คริปโตเคอเรนซี่
Special Report: สรุปง่ายๆ สำหรับสายเทรด กับ ''การเสียภาษีคริปโต'' ล่าสุด ขาดทุนหักลบกำไรได้ งดเว้นภาษี ณ ที่จ่าย 15%


 
ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางกรมสรรพากรได้ออกแนวทางการผ่อนปรนการคำนวณภาษีคริปโต พร้อมทั้งคู่มือแนะนำการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา Cryptocurrency (ที่สามารถดาวน์โหลดได้จาก https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/lorkhor/information/manual_crypto_310165.pdf ) แต่เนื่องจากรายละเอียดการเก็บภาษีที่มีความยิบย่อยถึง 32 หน้ากระดาษทาง “AC News” จึงทำการย่อยสรุปให้ชัดเจนและเข้าใจง่ายว่าเราต้องเสียภาษีอย่างไร สำหรับบุคคลธรรมดาทั่วไปที่เป็นแค่สายเทรด ทำการซื้อไปขายมา หรือนำเหรียญไปฝากใน DeFi ร่วมด้วยเพียงเท่านั้น

-งดเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

จากประเด็นร้อนเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ผู้ซื้อจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แต่ล่าสุดนี้ กรมสรรพากรได้ทำการอนุโลมให้ผู้ซื้อไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย (เนื่องจากเหตุผลที่ว่าการซื้อขายบนกระดานเทรด หรือ Exchange ที่มีการจับคู่ซื้อขายบนระบบอัตโนมัติ ผู้ซื้อไม่มีทางรู้ว่าผู้ขายอีกฝ่ายเป็นใคร และไม่รู้อีกว่าผู้ขายคนนั้นมีกำไรจากการขายเหรียญให้เราเท่าไหร่ ซึ่งไม่ตรงกับหลักการเสียภาษี ณ ที่จ่ายที่ทางกรมสรรพากรวางไว้) แต่ยังคงต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารายปีเหมือนเดิม

-ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

• นำส่วนขาดทุนหักออกจากกำไรได้

จากก่อนหน้านี้ที่ทางกรมสรรพากรได้ชี้แจงถึงการคำนวณภาษีคริปโตว่าไม่สามารถนำส่วนที่ขาดทุนมาหักลบกับ Transaction ที่เราเทรดแล้วได้กำไร ล่าสุดได้เปลี่ยนแปลงเป็นว่า การคิดภาษีที่คิดจากกำไรที่เราเทรดคริปโตได้ตามแต่ละ Transaction นั้น หากภายในปีเดียวกัน เรามีส่วนที่เทรดแล้วเกินการขาดทุน เราสามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกับกำไรที่เราเทรดได้ก่อนยื่นเสียภาษี เช่น 

-ทำการซื้อเหรียญ ETH จำนวน 20,000 บาท ขายได้ 25,000 บาท = กำไร 5,000 บาท 

-จากนั้นซื้อเหรียญ Luna จำนวน 20,000 บาท ขายออกไป 15,000 บาท = ขาดทุน 5,000 บาท

สรุป จากตัวอย่างข้างต้น Transaction แรก เราได้กำไรมา 5,000 บาท และ Transaction ต่อมา เราเทรดขาดทุนไป 5,000 บาท หากเราทำการเทรด 2 เหรียญนี้ภายในปีเดียวกัน ก็สามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกำไรออกได้ เท่ากับว่าปีนั้นเราไม่เหลือกำไรที่ต้องนำมาเสียภาษี 

แต่มีข้อยกเว้นอยู่อย่างเดียว คือ ต้องทำการเทรดผ่าน Exchange ในการกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เท่านั้น ซึ่งประกอบไปด้วย 7 Exchanges ได้แก่ Zipmex ( zipmex.co.th ), Bitkub (bitkub.com), Satang Pro (satangcorp.com), ERX (er-x.io), Upbit (th.upbit.com), Z.comEX (ex.z.com) และ SCBS(scbs.com

• แปลงเหรียญคริปโตจากสกุลหนึ่งเป็นอีกสกุลหนึ่ง หากมีกำไรก็ต้องยื่นเสียภาษี

การแปลงหรือนำเหรียญคริปโตสกุลหนึ่งไปซื้อเหรียญอีกสกุลหนึ่งมา แล้วมีกำไรหรือมูลค่าเพิ่มขึ้น ก็จำเป็นต้องยื่นเสียภาษี แม้ยังไม่ได้ขายออกมาเป็นเงินสดก็ตาม เช่น

-ทำการซื้อเหรียญ ETH จำนวน 20,000 บาท เมื่อเวลาผ่านไปราคาของเหรียญ ETH ที่เราถืออยู่ขึ้นเป็น 50,000 บาท

-เรานำเหรียญ ETH ทีตีมูลค่าได้เป็น 50,000 บาททั้งหมดนั้นไปแลกเป็นเหรียญ Luna ก็จะแปลว่า มูลค่าของเหรียญ Luna นั้นสูงกว่าต้นทุนของเหรียญ ETH (ที่เราเคยซื้อมา 20,000 บาท) นั้นก็จะกลายเป็นกำไรที่เราต้องเอามายื่นเสียภาษี แม้ยังไม่ได้ขายออกเป็นเงินบาทเลยก็ตาม
 
