เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : เศรษฐกิจยุโรปหวิดดิ่งลงเหว จากการ "Sanction รัสเซีย" ในสภาวะสงคราม


 

 
 
เหตุการณ์ในปี 2022 ที่ถือได้ว่าเป็นวาระสำคัญที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ และมีผลกระทบกับชีวิตประจำวันมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น “สภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน” ที่ตอนนี้ได้ยิงยาวมาถึงเดือนที่ 4 เข้าไปแล้ว และยังไม่มีทีท่าหรือสัญญาณที่ดีว่าสถานการณ์จะสงบลงใดๆ สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของทั้งประชาชนชาวยูเครน ชาวรัสเซีย และเศรษฐกิจที่เซื่องซึมลงอย่างเห็นได้ชัด กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศฝั่งยุโรป ที่เป็น Part สำคัญในการ Sanction หรือคว่ำบาตรเศรษฐกิจของรัสเซียเอง และมีแนวโน้มว่าในช่วงครึ่งปีหลังต่อจากนี้ เศรษฐกิจของยุโรปจะยิ่งแย่ลงกว่าที่เป็นอยู่ได้มากกว่านี้อีก

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า 3 เรือธงเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก ประกอบไปด้วย ภาคเศรษฐกิจจีน, สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป ในช่วงแรกนั้นจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงอย่างน่าเป็นห่วงเนื่องจากมาตรการ Zero Covid แต่ท้ายที่สุดแล้วยุโรปกลับแซงนำลิ่วแบบไม่เห็นฝุ่น เนื่องจากยุโรปมีการผลิตสินค้าส่งออกในสัดส่วนที่มากกว่าทางสหรัฐอเมริกา และตลาดใหญ่หรือกำลังซื้อหลักมาจากทางจีน โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนม ฉะนั้นการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงก็ย่อมมีผลกระทบกับเศรษฐกิจของยุโรปไปด้วย ผนวกกับสภาวะเงินเฟ้อของยุโรปสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งถ้าหากซูมดูแล้ว อ้างอิงจากข้อมูลของ Eurostat ชี้ให้เห็นว่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น มีเหตุมาจากราคาของพลังงานและน้ำมันที่มีราคาแพงขึ้นกินสัดส่วนอยู่ถึง 38% เลยทีเดียว โดยเป็นที่ประจักษ์กันอยู่แล้วว่า รัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกพลังงานเป็นอันดับ Top 3 ของโลก และประเทศทางฝั่งยุโรปก็จำเป็นต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากทางของรัสเซีย สภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น โดยที่ยุโรปได้มีการ Sanction รัสเซีย ปฏิเสธการซื้อน้ำมันและพลังงานธรรมชาติ จึงส่งผลร้ายกับเศรษฐกิจยุโรปอย่างที่เป็นอยู่ และอาจจะมีแต่เลวร้ายลงมากขึ้นเรื่อยๆ

 ค่าเงินรูเบิลกลับมาแข็งค่ามากกว่าช่วงก่อนเกิดสงคราม

หากย้อนดูตามประวัติศาสตร์ ยุโรปไม่ได้เผชิญกับสงครามครั้งใหญ่มาเป็นเวลานานนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สงครามที่เกิดขึ้นครั้งนี้ มีผู้เล่นเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างรัสเซีย ประเทศที่กุมพลังงานธรรมชาติ และสงครามที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่มีการรบกันแค่ในสนามรบอย่างเดียว เฉกเช่นกับสงครามในสมัยก่อน แต่มีการสู้รบด้วยข้อมูลที่ส่งผ่านกันในสื่อ Social Media ซึ่งมีทั้งจริงและเท็จ นำเสนอความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับยูเครน ซึ่งทำให้ชาวโลก รวมถึงชาวยุโรป มี Engagement และอารมณ์ร่วมอย่างมาก ต่างประณามการกระทำของฝ่ายรัสเซีย และเรียกร้องให้มีการ Sanction เกิดขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่การ Sanction ครั้งแรกหลังที่รัสเซียบุกยูเครน จวบจนตอนนี้ ก็เห็นแล้วว่าไม่สามารถที่จะล้มคว่ำเศรษฐกิจของรัสเซียได้แบบทันที เงินสกุลรูเบิลไม่ได้ตกต่ำ ซ้ำแล้วค่าเงินรูเบิลยังสูงขึ้นกว่าช่วงที่จะเกิดสงครามอีกด้วยซ้ำ แม้ภายหลังการบุกยูเครน และการรวมตัวกัน Sanction คว่ำบาตรรัสเซียจากทางสหรัฐอเมริกาและประเทศทางฝั่งยุโรป สกุลเงินรูเบิลได้ร่วงลงทันทีกว่า 30% ในช่วงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2022 และร่วงลงมาต่ำสุดกว่า 70% แต่ต่อมาก็ทะยานแข็งค่าขึ้น เพราะทางวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย พลิกเกม ได้กำหนดออกมาว่าหากใครซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากทางตน ต้องใช้เงินสกุลรูเบิลในการจ่ายเท่านั้น

