เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop : Hashtag #ค่าไฟแพง เรื่องสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม


 

 

เรียกได้ว่าทุกคงล้วนเกิดอาการงุนงงกันกับบิลค่าไฟในรอบเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นแม้เราจะใช้ไฟเท่าเดิม หรือน้อยกว่ายอดเดือนก่อนด้วยซ้ำ ประเด็นนี้ร้อนแรงอย่างมากขนาดที่ว่าเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา Hashtag #ค่าไฟแพง ในทวิตเตอร์ติดเทรนอันดับ 5 ในประเทศไทยเลยทีเดียว แสดงให้ว่าประชาชนทั่วประเทศกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก กับอำนาจการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง ที่ไม่เพียงแค่ตกอยู่ในสภาวะเงินเฟ้อ แต่ยังมีการขึ้นค่าไฟที่เข้ามาซ้ำเติมพวกเขาอีกระลอกหนึ่ง

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าโครงสร้างของค่าไฟในปัจจุบัน ตามข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ค่าไฟฟ้าพื้นฐาน และค่าไฟฟ้าผันแปร หรือที่เรียกว่า ค่า Ft

1. ค่าไฟฟ้าพื้นฐาน เป็นค่าไฟฟ้าที่สะท้อนรายจ่ายของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือก็คือเป็นต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบจำหน่าย ค่าการผลิตพลังงานไฟฟ้า และค่าซื้อไฟฟ้า ภายใต้สมมุติฐานความต้องการใช้ไฟฟ้า ราคาเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อ

2. ค่า Ft ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับที่กำหนดไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน ค่า Ft มีการปรับปรุงทุกๆ 4 เดือน 
 
โดยเวลาเราจะจ่ายค่าไฟในแต่ละเดือนจะคิดจาก หน่วยไฟฟ้าที่ใช้ คูณเข้ากับค่า Ft ที่กำหนดออกมา ย้อนไปในปีที่แล้ว 2564 ค่า Ft เดือนมกราคม-ธันวาคม มีค่า Ft อยู่ที่ 15.32 สตางค์/หน่วย ต้นปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2565 มีค่า Ft อยู่ที่ 1.39 สตางค์/หน่วย ส่วนเดือนพฤษภาคมที่เป็นประเด็นร้อนที่ผ่านมานั้น ค่า Ft พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 24.77 สตางค์/หน่วย เรียกได้ว่าค่าไฟนั้นมีการปรับราคาขึ้นถึง 45% หากปกติเคยใช้ไฟเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 1,000 บาท เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เท่ากับว่าเราต้องจ่ายค่าไฟถึง 1,450 บาทเลยทีเดียว

ตามการแถลงของนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า “เดิมค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นส่งผลให้ประมาณการค่าเอฟทีในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2565 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 129.91 สตางค์ต่อหน่วย แต่ กกพ.พิจารณาภายใต้หลักการการปรับขึ้นแบบขั้นบันได 3 งวด เฉลี่ยงวดละ 47.3 สตางค์ต่อหน่วย และ กฟผ.ช่วยรับภาระจึงลดลงอยู่ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนงวดใหม่เบื้องต้นตัวเลขคำนวณยังไม่เปลี่ยนแปลง จึงคาดว่าจะขึ้นประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย”

จากประโยคสุดท้าย เท่ากับว่าค่าไฟรอบต่อไปปลายปี ในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 นี้ ยังจะมีการปรับราคาค่าไฟขึ้นไปประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วยอีกด้วย เรียกได้ว่าเราต้องมีภาระในการจ่ายค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้อีกในปีนี้

 
ใครเป็นคนกำหนดค่าไฟฟ้า?
 
 

 
หลายๆ คนอาจจะยังเข้าใจผิดว่า กฟผ. กฟน.ไม่ก็ กฟภ. เป็นคนกำหนดค่าไฟ แต่แท้จริงแล้ว กกพ. หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นผู้กำหนดค่าไฟฟ้าในประเทศไทย โดยคณะกรรมการของกกพ. จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าพลังงานและค่าบริการเพื่อคำนวณค่า Ft และประกาศใช้ค่า Ft ในทุกๆ 4 เดือน ซึ่งล่าสุด กกพ. ประกาศหลังการประชุม เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 มีมติให้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์/หน่วย ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น โดยอ้างอิงว่าเหตุที่ต้องขึ้นค่า Ft เป็นเพราะความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2565 เพิ่มขึ้น 5.21% ส่วนสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือนดังกล่าว ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 55.11% และเชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 8.08% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด มีราคาการนำเข้าที่สูงขึ้นกว่าช่วง 4 เดือนแรกตามสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน

แต่ก็น่าสังเกตว่าในประเทศของเราที่ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าเองได้เพียง 29% นอกนั้นต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และใช้พลังงานถ่านหินจากภาคเอกชน ซึ่งรัฐมีการยกสัมปทานโรงไฟฟ้าถ่านหินกองให้กับเอกชนรายเดียวไปเลย โดยไม่ต้องเปิดประมูล รวมถึงในปี 2562 งบการเงินรัฐวิสาหกิจไฟฟ้า ทั้ง กฝผ. กฟน. และ กฟภ. รวมรายได้กว่า 6.8 แสนล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งความเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็คืออยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของทั้งกระทรวงพลังงาน และกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นหน่วยงานราชการของรัฐ การที่รัฐต้องออกมารับฟังความเดือดร้อนของประชาชน และให้การช่วยพยุงราคาค่าไฟเพื่อบรรเทาสภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นสิ่งที่สมควรทำ ก่อนที่เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนจะแย่ไปกว่านี้

 
ที่มา -https://www.mea.or.th/

LastUpdate 13/06/2565 18:26:31 โดย : Admin
07-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 7, 2024, 7:06 am