การค้า-อุตสาหกรรม
"พาณิชย์-DITP" แนะผู้ประกอบการอาหาร-สินค้าไทย ใช้ช่องทางเดลิเวอรีขยายตลาดจีน


กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทางเดลิเวอรี ขายอาหาร อาหารปรุงสำเร็จ และสินค้าไทย ในตลาดจีน หลังตลาดเดลิเวอรีบูมสุดๆ ผู้บริโภคหันมาใช้บริการเพิ่มขึ้น ชี้ช่องเข้าสู่ตลาด ควรร่วมมือกับแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงด้านอาหาร จัดโปรโมชันให้ส่วนลด และใช้ KOL ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับอาหารและสินค้าไทย

 
 

 
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่างๆ ล่าสุดได้รับรายงานจากน.ส.ชนิดา อินปา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหาร อาหารสำเร็จรูป และสินค้าไทย ผ่านช่องทางเดลิเวอรี ที่กำลังขยายตัวสูงขึ้น หลังจากที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จีนประสบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางเดลิเวอรีในการสั่งอาหารและซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น
 

 
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ชิงต่าวได้รายงานว่า มูลค่าของตลาดเดลิเวอรีอาหารและเครื่องดื่ม ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2020 ตลาดมีมูลค่า 664,600 ล้านหยวน หรือประมาณ 3.52 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% ปี 2021 มีมูลค่า 811,700 ล้านหยวน หรือประมาณ 4.30 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.13% และคาดการณ์ปี 2022 จะมีมูลค่า 941,740 ล้านหยวน หรือประมาณ 4.99 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5.3 บาท) และยอดจำหน่ายอาหารผ่านออนไลน์ก็เพิ่มขึ้น โดยในปี 2020 สัดส่วนรายได้เดลิเวอรีทางออนไลน์ คิดเป็น 16.9% ของรายได้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของจีน ปี 2021 สัดส่วนเพิ่มเป็น 21.4% และปี 2022 จะเพิ่มเป็นสัดส่วน 25.6% ขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการก็เพิ่มขึ้น ปี 2020 มีจำนวน 418.83 ล้านคน ปี 2021 จำนวน 544.16 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 52.7% ของประชากรชาวเน็ตจีนทั้งหมด
 

 
สำหรับกลุ่มผู้บริโภคหลักของบริการเดลิเวอรี ที่สำรวจโดยบริษัท Meituan ผู้ให้บริการเดลิเวอรีชื่อดังของจีน พบว่า ผู้ที่มีอายุ 23-32 ปี คือ ผู้บริโภคหลัก คิดเป็นสัดส่วน 50% ของผู้ใช้บริการทั้งหมด ผู้บริโภคที่มีความถี่ในการใช้บริการ ได้แก่ ผู้บริโภคอายุ 18–25 ปี และผู้บริโภคอายุ 26–30 ปี คิดเป็นสัดส่วน 36.1% และ 22.5% ตามลำดับ ส่วนผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ คือ อายุ 43-52 ปี แต่ผู้บริโภคอายุ 33–42 ปี มีค่าใช้จ่ายในการบริโภคโดยเฉลี่ยประมาณ 30 หยวนขึ้นไป หรือประมาณ 159 บาทขึ้นไป ซึ่งสูงกว่าผู้บริโภคอายุระหว่าง 23–32 ปี

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมเดลิเวอรีขยายตัว คือ เศรษฐกิจกักตัว จากผลกระทบโควิด-19 เกิดแนวคิดทุกอย่างส่งถึงบ้าน และการจัดส่งไร้สัมผัส ทำให้เกิดเศรษฐกิจของคนขี้เกียจ หรือ Lazy Economy ผู้บริโภคจึงหันมาใช้บริการสั่งอาหารมากขึ้น แทนออกไปซื้อหรือบริโภคนอกบ้าน และยังได้รับผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดส่งที่ทันสมัย ที่เริ่มมีให้บริการรถจัดส่งไร้คนขับ จัดส่งด้วยโดรน ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการใช้ของผู้บริโภค

นายภูสิตกล่าวว่า การเติบโตของตลาดเดลิเวอรีของจีน เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารไทย หรือผู้ประกอบการสินค้าไทยทั่วไปที่สามารถจัดส่งแบบเดลิเวอรีได้ โดยเฉพาะสินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน โดยผู้ประกอบการไทยทั้ง 2 กลุ่ม ควรอาศัยความนิยมของการใช้บริการเดลิเวอรีในตลาดจีนให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการเข้าร่วมให้บริการผ่านแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงด้านอาหารของจีน เช่น แพลตฟอร์ม Meituan (เหม่ยถวน) แพลตฟอร์ม Eleme (เอ้อเลอเมอะ) เป็นต้น เนื่องจากเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ใช้บริการเป็นประจำทุกวันทำงาน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรดึงดูดลูกค้าโดยการจัดโปรโมชันส่วนลดค่าอาหาร การขยายพื้นที่ให้บริการ หรือการแจกคูปองส่วนลดสำหรับการใช้บริการที่ร้าน เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคได้เข้าไปมีประสบการณ์ในการใช้บริการแบบออฟไลน์ เพื่อสร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้าอาหาร ทั้งอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน หรือเครื่องปรุงอาหารที่ผู้ประกอบการไทยควรจัดจำหน่ายภายในร้านอาหารด้วย ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้าไทยแล้ว แต่ยังสามารถเผยแพร่วัฒนธรรมการปรุงอาหารไทย หรือสร้างความเคยชินในการซื้อสินค้าไทยไปประกอบอาหารให้แก่ผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่งด้วย

ขณะเดียวกัน ควรจัดการประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารไทยผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ร่วมกับผู้นำทางความคิด (KOL) โดยปัจจุบันไม่จำเป็นที่จะต้องร่วมกับ KOL ที่มีชื่อเสียงด้านอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถพิจารณาร่วมกับ KOL ที่มีชื่อเสียงด้านอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมในตลาดจีน เพื่อให้เป็นกระบอกเสียงของสินค้าไทยและอาหารไทย ซึ่งนอกจากจะทำให้กลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารได้รู้จักสินค้าไทยและอาหารไทยมากขึ้นแล้ว ยังจะทำให้กลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบ KOL เหล่านั้น ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ และได้รู้จักสินค้าไทยและอาหารไทยมากขึ้นตามไปด้วย

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 พ.ค. 2565 เวลา : 21:09:50
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 1:02 am