การที่ยุโรปพึ่งพาพลังงานธรรมชาติจากทางรัสเซียมาเป็นระยะเวลายาวนาน ส่งผลบวกอย่างใหญ่หลวงต่อความเฟื้องฟูของภาคเศรษฐกิจในยุโรปจนกลายเป็น 1 ใน 3 เรือธงที่เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญของโลก แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง เราก็จะสามารถสังเกตเห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในยุโรปนั้นแปรผันไปตามความสัมพันธ์ที่มีต่อรัสเซีย หรือก็คือยุโรปนั้นตกเป็นรองรัสเซียซึ่งมีอำนาจพลังงานในมือ ฉะนั้นการที่ยุโรป Sanction เศรษฐกิจรัสเซีย ทยอยลดการซื้อนำเข้าน้ำมัน ที่ปกติรัสเซียต้องส่งให้ยุโรปอยู่ที่ 3,400,000 - 3,500,000 บาเรล/วัน (ทั้งน้ำมันดิบ และน้ำมันที่กลั่นแล้ว) หากรัสเซียจะหาตลาดทดแทนรายได้การขายน้ำมันที่หายไป ไปยังประเทศทางตะวันออก ก็สามารถชดเชยได้ถึงประมาณ 18,000,000 บาเรล/วัน ซึ่งมากกว่าทางยุโรปเสียด้วยซ้ำ จึงกลายเป็นว่านอกจากจะทำการล้มเศรษฐกิจของรัสเซียให้ล้มหายแบบฉับพลันไปเลยไม่สำเร็จแล้ว ฝั่งเศรษฐกิจของตนเองก็มีอันชะงัก เนื่องจากการขาดพลังงานธรรมชาติที่ยุโรปลดการนำเข้าจากรัสเซียลงไป
 
โดยถึงแม้หากเหตุการณ์สงครามในอนาคตกลับมาเป็นปกติ ตามการวิเคราะห์ของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงว่า ยุโรปอาจมองหาแหล่งพลังงานจากแห่งใหม่ เพราะต้องการจะเฟดตัวออกจากการตกเป็นรองกับทางรัสเซีย ซึ่งอาจจะหันไปซื้อน้ำมันจากทางซาอุดิอาระเบีย และทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) แทน แต่ก็จะเกิดปัญหาตามมาอย่างการเข้าแย่งซื้อ เพราะจากทั้ง 2 ที่มีฐานลูกค้าจากประเทศในซีกโลกตะวันออกอยู่แล้ว อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันแพงขึ้นไปอีก ซึ่งก็จะสามารถมีแนวโน้มเป็นโดมิโน่ถัดมาอีกว่า อาจเกิดการสลับคู่ค้ากัน กล่าวคือทางฝั่งตะวันออกก็อาจจะไปซื้อน้ำมันจากทางรัสเซียแทน เนื่องจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น และทางรัสเซียเองก็มีโอกาสปรับลดราคาน้ำมันลงเพื่อเป็นการเชิญชวนเพื่อเพิ่ม Volume การซื้อ ดูเหมือนน่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนพลังงงานกันได้ แต่อีกตัวแปรหนึ่งที่สำคัญมากคือเรื่องการขนส่ง เพราะการแลกเปลี่ยนคู่ค้าทำให้การส่งออกน้ำมันกินระยะเวลานานกว่าเดิม และค่าน้ำมันก็จะแพงขึ้น (เพราะค่าระวางเรือก็จะแพงขึ้นตามระยะทาง) ประกอบกับธุรกิจเดินเรือขนส่งส่วนใหญ่มีเจ้าของเป็นประเทศตะวันตก หากมีการกีดกันทางการค้า เรือไม่ยอมขนส่งน้ำมันของรัสเซีย ทางรัสเซียเองก็จะเกิดปัญหาอย่างหนักหน่วง เพราะเป็นประเทศที่แม้จะมีการขุดเจาะน้ำมันรายใหญ่ แต่ไม่สามารถกักเก็บได้ เมื่อสูบน้ำมันได้ต้องใส่เรือขนส่งออกไปทันที ทำให้อาจเกิดการทยอยปิดหลุมน้ำมันเพื่อประกันต้นทุน และการปิดหลุมแล้วมาทยอยเปิดใหม่ ก็ใช้ระยะเวลาที่ยาวนานมาก

