เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
4 ธีมกลยุทธ์ลงทุน ลดขาดทุนช่วงตลาดเป็นขาลง


การลงทุนในหุ้น สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ Chief Research Officer บล.ไทยพาณิชย์ บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การมีแผนการลงทุนที่ดี โดยเฉพาะการเลือกกลยุทธ์ให้เหมาะกับสถานการณ์ เพราะแม้จะวางแผนมาดีแค่ไหน แต่หากเลือกวิธีการลงทุนผิดพลาดย่อมทำให้เลือกหุ้นเข้าพอร์ตผิดพลาดตามไปด้วย โดยเฉพาะช่วงที่ตลาดผันผวนและมีโอกาสปรับลดลง ยิ่งต้องเลือกกลยุทธ์ให้รอบคอบและเลือกหุ้นให้ถูกต้อง โดยหุ้นที่เหมาะกับช่วงตลาดขาลง มีดังนี้

 
1. หุ้นที่มีอำนาจในการกำหนดราคาสูง

เป็นธีมเพื่อสู้ภาวะเงินเฟ้อ เพราะว่าเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 และปี 2565 ทั้งปีจะเห็นเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง และอาจเห็นถึงต้นปีหน้าถ้าราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงหากสงครามรัสเซียกับยูเครนยังยืดเยื้อ จะทำให้การคว่ำบาตรรัสเซียยังคงมีอยู่ต่อไป
 
ส่วนเงินเฟ้อของไทยที่ปรับสูงขึ้น เป็นผลมาจากราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับราคาอาหารโดยเฉพาะอาหารสด อาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหารก็ปรับสูงขึ้นเช่นกัน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับที่พักอาศัยก็สูงขึ้น
 
ดังนั้น ในภาวะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและจะกระทบทำให้กำไรปรับลดลง นักลงทุนต้องมองหาธุรกิจที่มีศักยภาพในการผลักภาระต้นทุนให้แก่ผู้บริโภค นั่นคือ มีอำนาจในการกำหนดราคา ทำให้มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับสูงและมาร์จิ้นขยายตัวต่อไปได้อย่างแข็งแกร่ง โดยธุรกิจเหล่านี้ เช่น ผู้ผลิตสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ได้แก่ ค้าปลีก อาหาร การศึกษา การสื่อสาร เป็นต้น
 
2. หุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศ

สถานการณ์ COVID-19 กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระยะสิ้นสุดของการระบาดไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ถึงแม้ผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นแต่หลายประเทศได้ประกาศแผนการผ่อนคลายข้อกำหนดการเดินทางเข้าประเทศ ด้วยเหตุนี้ทำให้ธุรกิจบางประเภทได้รับประโยชน์ในช่วงเปิดประเทศ เช่น การท่องเที่ยว โรงแรม การบิน อาหาร เป็นต้น
 
หุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศ เป็นเพียงการได้ประโยชน์ชั่วคราว ดังนั้น วิธีการลงทุน นักลงทุนต้องดูราคาหุ้นในอดีตก่อนเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 จากนั้นดูราคาหุ้นในช่วงการแพร่ระบาดซึ่งส่วนใหญ่จะปรับลดลง เมื่อประเมินแล้วว่าเป็นธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศก็เข้าซื้อ และเมื่อเปิดประเทศแล้ว และราคาปรับขึ้นใกล้เคียงกับระดับราคาก่อนเกิดการแพร่ระบาดก็ควรขายทำกำไร
 
เช่น ราคาหุ้น A ก่อนเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 อยู่ที่ระดับ 20 บาทต่อหุ้น และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับลดลงสู่ระดับ 10 บาทจึงเข้าซื้อ เมื่อเปิดประเทศและได้รับประโยชน์ ราคาหุ้นก็เริ่มปรับขึ้นและซื้อขายประมาณ 15 บาทต่อหุ้น ก็ขายทำกำไร
 
เหตุผลที่ราคาหุ้นไม่สามารถปรับขึ้นสู่ระดับเดียวกับก่อนเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 เนื่องจากต้องใช้เวลาในการดำเนินงานเพื่อสร้างรายได้ให้กลับไปเท่าเดิม
 
