หุ้นทอง
เลือกหุ้นปันผลอย่างไร ไม่ให้ผิดหวัง


เลือกหุ้นปันผลอย่างไร ไม่ให้ผิดหวัง


ในอีกไม่กี่เดือน บริษัทจดทะเบียนก็จะประกาศผลประกอบการและประกาศจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 ถ้าหากนักลงทุนประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความผันผวน จนรู้สึกกังวลว่าจะส่งผลต่อพอร์ตการลงทุนของตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวก็จะเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น ด้วยการมองหาหุ้นที่ลงทุนแล้วมีความปลอดภัยสูงท่ามกลางความไม่แน่นอน

จตุพร บำรุงจิตร ผู้อำนวยการฝ่าย Digital Business บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส บอกว่า โดยหุ้นที่มีความปลอดภัย คือ หุ้นที่จ่ายเงินปันผล ดังนั้น หากนักลงทุนยังไม่มีหุ้นปันผล ก็สามารถเลือกลงทุนหุ้นที่มีผลการดำเนินงานที่ดี มีอัตราผลตอบแทนที่น่าลงทุน และเพื่อไม่ทำให้ผิดหวังสามารถใช้ 5 วิธีการเบื้องต้นสำหรับเลือกหุ้นปันผลเข้าพอร์ตลงทุน ดังนี้
 
1. เลือกบริษัทที่มีผลประกอบการดี

นักลงทุนควรท่องประโยคนี้ไว้ในใจเสมอ “บริษัทจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้ ผลการดำเนินงานต้องมีกำไรเติบโตอย่างสม่ำเสมอ” ซึ่งกำไรจะต้องมาจากการดำเนินงานที่แท้จริง เช่น หากทำธุรกิจขายรถยนต์ กำไรก็ต้องมาจากการขายรถยนต์ ไม่ใช่มาจากขายที่ดิน ขายอุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น

ดังนั้น สิ่งที่ควรดูในขั้นแรก คือ “กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT)” เพราะเป็นรายการที่สะท้อนผลการดำเนินงานเบื้องต้นในงบการเงิน จากนั้นดูที่ “กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS)” เพราะจะสะท้อนจำนวนหุ้นจดทะเบียนทั้งหมดที่ชำระแล้ว โดยในระหว่างปีหากมีจำนวนหุ้นเพิ่มเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนโดยตรงแบบ XR หรือจากพนักงานบริษัท ย่อมส่งผลต่อกำไรที่แบ่งสรรปันส่วนมาให้กับนักลงทุน
 
โดยกำไรในแต่ละปี บริษัทจะแบ่งเก็บไว้ในส่วนของผู้ถือหุ้นในรายการ “กำไรสะสม” เพื่อนำไปลงทุนในโครงการใหม่ ๆ หรือขยายธุรกิจ โดยไม่ต้องกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพราะเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นย่อมมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งมีผลต่อกำไรที่อาจลดลงได้
 
2. วางเป้าหมายอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่เหมาะสม

อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่นักลงทุนตัดสินใจเลือกลงทุนในหุ้นปันผลนั้น ๆ โดยคำนวณจาก “เงินปันผลจ่ายต่อหุ้นหารด้วยราคาหุ้นในตลาด” ซึ่งนักลงทุนสามารถคำนวณกลับได้ว่าบริษัทจ่ายเงินปันผลตามนโยบายที่ประกาศไว้หรือไม่ ด้วยการนำเงินปันผลจ่ายต่อหุ้น (DPS) หารด้วยกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ผลลัพธ์จะได้ Payout Ratio (บริษัทจ่ายเงินปันผลเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของกำไรต่อหุ้นในแต่ละปี) ถือเป็นการตรวจสอบว่าบริษัทสามารถรักษาระดับการจ่ายเงินปันผลในระดับที่ดีได้หรือไม่
 
โดยอัตราเงินปันผลที่นักลงทุนคาดหวังควรอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลหรือเป็นไปได้ เช่น อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลโดยเฉลี่ยจากการลงทุนในหุ้นอยู่ที่ระดับประมาณ 3 - 5% แต่อาจได้รับอัตราผลตอบแทนสูงกว่านี้ถ้าสามารถรอราคาหุ้นให้ปรับลดลงจนถึงระดับที่ตัวเองพอใจ

การจ่ายเงินปันผลต้องอิงกับผลการดำเนินงานของบริษัท ดังนั้น ถ้าจ่ายเงินปันผลออกมามากเกินไปอาจส่งผลต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทในอนาคต
 
3. มีประวัติการจ่ายเงินปันผลไม่ขาดตกบกพร่อง

บริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอส่วนใหญ่แล้วจะสามารถรักษาระดับผลการดำเนินงานให้เติบโตควบคู่ไปกับนโยบายการจ่ายเงินปันผล คล้าย ๆ กับการฝากออมทรัพย์ ธนาคารก็จะจ่ายดอกเบี้ย ถ้าฝากไปเรื่อย ๆ ดอกเบี้ยก็จะทบต้นไปเรื่อย ๆ

การลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงสูงกว่าการฝากเงินในธนาคาร และบางปีบริษัทอาจไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ตามปกติ เพราะผลการดำเนินงานขาดทุน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจจึงต้องศึกษาข้อมูลในอดีตย้อนหลังไปหลาย ๆ ปี ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ว่าบริษัทใดที่สามารถจ่ายเงินปันผลได้สม่ำเสมอ ถึงแม้ข้อมูลดังกล่าวจะไม่ได้การันตีว่าในอนาคตบริษัทจะจ่ายเงินปันผลได้อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างน้อยก็เพิ่มความมั่นใจว่าจะสามารถรักษาระดับการจ่ายเงินปันผลได้
 
4. กระจายการลงทุนในหุ้นปันผลอย่างเหมาะสม

“อย่าเก็บไข่ไว้ในตระกร้าใบเดียว” สามารถใช้ได้กับการเลือกหุ้นปันผลเข้าพอร์ตลงทุน หมายความว่า ควรกระจายการลงทุนในหุ้นปันผล เช่น หุ้นปันผลกลุ่มพลังงาน 1 ตัว กลุ่มธนาคาร 1 ตัว กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 1 ตัว หรือกลุ่มเทคโนโลยี 1 ตัว เป็นต้น เพราะหากเกิดเหตุการณ์หรือมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นหรือหุ้นรายตัว การกระจายการลงทุนก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้
 
5. ลงทุนระยะยาว

การลงทุนในหุ้นปันผลมักเป็นการลงทุนระยะยาว เพราะผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ได้จะมาจากกำไรในแต่ละปี ดังนั้น นอกจากเลือกลงทุนในบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ดี มีกำไรเติบโตอย่างสม่ำเสมอแล้ว ต้องมีอัตราหนี้สินต่อทุนต่ำด้วย โดยให้สังเกตจากในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาถ้าบริษัทสามารถรักษาระดับอัตราการทำกำไรได้ ย่อมทำให้นักลงทุนลดความเสี่ยงจากการลงทุนในระยะยาวได้อีกด้วย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ม.ค. 2565 เวลา : 09:43:54
04-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 4, 2024, 12:28 pm