เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คลังเผยมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบโควิด-19


นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการที่ลูกหนี้ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ผู้ประกอบการ SMEs) ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) จะเริ่มครบกำหนดชำระหนี้ในเดือนเมษายน 2565 แต่ผู้ประกอบการ SMEs บางรายอาจยังคงต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อดำเนินธุรกิจและอาจยังไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan คืนทั้งจำนวน

 
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ SMEs ยังคงได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องและป้องกันมิให้ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มดังกล่าวผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง และลดภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะเป็นการประคับประคองกิจการและพยุงการจ้างงานในประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan Extra วงเงิน 90,000 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan และจะครบกำหนดเวลาการชำระหนี้คืน ให้ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง ระยะเวลาการค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 8 ปี และ บสย. คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs เป็นจำนวนร้อยละ 0.75 ต่อปี ใน 2 ปีแรกของการค้ำประกัน  
 
2. การปรับปรุงการดำเนินการโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าวเป็นจำนวนร้อยละ 0.75 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ในช่วง 2 ปีแรกของโครงการค้ำประกัน เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้โครงการ ที่ต้องเริ่มจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในปี 2565
 
นายพรชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้มีภาระหนี้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่ผู้ประกอบการจะผิดนัดชำระหนี้ อีกทั้งทำให้มีเงินหมุนเวียนเพียงพอต่อการประกอบธุรกิจ และหากผู้ประกอบการ SMEs ต้องการทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ก็สามารถติดต่อสถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อฟื้นฟูภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ได้อีกด้วย  
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 มี.ค. 2565 เวลา : 23:36:22
28-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 28, 2024, 6:57 pm