• ได้รับเหรียญคริปโตฟรี ก็ต้องเสียภาษี

-ได้รับเหรียญคริปโตฟรีจาก Airdrop ที่เราเข้าไปใช้งานใน DeFi หรือ Protocal ต่างๆ หรือได้เป็นรางวัลก็ตาม เราต้องนำมูลค่าเหรียญคริปโต ณ วันเวลาที่เราได้รับทั้งจำนวนยื่นเสียภาษี

-ได้รับเหรียญคริปโตจากบุพการี คู่สมรส หรือผู้สืบสันดาน หากมีมูลค่าส่วนเกิน 20 ล้านบาท (คิดจากมูลค่าเหรียญ ณ วันเวลาที่เราได้รับ) เราต้องนำมูลค่าเหรียญคริปโต เฉพาะส่วนที่เกินมา 20 ล้านบาท ในอัตรา 5% ยื่นเสียภาษี แต่อย่างไรก็ตาม คนที่ได้รับเหรียญดังกล่าวไป เท่ากับเขานั้นมีต้นทุนเหรียญ 0 บาท หากนำไปขายต่อในอนาคต ก็ต้องเอาเงินทั้งจำนวนที่ขายได้ไปยื่นเสียภาษี เช่น ได้รับเหรียญ Luna จากแม่ มาเป็นจำนวนขณะนั้น 30,000 บาท ต่อมาขายออกไป 40,000 (มูลค่าเพิ่มขึ้นมา 10,000 บาท) เราต้องนำเงิน 40,000 บาททั้งจำนวนมาคิดภาษี เพราะราคาขายลบต้นทุน หรือ 40,000-0 = 40,000 บาท 

-ได้รับเหรียญคริปโตจากญาติ เพื่อน หรือคนอื่นๆ หากมีมูลค่าส่วนเกิน 10 ล้านบาท (คิดจากมูลค่าเหรียญ ณ วันเวลาที่เราได้รับ) เราต้องนำมูลค่าเหรียญคริปโต เฉพาะส่วนที่เกินมา 10 ล้านบาท ในอัตรา 5% ยื่นเสียภาษี แต่อย่างไรก็ตามคนที่ได้รับเหรียญดังกล่าวเอาไปขายต่อในอนาคตก็ต้องเสียภาษีทั้งจำนวนที่ขายได้ เช่นเดียวกับที่ได้รับจากบุพการี คู่สมรส หรือผู้สืบสันดานตามด้านบน

• ได้รับเหรียญคริปโตจากการใช้งาน DeFi ก็ต้องเสียภาษี

-การ Staking เมื่อเรานำเหรียญไปทำการ Staking หรือนำเหรียญไปฝากเพื่อกินดอกเบี้ย ส่วนที่เราได้รับ Rewards เป็นเหรียญเพิ่มขึ้นมา ต้องนำส่วนนั้นไปยื่นเสียภาษี ตัวอย่างเช่น เรานำเหรียญ Luna ไป Staking จำนวน 5 เหรียญ Luna แล้วได้รับ Rewards เพิ่มมา 1 เหรียญ Luna เราต้องนำมูลค่าของเหรียญ Luna 1 เหรียญ ณ ขณะที่เราได้รับ มาร่วมคำนวณเสียภาษี 

-การ Yield Farming เช่นเดียวกับการ Staking เมื่อเราจับคู่เหรียญฝากเพื่อได้ดอกเบี้ยหรือ Rewards มาซึ่งเหรียญอีกสกุลหนึ่ง เราต้องนำมูลค่าของเหรียญสกุลนั้นที่เราได้รับ ณ ขณะนั้น มาคำนวณเสียภาษี
 
• ได้รับเหรียญคริปโตจากการถือเหรียญใดเหรียญหนึ่งเอาไว้ ก็ต้องเสียภาษี 

เช่น เราถือเหรียญ Security Token หรือเหรียญใดๆก็ตาม แล้วได้รับ Rewards เป็นผลประโยชน์ต่างๆ อย่างได้เหรียญอีก 1 สกุลเพิ่มขึ้น ได้รับกำไร เงินปันผลเพิ่มต่างๆ ก็ต้องนำมูลค่า Rewards ที่เราได้รับ ณ ขณะนั้น มายื่นเสียภาษี เช่น เราถือเหรียญ Security Token เหรียญหนึ่ง แล้วได้รับปันผลเป็นเหรียญ Moonbeam มา 1 เหรียญ โดยมีมูลค่า ณ ขณะที่เราได้รับคิดเป็นเงิน 15,000 บาท เราก็ต้องเอามูลค่า 15,000 บาทต่อเหรียญ Moonbeam 1 เหรียญ มายื่นเสียภาษี

อนึ่ง หากรายได้รวมกับกำไรที่เราเทรดจากเหรียญคริปโต เป็นเงินได้สุทธิไม่มากกว่า 150,000 บาทนั้น (อยู่ระหว่าง 0 - 150,000 บาท) เราจะได้รับการยกเว้นภาษี ไม่จำเป็นต้องเสียเวลายื่น ส่วนทางด้านของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทางกรมสรรพากรตีความว่า เหรียญคริปโต เป็น “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” ในตอนนี้จึงมีข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในกรณีซื้อขายเหรียญผ่าน Exchange ที่อยู่ในกำกับ กลต. ซึ่งตรงนี้เราอาจจะเห็นเป็นรูปร่างที่ชัดเจนกว่านี้ เมื่อมีการประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาในเวลาต่อไป

LastUpdate 05/02/2565 19:18:48 โดย : Admin
12-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 12, 2024, 8:46 pm