เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : เตรียมรับมือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น กับความจำเป็นขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในไทย พยุงค่าเงินบาท-สกัดเงินเฟ้อ


 

 

เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ Fed ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่จัดได้ว่าแรงที่สุดในรอบ 28 ปี แม้ก่อนหน้านี้จะได้มีการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 0.5% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาสภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐ แต่ตัวเลขดัชนี CPI หรือดัชนีวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ฟ้องออกมาภายหลังการขึ้นดอกเบี้ยรอบแรกนั้น กลับพุ่งขึ้นมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ ซึ่งสูงถึง 8.6% แสดงถึงสภาวะเงินเฟ้อที่หนักหน่วงที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 1981 เลยต้องมีการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นสูงเป็น 0.75% ดังกล่าวในเดือนมิถุนายน ยิ่งไปกว่านั้น ภายในครึ่งปีหลังนี้ Fed ก็ยังไม่ปราณี ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1.75% ซึ่งจะส่งผลให้โดยรวมแล้วอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะทะยานสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงสุดถึง 3.50% เลยทีเดียว โดยการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวและการกระทำใดๆของทาง Fed นี้ ได้ส่งผลทางเศรษฐกิจเป็นโดมิโน่ไปทั่วโลก รวมถึงค่าเงินบาทของบ้านเรา


เหตุผลที่การกระทำต่างๆของ Fed มักจะส่งกระทบลุกลามไปทั่วโลกนั้น เป็นเพราะสหรัฐเป็นประเทศมหาอำนาจที่เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ Action ใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นในสโคปด้านการเงินย่อมเกิดแรงกระเพื่อมไปยังประเทศต่างๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างมาตรการสกัดเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวนี้ ส่งผลกระทบกับไทยในแง่ของสกุลเงินบาทบ้านเราที่อ่อนค่าลงไปแตะอยู่ที่ระดับประมาณ 35 บาท/1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอ่อนค่าอยู่ที่อันดับ 4 ของโลกแล้วในปัจจุบัน และหากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ Take Action อะไรเลย เงินบาทของบ้านเราก็อาจจะไปแตะอยู่ที่ระดับ 36 บาท /1 ดอลลาร์สหรัฐเลยก็เป็นได้ สาเหตุที่กลไกค่าเงินบาทไทยผันผวนในลักษณะแบบนี้ เป็นเพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed นั้นเชิญชวนแหล่งเงินทุนให้ไหลไปหาทางสหรัฐ ยิ่งช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐยิ่งห่างกันมากขึ้นเท่าไหร่ ค่าเงินบาทเราก็จะอ่อนลงตามเท่านั้น ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีการแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าไปมากกว่านี้ ซึ่งจะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน ที่เม็ดเงินจะไหลออกจากประเทศไทยไปยังประเทศที่มีผลตอบแทนในการลงทุนที่ดีกว่า (เช่นดอกเบี้ยสูงกว่า)

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำการแทรกแซงค่าเงินบาทด้วยวิธีการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเข้าซื้อเงินบาทกลับมา (ตามหลัก Supply Demand ถ้าสิ่งนั้นยังมีความต้องการ ราคาก็จะเพิ่มขึ้นไม่ไหลลงไป) เฉลี่ยสัปดาห์ละ 3,000-5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่วิธีนี้ก็ไม่ใช่วิธีเดียวที่จะสามารถจัดการกับค่าเงินบาทอ่อนได้สมบูรณ์ ทำให้อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องทำคือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นเดียวกับทาง Fed และเป็นวิธีเช่นเดียวกับธนาคารกลางทั่วโลกที่ดำเนินนโยบายการเงินเช่นนี้ เพื่อลดส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยกับทางสหรัฐ ป้องกันไม่ให้เงินไหลออกจากประเทศไป ซึ่งจากการคาดการณ์ของธนาคารกสิกรไทยนั้นเปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในปีนี้อีก 2 ครั้ง ได้แก่เดือนสิงหาคม และเดือนพฤศจิกายน 2022 จากเดิมที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงแค่ 1 ครั้ง

การที่ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างไรต่อไป?

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวของไทยเพื่อพยุงค่าเงินบาทนั้น จะส่งผลทั้งทางบวกและทางลบกับในแง่ของดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ โดยทางบวกคือ ผู้ฝากเงินจะได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนในทางลบจะตกไปอยู่ในฝั่งของผู้กู้ ที่จะมีภาระในการชำระดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากสังเกตให้ดี ที่ผ่านมาโลกของเราเผชิญกับวิกฤติไวรัสแพร่ระบาดโควิด-19 กิจการต่างๆ ต่างประสบปัญหาล้มหายตายจากไปมากมาย อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น อันเรียกได้ว่ากระแสเงินสดในมือของคนส่วนใหญ่นั้นต่างร่อยหรอลง แม้สถานการณ์จะเริ่มทรงตัวขึ้นมาแล้ว แต่สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็โหมกระหน่ำเข้ามามีอิทธิพลกับเงินในกระเป๋าของเราอีกระลอกใหญ่ เป็นชนวนให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อ ที่อำนาจเงินที่เราถืออยู่มีค่าน้อยลงเข้าไปอีก การขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้จึงมองเห็นสัญญาณไม่ดีได้เลยว่า กลุ่มคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย อย่างเจ้าของกิจการรายย่อย และผู้มีรายได้ระดับปานกลางจะต้องเจอศึกหนักจากการขัดสนในแง่ของกระแสเงินสด และปัญหาการชำระหนี้ ที่อาจจะเกิด NPL หรือหนี้เสียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำติด Top ระดับโลกอย่างประเทศไทย ที่มีคนรวยกระจุกอยู่เพียงแค่ 10% นั้นจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมหาศาลมาหล่อเลี้ยง และเพิ่มพูนอำนาจทางการเงินที่มากขึ้นเสียด้วยซ้ำ จากผลบวกที่ผู้มีเงินสามารถนำไปฝากเพื่อรับดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้นได้ ( อ้างอิงจาก Credit Suisse ประเมินว่า คนรวยที่สุด 10% ของไทยถือครองสินทรัพย์มากถึงกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ) ส่วนคนจำนวนที่เหลือส่วนใหญ่ในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ก็คงจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจ บริหารจัดการกระแสเงินสดของตัวเอง เพื่อตั้งรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่กำลังจะเกิดขึ้นอันใกล้นี้
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 มิ.ย. 2565 เวลา : 14:50:54
02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 10:45 am