เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : "ยังแพงได้มากกว่านี้อีก" ส่องภาครัฐ กับการพยุงราคาน้ำมันดีเซล ที่ใกล้จะถึงจุดสิ้นสุด


 

 
 
การใช้ชีวิตประจำวันในช่วงเวลานี้ ดูเหมือนว่าจะต้องมีเหตุให้เงินในกระเป๋าของเราบินออกไปมากกว่าที่เคยเป็น แม้จะใช้ชีวิตตาม Routine ของเราเฉกเช่นปกติก็ตาม ซึ่งถ้าหากผู้อ่านได้ติดตามสกู๊ปของ "AC News" อยู่แล้ว คงรู้กันดีว่าเรื่องของสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น เป็นตัวตั้งตัวตีที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องของเงินเฟ้อ ข้าวของอุปโภคบริโภคมีราคาที่แพงขึ้น และเสี่ยงกับการเกิดภาวะขาดแคลนอาหารที่เป็นปัญหาใหญ่จ่อคิวตามติดมาด้วย แต่ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ที่เราเห็นว่าราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคมีการปรับราคาที่สูงขึ้นมาแล้วนั้น ยังไม่ใช่เพดานราคาที่แท้จริง เหตุเพราะแรงค้ำของภาครัฐที่ยังมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลเอาไว้อยู่

"น้ำมันดีเซล" เป็นน้ำมันที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม อย่างการใช้กับเครื่องจักรในโรงงาน และใช้กับภาคขนส่ง เพราะเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ใหญ่ๆ อย่างรถกระบะ และรถบรรทุกสินค้า หากราคาของน้ำมันดีเซลมีการปรับตัวที่สูงขึ้น ก็ย่อมส่งผลกับต้นทุนของสายการผลิต หรือ Supply Chain ที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย การเกิดสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าราคาของน้ำมันเบนซินในบ้านเรานั้นสูงเอาๆ จนไม่อยากขับรถส่วนตัวออกไปไหนเลย แต่ในด้านของน้ำมันดีเซลนั้น แม้ตามจริงแล้วในแง่ของกลไกทางเศรษฐกิจราคาของน้ำมันดีเซลก็ต้องปรับตัวสูงขึ้นตามสถานการณ์สงครามดังกล่าวในเวลาเดียวกับน้ำมันเบนซิน แต่กลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะภาครัฐนั้นได้เข้ามาอุ้มราคาของน้ำมันดีเซลเอาไว้ ภายใต้การดูแลของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) หรือ OFFO โดยจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมารักษาเสถียรภาพด้านของราคาน้ำมันดีเซล เนื่องจากน้ำมันดีเซลนั้นจะ Link เข้ากับต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น หากไม่มีการตรึงราคา ผู้บริโภคก็ต้องจ่ายสินค้าในราคาที่แพงขึ้น และจะทำให้ภาวะของเงินเฟ้อรุนแรงมากขึ้น (อันเนื่องมาจากภาวะราคาสินค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นสูง)

จริงๆแล้วก่อนเกิดสภาวะสงคราม ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มีความผันผวนปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมาอยู่ก่อนแล้ว กระทบถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศทุกชนิดที่ขยับเพิ่มขึ้นตาม แต่สำหรับน้ำมันดีเซลภาครัฐมีมาตรการตรึงราคาไว้ให้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (หลักการคร่าวๆของกองทุน ก็คือ กองทุนจะมีการเก็บเงินเพิ่มเติมเอาไว้ในช่วงที่ราคาน้ำมันต่ำ เพื่อเอาไว้จ่ายซัพพอร์ตราคาน้ำมันในช่วงที่ปรับตัวขึ้นสูง) มีผลตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565 แต่เมื่อมีสถานการณ์สงครามที่เข้ามาและมีความยืดเยื้ออย่างมาก ทำให้แม้ OFFO จะยังมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซล แต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 การตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาท/ลิตร ก็เอาไม่อยู่อีกต่อไป โดยวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 31.94 บาท/ลิตร และวันที่ 12 มิถุนายน 2565 มีราคาอยู่ที่ 33.94 บาท/ลิตร และล่าสุดวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ประกาศปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้นอีก 1 บาท เป็น 34.94 บาท/ลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2565 ซึ่งราคาที่เห็นอยู่นี้ น้ำมันดีเซลได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมัน 8.81 บาท (หรือก็คือกองทุนช่วยประชาชนจ่ายค่าน้ำมันดีเซลไปเกือบ 9 บาท) ถ้าหากไม่มีการอุดหนุนจากทางกองทุน ราคาที่แท้จริงของน้ำมันดีเซลจะพุ่งสูงขึ้นประมาณ 42-43 บาทเลยทีเดียว

แล้วกองทุนจะช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลได้อีกนานแค่ไหน?

นับจากการเกิดสภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนและยังคงยืดเยื้อจนถึงปัจจุบัน กองทุนน้ำมันต้องนำเงินออกมาใช้จ่ายเพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลเอาไว้อย่างมหาศาล จนกลายเป็นหนี้สะสม เสมือนดินพอกหางหมูเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วันที่ 17 เมษายน 2565 ติดลบ 50,614 ล้านบาท วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ติดลบ 60,993 ล้านบาท และล่าสุด 12 มิถุนายน 2565 ติดลบถึง 91,089 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งหมายความว่ากองทุนน้ำมันที่สะสมเอาไว้นั้นหมดเกลี้ยงไปตั้งแต่ต้นปีแล้ว เหลือไว้แต่หนี้มหาศาลที่ทาง OFFO กู้ยืมรัฐจากส่วนอื่นเข้ามาโปะเพื่อพยุงราคาเอาไว้ แรงค้ำที่อ่อนแอลงทุกๆที จากที่ประกันราคาต่ำกว่า 30 บาท ปรับตัวสูงขึ้นมาเรื่อยๆ อีกไม่นานนัก OFFO อาจจะอุ้มไม่ไหวอีกต่อไป (อิงจากจากการแบกหนี้สินที่ปรับตัวเยอะขึ้นในทุกๆเดือน) เราคงได้เห็นน้ำมันดีเซลราคาทะลุกว่า 40 บาทในช่วงครึ่งปีหลังนี้ และแน่นอนว่าเมื่อราคาน้ำมันดีเซลขึ้น เราทุกคนจะประสบกับสภาวะเงินเฟ้อ ที่สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆมีราคาแพงจนจ่ายกันไม่ไหว สภาพเศรษฐกิจไทยก็จะเข้าสู่ยุคมืดโดยสมบูรณ์


แต่หากสถานการณ์สงครามคลี่คลายลง ราคาของน้ำมันโลกปรับตัวลดลง ก็ใช่ว่าน้ำมันดีเซลจะลดต่ำลงตามไป เพราะทางภาครัฐก็ต้องเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อใช้คืนหนี้ที่สะสมอยู่ก่อนหน้านี้ เท่ากับว่า ไม่ว่าสถานการณ์โลกจะมีผลบวกหรือลบ เราคงต้องใช้น้ำมันดีเซลในราคาที่มากกว่า 30 บาท/ลิตรไประยะเวลาหนึ่ง และต้องก้มหน้าก้มตาใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีทางเลือก

 
ที่มา -https://www.offo.or.th/

LastUpdate 13/06/2565 17:30:54 โดย : Admin
07-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 7, 2024, 7:33 am