ธีมการลงทุนที่ 1 และ 2 ควรเน้นกลยุทธ์ลงทุนแบบ Tactical หรือ Momentum หมายความว่า เน้นลงทุนระยะสั้นถึงปานกลาง ลงทุนแบบตามกระแส โดยเน้นลงทุนตามเทรนด์ขาขึ้นของตลาด ด้วยการค้นหาอุตสาหกรรมที่โดดเด่น ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงนั้น ๆ เมื่อเลือกกลุ่มอุตสาหกรรมได้แล้ว ก็ต้องดูปัจจัยพื้นฐานของหุ้นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น โดยวิเคราะห์งบการเงินว่ามีความแข็งแกร่งเพียงใด และใช้เครื่องมือทางเทคนิค เพื่อวิเคราะห์และจับจังหวะลงทุนด้วย
 
การเลือกหุ้นเพื่อลงทุนแบบตามกระแส ต้องเป็นหุ้นที่อยู่ในวัฏจักรธุรกิจที่เป็นขาขึ้น มีการเติบโตของรายได้และยอดขาย รวมถึงแนวโน้มราคาหุ้นก็เป็นขาขึ้นด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันหุ้นนั้นต้องอยู่ในความสนใจของตลาด หุ้นเก็งกำไรหรือหุ้นที่มีสัญญาณซื้อทางเทคนิค ต้องผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ รวมถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับหุ้นนั้นในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ เนื่องจากนักลงทุนแบบตามกระแสเชื่อว่า การมีข่าวดีจะได้รับการตีความไปในทิศทางที่ดี ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นไปได้
 
3. หุ้นเติบโตที่ราคาสมเหตุสมผล

หุ้นเติบโตมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง และไม่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น จึงแนะนำให้ลงทุนในหุ้นเติบโตที่ราคาไม่สูงจนเกินไปหรือ Valuation สมเหตุสมผล เพื่อป้องกันความเสี่ยงของตลาดเป็นขาลง (Downside Risk) ดังนั้น จึงควรเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตดี ทั้งในส่วนของรายได้และกำไร โดยพิจารณาได้จากอัตราการเติบโตของรายได้ อัตราการเติบโตของกำไร ซึ่งสามารถดูได้จากอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ  เช่น อัตราการเติบโตกำไรต่อหุ้น อัตรากำไรสุทธิ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นต้น โดยหุ้นที่น่าสนใจ เช่น ธนาคารพาณิชย์ ประกันภัย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น    
 
4. หุ้นคุณภาพและเติบโตสูง

ความผันผวนทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงทางการเมืองยังคงเป็นสิ่งที่ควรจับตามอง จึงประเมินว่าหุ้นคุณภาพขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง จะให้ผลตอบแทนที่ดีในสภาวะแวดล้อมที่มีความคลุมเครือ โดยหุ้นคุณภาพมักเป็นกิจการที่มีความแข็งแกร่ง พิจารณาได้จากหลายปัจจัย เช่น การมีแบรนด์ที่เข้มแข็ง ลูกค้ามีความจงรักภักดีต่อสินค้า เป็นสินค้าที่ไม่ตกเทรนด์ได้ง่าย มีความได้เปรียบด้านต้นทุน มีสิทธิบัตรหรือสัมปทาน รวมถึงมีทีมผู้บริหารที่มีความสามารถและธรรมาภิบาลสูง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว เช่น ธุรกิจจำหน่ายสินค้าไอที พลังงานทดแทน ลิสซิ่ง เป็นต้น
 
โดยธีมการลงทุนที่ 3 และ 4 เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติหรือเศรษฐกิจซบเซา พบว่านักลงทุนจะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง รายได้ไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ มีความสามารถในการทำกำไรที่ดีและสม่ำเสมอ ธุรกิจมั่นคงและมีโอกาสเติบโตไปได้เรื่อย ๆ
 
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 มิ.ย. 2565 เวลา : 11:35:47
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 8:31 pm