เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รับมือความผันผวนในตลาดทุนเดือนมีนาคม - Fed และรัสเซีย


 

 

ในเดือนมีนาคมนี้มีเหตุการณ์สำคัญที่จะกระทบต่อตลาดทุนอยู่ 2 เรื่องใหญ่ นั่นคือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน แม้ความผันผวนของตลาดทุนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะรับข่าวการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed และความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนราคาน้ำมันที่มีทิศทางสูงขึ้นจากการคว่ำบาตรรัสเซียไปบ้างแล้ว แต่นักลงทุนยังต้องติดตามเพิ่มเติมหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในเดือนมีนาคม

 
Fed เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อ

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย บอกว่า ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องในสหรัฐฯ ยังคงกดดัน Fed ให้เดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุมวันที่ 15-16 มีนาคมที่จะถึงนี้ เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ ที่มาจากความต้องการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค แต่สิ่งที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญอยู่ด้วยเช่นกัน คือความร้อนแรงของเงินเฟ้อจากฝั่งอุปทาน นั่นคือการขาดแคลนแรงงานหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้น และจากปัญหาการขาดแคลนชิปหรือห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะรถยนต์ จึงส่งผลให้ราคารถยนต์มือสองเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่กำลังเสี่ยงว่าจะพุ่งขึ้นอีกหากรัสเซียถูกจำกัดการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยปัญหาเงินเฟ้อทั้งจากฝั่งอุปสงค์และอุปทานจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเสี่ยงเติบโตช้าลง หลังจากที่ขยายตัว 7.0% ในไตรมาสที่ 4 ปี 2564
 
เงินเฟ้อที่สูงจะกดดันให้การบริโภคชะลอลง โดยต้องจับตาการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จากคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ว่าเขามองปีนี้ไว้อย่างไร จะชะลอลงแค่ไหน เพราะในเดือนธันวาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา FOMC มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัว 4.0% ในปี 2565 แต่อาจลดลงมาเหลือ 3.5% ก็เป็นได้ตามแรงปะทะจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้น

แต่หาก Fed เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร็วและแรง เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวต่ำกว่านี้แม้อัตราเงินเฟ้อจะชะลอไปได้บ้างจากฝั่งอุปสงค์ก็ตาม ซึ่ง Fed ไม่น่าที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแรงขนาด 0.50% ในรอบการประชุมเดือนมีนาคมนี้ แต่น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเงินเฟ้อเสี่ยงสูงขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ตามปัญหาอุปทาน แต่น่าจะลดลงได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565
 
ส่วน Fed น่าจะเริ่มส่งสัญญาณว่า จะจับตาความผันผวนของเศรษฐกิจตามภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนว่าจะลามไปประเทศอื่นหรือไม่ ซึ่งจะยิ่งเปิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้งในยุโรปรอบนี้มากนัก แต่อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมและอาหารสัตว์ ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อจากฝั่งอุปทานสูงขึ้นกว่าที่คาด และ Fed น่าจะขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนอีกรอบละ 0.25% พร้อมส่งสัญญาณการลดงบดุลในเดือนมิถุนายนนี้
 
อมรเทพ บอกด้วยว่า หาก Fed กังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อมากและจะขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ในรอบการประชุมเดือนมีนาคมนี้ ตลาดทุนก็ไม่น่าจะผันผวนรุนแรงเพราะน่าจะรับรู้หรือเตรียมใจรับข่าวนี้มาบ้างแล้ว และที่น่าจับตาต่อไปคือ เมื่อความไม่แน่นอนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ หายไป นั่นคือไม่ว่าจะขึ้น 0.25% หรือ 0.50% ก็แล้วแต่ นักลงทุนน่าจะกลับมาดูที่ปัจจัยพื้นฐานว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังน่าสนใจ สภาพคล่องในตลาดทุนยังมีอยู่มาก และน่าจะกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นพื้นฐานที่ปรับตัวลดลงไปในช่วงก่อนหน้า หรือแม้แต่หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่มีโอกาสเติบโตได้ดี แต่ได้รับแรงกระแทกจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ขยับขึ้นเร็วในช่วงก่อนหน้า ซึ่งนักลงทุนน่าจะกลับมาให้ความสนใจหุ้นกลุ่มนี้หลังราคาปรับย่อลงในเดือนที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้ สำหรับนักลงทุนที่กังวลเกี่ยวกับความผันผวนและความไม่แน่นอนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ นักลงทุนอาจรอหลังการประชุม Fed ก่อนเข้าไปสะสมหุ้น หรือหากใครรับความเสี่ยงได้และมองการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ เป็นการลงทุนระยะยาว ก็อาจแบ่งการลงทุนเป็นสามหรือสี่ไม้เพื่อทยอยเข้าไปสะสมกองทุนรวมได้
 
สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนไม่ช้าก็คลี่คลาย
 
สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก โดยนักลงทุนได้เทขายสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และทองคำ ในขณะที่ตลาดกังวลต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำมันดิบและวัตถุดิบส่งผลให้ราคาน้ำมันและแร่สำคัญขยับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ความผันผวนจากภาวะสงครามไม่น่าจะลากยาวเป็นสงครามระหว่างรัสเซียและยุโรป หรือรัสเซียและนาโต (Nato) แต่น่าจะเป็นการจำกัดขอบเขตในกลุ่มประเทศนอกนาโต หรือกรณีที่ดีที่สุดก็น่าจะจบที่ยูเครน และน่าจะหาทางออกด้วยการเจรจา
 
