เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ขณะที่หุ้นไทยร่วงลงแรงจากสัปดาห์ก่อน


· เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือน ท่ามกลางแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด


· หุ้นไทยร่วงลงหลุดแนว 1,600 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในหลายๆ ประเทศ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
 

 
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือนที่ระดับ 35.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคท่ามกลางสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางชั้นนำหลายแห่ง นำโดย ธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้เงินบาทยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้เงินดอลลาร์ฯ จะเผชิญแรงขายทำกำไรบางส่วนหลังการประชุมเฟด แต่เงินบาทยังคงมีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่องจนถึงปลายสัปดาห์ เนื่องจากเฟดยังคงส่งสัญญาณว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% หรือ 0.75% ต่อเนื่องอีกในการประชุมเดือนก.ค. ขณะที่จังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของไทยจะยังคงตามหลังเฟด โดยคณะกรรมการ กนง. ท่านหนึ่ง ระบุว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีการนัดหมายการประชุม กนง. รอบพิเศษเพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และการประชุมนัดต่อไปของกนง. ยังเป็นเดือนส.ค. นี้ตามปกติในวันศุกร์ที่ 17 มิ.ย. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.76 บาท ต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 มิ.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 13-17 มิ.ย. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 12,328 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 13,459 ล้านบาท (เป็นการหมดอายุของตราสารหนี้ 9,154 ล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตร 4,305 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (20-24 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 34.80-35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และตัวเลขการส่งออกเดือนพ.ค. ของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองและยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ค. ผลสำรวจความเชื่อมั่น/ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อจากมุมมองของผู้บริโภค รวมถึงข้อมูล PMI เบื้องต้นเดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของธนาคารกลางจีน อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ของอังกฤษ และข้อมูล PMI เบื้องต้นเดือนมิ.ย. ของยุโรปและอังกฤษด้วยเช่นกัน
 

 
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยร่วงลงแรงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ท่ามกลางความกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแรง หลังตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดทำสถิติสูงสุดรอบกว่า 40 ปี ซึ่งผลการประชุมเฟดระหว่างสัปดาห์ออกมาตามตลาดคาด เฟดมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% (นับเป็นขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่มากที่สุดในรอบ 28 ปี) ไปที่ระดับ 1.50-1.75% ทั้งนี้ ผลการประชุมเฟดดังกล่าวกระตุ้นความกังวลเกี่ยวกับทิศทางการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ รวมถึงไทยด้วย และส่งผลให้เกิดแรงเทขายหุ้นบิ๊กแคปในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมโดยเฉพาะพลังงาน เทคโนโลยี และไฟแนนซ์ในวันศุกร์ (17 มิ.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,559.39 จุด ลดลง 4.49% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 80,922.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.09% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 6.25% มาปิดที่ 602.59 จุด สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,545 และ 1,535 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,570 และ 1,580 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่และยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ค. ดัชนี PMI เดือนมิ.ย.(เบื้องต้น) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนมิ.ย.(เบื้องต้น) ของยูโรโซนและญี่ปุ่น อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของจีน

บันทึกโดย : วันที่ : 18 มิ.ย. 2565 เวลา : 19:42:16
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 5:38 pm