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ล่าสุดทางซาอุดิอาระเบียจะส่งสัญญาณด้านบวกออกมาว่า ตนพร้อมที่จะผลิตน้ำมันเพื่อชดเชยจากทางรัสเซีย แต่ความสัมพันธ์ของซาอุดิอาระเบียกับทางสหรัฐอเมริกาในยุคของ โจ ไบเดน นั้นไม่สู้ดีนัก และทางซาอุดิอาระเบียเองกับทาง UAE ก็สร้างสัมพันธไมตรีที่ดีกับทางรัสเซียเองอยู่ด้วย ประกอบกับการเคลมว่าตนจะสามารถผลิตน้ำมันเพิ่ม 2,000,000 บาเรล/วัน แต่ในความเป็นจริง กว่าจะเพิ่มได้ถึงตัวเลขนี้อาจกินระยะเวลาไปถึงปี 2030 เพราะทางรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของซาอุดิอาระเบียได้ออกมาให้ข้อมูลว่า กำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลกที่ผ่านมานี้ลดลง เนื่องจากการเรียกร้องจากทาง ESG ที่ต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน ทำให้ทางธนาคารและตลาดทุนไม่ได้ออกไฟแนนซ์สำหรับโปรเจค Fossil Fuels มาหลายปีแล้ว ฉะนั้นหากเกิดเหตุการณ์และตัวแปรเหล่านี้ตามการวิเคราะห์นี้จริงๆ วิกฤติการขาดแคลนน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดจะมาเยือนเราทุกคนทั่วมุมโลกอย่างแน่นอน

ในตอนนี้การ Sanction รัสเซีย ครั้งที่ 6 จากทางยุโรปได้เริ่มขึ้นแล้ว การพยายามที่จะล้มเศรษฐกิจรัสเซียของยุโรปยังมีความมุมานะอย่างไม่ลดละ แต่ไม่แน่ว่าถ้าเกิดทางปูตินพลิกเกมอีกครั้ง (จากที่ยุโรปทยอย Sanction ลดการซื้อน้ำมันของรัสเซีย ที่ตอนนี้งดการนำเข้าน้ำมันจากทางเรือออกไปแล้วทางหนึ่งแล้ว) ตัดทุกช่องทางการขนส่งน้ำมันทั้งหมดให้กับยุโรปแบบฉับพลันทันทีไปเลย ไม่ให้ยุโรปเดิมเกมอยู่ฝ่ายเดียว ยิ่งถ้าปูตินประกาศตัดการขนส่งทั้งหมดในช่วงเริ่มต้นของหน้าหนาวในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ (ประชาชนในยุโรปต้องใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติเพื่อให้เกิดความอบอุ่น) เศรษฐกิจของยุโรปอาจเกิดการชะงักตัวและทิ้งตัวลงอย่างรุนแรงเลยก็เป็นได้

LastUpdate 05/06/2565 15:08:29 โดย :
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 8:04 pm