คริปโตเคอเรนซี่
Scoop : "วิกฤติขาดแคลนอาหาร" คลื่นใต้น้ำ...ที่ไม่ควรมองข้าม


 

 

ผู้อ่านสังเกตกันไหมว่าช่วงนี้ของอุปโภคบริโภค หรือที่เรียกว่า Commodity นั้นมีราคาแพงขึ้น เช่น ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นมากๆ จนไม่ยากจะขับรถออกไปไหน หรือ วัตถุดิบอาหารบางอย่าง เช่น น้ำมันปาล์ม ที่ราคาต่อขวดเกิน 70 บาทเข้าไปแล้ว เนื้อสัตว์ต่างๆ ก็แพงไปตามๆ กัน เสมือนว่าราคาของทุกๆ อย่างปรับตัวขึ้นสูงกันทั้งหมด จนทำให้อำนาจการจับจ่ายใช้สอยของเราดูจะน้อยลงไปเรื่อยๆ


ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ได้ส่งผลกระทบกับคนทั่วทุกมุมโลก คือ รายได้เท่าเดิม หรือไม่ก็ลดลง แต่ต้นทุนการใช้ชีวิตกลับสูงขึ้น ซึ่งก็คือภาวะของเงินเฟ้อนั่นเอง ที่แม้ Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐจะประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.50% และทำ QT ดึงเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ แต่ก็มีทีท่าว่าจะไม่สามารถลดดัชนีอัตราเงินเฟ้อไปได้เลย เนื่องจากนโยบายการทำ QE หรือการพิมพ์เงินเข้าระบบเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงปี 2020 ที่ทำให้เศรษฐกิจกลับมาทรงตัวได้ แต่เงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบมีมากเกินไปจนทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์อุปทานของเงิน หรือก็คือปริมาณของเงินที่อยู่ในระบบมีมากเกินกว่าความต้องการ จนทำมูลค่าของเงินที่เราถืออยู่นั้นลดลง ผกผันกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น

ประกอบกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะหาข้อยุติกันได้ในเร็ววัน ซึ่งฉากหลังของสถานการณ์นี้มันก็คือการแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า และการแย่งชิงคู่ค้าระหว่างประเทศ การ Sanction หรือการคว่ำบาตรรัสเซียทางการค้า จึงเป็นชนวนที่ทำให้ของอุปโภคบริโภคต่างๆ มีราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นอีกปัจจัยหลักที่ทำให้ภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจนสูงเป็นประวัติการณ์ เพราะทั้งรัสเซียที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าเป็นผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ของโลก จนเกิดปัญหาที่น้ำมันมีราคาสูงขึ้นแบบแพงหูฉี่ และยูเครนเองนั้น ทั้ง 2 เป็นประเทศต้นทางสำคัญของธุรกิจอาหาร อย่างข้าวสาลีมีสัดส่วนทางการค้าอยู่ 1 ใน 3 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 25-30% ของมูลค่าการค้าข้าวสาลีทั่วโลก ด้านข้าวโพดที่เป็นธัญพืชสำคัญของทั้งคนและสัตว์ กินส่วนแบ่ง 1 ใน 5 ของตลาดโลก และสัดส่วนผู้ผลิตน้ำมันดอกทานตะวัน 80% ที่เป็นที่นิยมใช้ของทางฝั่งประเทศ EU ก็มาจากทางรัสเซีย ธัญพืชที่สำคัญเหล่านี้ได้หดหายไปจากสถานการณ์สงคราม ดูเผินๆอาจเป็นโอกาสดีที่ให้ประเทศอื่นได้ช่วงชิงการส่งออกธัญพืชไปป้อนให้กับตลาดโลก แต่ธัญพืชเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการปลูกและการเก็บเกี่ยว และไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆประเทศอื่นจะปลูกทดแทนในปริมาณที่หายไปได้

ทำให้ราคาของทั้ง 3 อย่างนี้มีราคาที่สูงขึ้น และอาจสูงขึ้นได้เรื่อยๆอีก จากล่าสุดที่ฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวสาลีของยูเครนที่อยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมกำลังใกล้เข้ามาแล้ว หากไม่สามารถส่งออกจากทางท่าเรือโอเดสซา เมืองท่าที่สำคัญทางตอนใต้ได้ การไปหาช่องทางการขนส่งด้วยวิธีอื่นแน่นอนว่าต้นทุนก็จะบวกสูงขึ้น ซึ่งยิ่งในช่วงสถานการณ์แบบนี้ ค่าขนส่งสินค้า (ค่าระวางเรือ) ก็แพงกว่าสินค้าในเรือไปแล้ว ยิ่งบวกกับค่าขนส่งทางบกไปด้วย แน่นอนว่าเราเห็นอนาคตลางๆได้เลยว่าราคาข้าวสาลี รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีข้าวสาลีเป็นส่วนประกอบก็จะยิ่งมีราคาที่สูงขึ้นไปอีกแน่นอน