ซึ่งในอดีตนั้น สงครามในรูปแบบนี้ไม่น่าบานปลาย เช่น กรณีรัสเซียยึดไครเมียในปี 2014 สิ่งที่ตามมาคือสงครามทางเศรษฐกิจด้วยมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย เช่น จำกัดการโอนเงินผ่านระบบ SWIFT ซึ่งมีผลทำให้เศรษฐกิจรัสเซียเข้าสู่ภาวะถดถอย ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าแรง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลต่อเสถียรภาพด้านการเงิน หรือธนาคารพาณิชย์อาจมีปัญหาสภาพคล่องได้ แต่ในกรณีนี้ต้องติดตามว่ารัสเซียจะตอบโต้ชาติตะวันตกอย่างไร หรือจีนจะช่วยเหลือรัสเซียมากน้อยหรือไม่
 
แต่หากเป็นเพียงเศรษฐกิจรัสเซียที่มีปัญหา ผลกระทบต่อโลกน่าจะจำกัดเพราะการเชื่อมโยงด้านห่วงโซ่อุปทานจากรัสเซียมีน้อย ยกเว้นด้านพลังงาน เพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก ในส่วนของตลาดทุนน่าจะคลายความกังวลหากสงครามไม่ยืดเยื้อและจบลงด้วยการเจรจาถอนกำลังออกจากยูเครน หรือไม่มีการรุกรานไปในประเทศอื่น โดยเฉพาะเมื่อปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ ในยุโรปยังไม่เปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ และธนาคารกลางยุโรปยังไม่รีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยกเว้นว่าราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงและลากยาว และการคว่ำบาตรรัสเซียกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปด้วย ก็อาจมีผลต่อการลงทุนในยุโรปได้เช่นกัน ซึ่งอาจเลี่ยงได้ด้วยการโยกย้ายเม็ดเงินที่จะลงทุนใหม่ไปยังภูมิภาคอื่นก่อน
 
อมรเทพ มองว่า ในส่วนของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียนั้น น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้านด้วยกัน ดังนี้
 
1. ผลกระทบต่อราคาสินค้า ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน อาหารสัตว์ หลากหลายปัจจัยการผลิต ราคาจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายสำคัญของโลก ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการบริโภคปรับเพิ่มขึ้น เกิดเงินเฟ้อพุ่งขึ้นในอนาคตทั่วโลกไม่เพียงเฉพาะประเทศไทย
 
2. ผลกระทบต่อการส่งออก ไทยส่งออกไปตลาดยุโรปมาก แต่ส่งออกไปรัสเซียน้อย ประมาณ 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือไม่ถึง 1% ของการส่งออกทั้งหมด แต่หากสงครามนี้ลุกลามไปถึงยุโรปเมื่อไร ก็น่าจะทำให้กังวล เพราะไทยส่งออกสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยาง เคมีภัณฑ์ เป็นต้น โดยสินค้ากลุ่มนี้ ไทยมีความสามารถในการแข่งขันและเชื่อว่าจะหาตลาดอื่นทดแทนได้ แต่ก็ยังคงต้องติดตามต่อไป
 
3. ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ไทยไม่ได้พึ่งพานักท่องเที่ยวรัสเซียในสัดส่วนที่สูง โดยในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางมาประเทศไทยประมาณ 3 หมื่นคน เพียงแต่นักท่องเที่ยวรัสเซียจะใช้จ่ายมาก จึงมองว่าถ้าเศรษฐกิจรัสเซียชะลอลง ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่า นักท่องเที่ยวก็อาจไม่เดินทางมาท่องเที่ยว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จะเป็นอย่างไร ก็หวังว่าปัญหาคงจะไม่ลุกลามไปยังยุโรป เพราะเป็นลูกค้าสำคัญของไทย
 
ลงทุนอย่างไร ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น

อมรเทพ เชื่อว่าสภาพคล่องในตลาดทุนยังมีอยู่ และเงินต้องหาที่ไป ถ้านักลงทุนยังกังวลต่อสถานการณ์ในยุโรปตะวันออกที่ยังมีความขัดแย้งอยู่หรือต่อเนื่อง เงินน่าจะไหลเข้ามายังประเทศที่มีความสัมพันธ์กับรัสเซียไม่มาก หรือการเชื่อมโยงทางการเงินน้อย หากเป็นเช่นนี้ ประเทศในกลุ่ม Emerging Markets เช่น เวียดนาม จีน อินเดีย และไทย ก็น่าจะได้ประโยชน์จากเงินที่จะไหลมาพัก ตลอดจน Emerging Markets ในแถบละตินอเมริกา ก็น่าจะเป็นที่โยกเงินกลับเข้าไปได้ อีกปัจจัยหนึ่งคือ ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น กลุ่มสถาบันการเงินก็น่าจะได้ประโยชน์นี้
 
สุดท้าย อมรเทพไม่เชื่อว่าความขัดแย้งนี้จะบานปลายสู่สงครามใหญ่ในยุโรป มองว่าความขัดแย้งนี้จะเกิดขึ้นในระยะสั้น แม้จะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น แต่การเพิ่มกำลังการผลิตจากกลุ่มโอเปก (OPEC) ก็น่าจะเป็นทางออกในจุดนี้ ทำให้ตลาดเกิดการปรับสมดุลได้ในอนาคต

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 มี.ค. 2565 เวลา : 03:42:59
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 10:28 pm