็จะสามารถคว้าโอกาสทางการเงินได้มากกว่าและเร็วกว่าคนอื่น เพราะเราจะไม่กลัวในสิ่งที่เราเข้าใจและคุ้นเคยกับมัน เหมือนกับที่เราวางใจและเชื่อถือระบบการเงินแบบ CeFi ที่เป็น Mass Adoption หรือเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันในปัจจุบันนี้  ในอาทิตย์หน้าทาง AC News จะมาไกด์วิธีการใช้งานDeFi ทั้งการSwap การ Staking และการYield Farming เบื้องต้นกับ “สอนวิธีการใช้งาน DeFi เบื้องต้น ฝากเหรียญง่ายๆเข้าใจได้แบบจับมือทำ”

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ธ.ค. 2564 เวลา : 22:37:32
13-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 13, 2024, 10:57 am