เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.กรุยทางแบงก์พาณิชย์ ปรับแนวทางดูแล เอื้อต่อธุรกิจ Digital และ FinTech


ธปท.ปรับแนวทางดูแลกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ส่งเสริมการพัฒนาบริการผ่านเทคโนโลยี ยกระดับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ยกเลิกข้อจำกัดการลงทุนในธุรกิจ FinTech


 
 
 
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายใต้แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (แนวนโยบาย Financial Landscape) ที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ภาคการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ดีขึ้น และสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงใหม่ๆ ได้อย่างเหมาะสมนั้น  

ที่ผ่านมาเทคโนโลยีในภาคการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) เริ่มปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงิน (กลุ่ม ธพ.) และให้ความสนใจกับการเพิ่มบทบาทในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (digital assets: DA) มากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการยกระดับการให้บริการทางการเงิน แต่ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ ธปท.จึงได้ปรับปรุงเกณฑ์ให้กลุ่ม ธพ. มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการประกอบธุรกิจ และยกระดับการกำกับกลุ่ม ธพ. ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป โดยพิจารณาทั้งประโยชน์ต่อประชาชนและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

• ยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ที่ 3% ของเงินกองทุนเพื่อให้กลุ่ม ธพ.ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ได้มากขึ้น เนื่องจากเห็นประโยชน์ที่ชัดเจน อีกทั้งกลุ่ม ธพ.มีประสบการณ์การลงทุนในธุรกิจ FinTech มากขึ้น และหน่วยงานกำกับดูแลมีแนวทางดูแลความเสี่ยงในระดับหนึ่งแล้ว
 
• ให้บริษัทในกลุ่ม ธพ. สามารถลงทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ DA ภายใต้เพดานที่ 3% ของเงินกองทุน เพื่อให้การขยายตัวเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วยจำกัดความเสี่ยงใหม่ๆ ที่อาจกระทบความเชื่อมั่นต่อ ธพ. และให้กลุ่ม ธพ. พิจารณาการลงทุนหรือจัดสรรทรัพยากรอย่างรอบคอบ โดยเมื่อมีมาตรฐานการกำกับดูแลที่เป็นสากลหรือมีแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจนเพียงพอ ก็สามารถปรับเพิ่มหรือยกเลิกเพดานการลงทุนที่กำหนดได้เป็นการทั่วไปเช่นเดียวกับเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech
 
• หาก ธพ. สามารถยกระดับมาตรฐานของกิจการ DA ใดให้เป็นไปตามที่กำหนดได้ เช่น เรื่อง
ธรรมาภิบาล การดูแลความเสี่ยงระบบงาน และการคุ้มครองผู้ใช้บริการ อนุญาตให้ไม่นับเงินลงทุนของกิจการนั้นในเพดานการลงทุนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจ DA ในกลุ่ม ธพ. อันจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานธุรกิจ DA ของประเทศ 
 
• ให้ธุรกิจที่ยังมีความเสี่ยงหรือยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล สามารถดำเนินงานในกรอบ Sandbox ได้ในวงจำกัดก่อน เพื่อพิจารณาถึงประโยชน์ของประเทศ การดูแลความเสี่ยงและผลกระทบต่อระบบในภาพรวม ก่อนการให้บริการในวงกว้างต่อไป
 
• ให้กลุ่ม ธพ. จำกัดความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงที่อาจเกิดต่อ ธพ. เพื่อให้การดำเนินงานในธุรกิจใหม่ ๆ ของกลุ่ม ธพ. ไม่กระทบต่อผู้ฝากเงินและระบบการเงิน โดยยังไม่อนุญาตให้ ธพ. ประกอบธุรกิจ DA ได้โดยตรง กลุ่ม ธพ. มีโครงสร้างกรรมการที่ไม่มีการขัดกันของผลประโยชน์ มีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงใหม่ ๆ และ ธพ.? มีระบบงานต่าง ๆ แยกออกจากธุรกิจที่มีความเสี่ยง
 
นอกจากนี้ กลุ่ม ธพ. ในฐานะที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่ถูกกำกับดูแลอย่างเข้มข้น ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชน และสามารถขยายตลาดสำหรับบริการใหม่ ๆ ได้เร็วจากฐานลูกค้าที่กว้างและหลากหลาย ซึ่งรวมถึงประชาชนกลุ่มเปราะบางด้วยนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้ใช้บริการ การแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะ DA ที่มีความเสี่ยงสูงจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง พิจารณาถึงความรู้ทางการลงทุนและความสามารถในการรับความเสี่ยงของลูกค้าด้วย
 


 
 
 
ธปท. เชื่อว่าการปรับเกณฑ์ดังกล่าว จะเอื้อให้ธุรกิจในภาคการเงินสามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ระบบการเงินได้รับประโยชน์จากการแข่งขัน เกิดการพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน และทำให้ธุรกิจ DA ในประเทศมีมาตรฐานการบริการที่เป็นที่ยอมรับ ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่ดี ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับผลลัพธ์ที่คาดหวัง รวมทั้งผลการรับฟังความคิดเห็นต่อแนวนโยบาย Financial Landscape

ทั้งนี้ ธปท.จะออกร่างหลักเกณฑ์เพื่อรับฟังความเห็นบน BOT website ก่อนที่จะออกประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องภายในครึ่งแรกของปี 2565
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 มี.ค. 2565 เวลา : 21:21:24
28-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 28, 2024, 11:18 am