ส่วนด้านน้ำมันเมล็ดทานตะวัน ที่เราอาจจะคิดว่าคงไม่กระทบกับประเทศฝั่งเรา แต่กลับกระทบกับราคาน้ำมันปาล์มและน้ำมันพืชเต็มๆ เราคงเห็นราคาของน้ำมันประกอบอาหารช่วงนี้กันแล้วว่าแพงขนาดไหน เหตุผลเป็นเพราะเนื่องจากน้ำมันเมล็ดทานตะวันที่ผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างรัสเซียโดนคว่ำบาตร จึงได้มีการใช้น้ำมันทดแทนอย่างน้ำมันปาล์ม และน้ำมันพืชแทน ซึ่งผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่คือประเทศอินโดนีเซีย เมื่อความต้องการจากภายนอกประเทศสูงขึ้น ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศก็อยากที่จะเอาของตัวเองไปขาย ซึ่งขายในราคาที่สูงขึ้น (อุปสงค์มีมาก) ทำให้คนอินโดนีเซียเองเริ่มเดือดร้อนกับราคาน้ำมันที่แพงขึ้น เนื่องด้วยมันเป็นหนึ่งในสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ รัฐบาลจึงได้มีมาตรการกีดกันทางการค้า สั่งห้ามไม่ให้ผู้ผลิตนำน้ำมันปาล์มส่งขายออกไปยังต่างประเทศเลย ด้วยข้อจำกัดข้อนี้ก็ยิ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์ม ที่มี Supply หรืออุปทานลดลงผกผันกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ราคาก็จะยิ่งทวีความแพงขึ้นไปอีก เห็นได้จากประเทศไทยเราก็โดนผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากเราผลิตน้ำมันปาล์มได้เองในสัดส่วนเพียงแค่ 3% ราคาน้ำมันในไทยจึงมีราคาทะลุไป 70 กว่าบาท ก่อนปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากที่อินโดนีเซียยกเลิกการกีดกันการส่งออกน้ำมันปาล์มเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (สถานการณ์ในประเทศอินโดนีเซียของเขาอยู่ตัวแล้ว คนในประเทศไม่เดือดร้อนกับ Supply Shock แล้ว)

หรือเรื่องการขาดแคลนเชื้อเพลิงน้ำมัน จากการที่ไปคว่ำบาตรรัสเซีย นอกจากจะส่งผลให้ราคาของเชื้อเพลิงและน้ำมันมีราคาแพงจนหูฉี่แล้ว ผลพลอยได้จากน้ำมันอย่างปุ๋ยที่เอามาใช้ในภาคการเกษตรก็กระทบกันตามไปด้วย ผลผลิตการเกษตรหลายๆอย่างจึงมีราคาปรับสูงขึ้นไปตามราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น

จะเห็นได้ว่าผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้โลกของเราตอนนี้กำลังประจันหน้าอยู่กับวิกฤติขาดแคลนอาหาร ที่เริ่มจะเห็นเค้าลางในอนาคตชัดเจนขึ้นทุกทีๆ (ซึ่งบางประเทศที่มีกำลังซื้อน้อยและต้องพึ่งพาธัญพืชที่เป็นปัญหาพวกนี้ ก็เกิดการขาดแคลนก่อนใครเพื่อนไปแล้ว) เพราะเป็นปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่กระทบกับสินค้าอุปโภคบริโภคไปแทบทุกหย่อมหญ้า และยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจจากการเป็นแรงผลักดันให้สภาวะเงินเฟ้อรุนแรงมากขึ้น ในช่วงครึ่งปีหลังนี้เราทุกคนอาจต้องเตรียมเบาะกันกระแทกกับวิกฤติขาดแคลนอาหารที่ไม่น่ามีทางหลีกเลี่ยงไปได้ หากสถานการณ์สงครามยังไม่ทีท่าว่าจะคลี่คลายลง

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 พ.ค. 2565 เวลา : 15:19:17
21-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 21, 2024, 2:19 am