เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : "วิกฤติหนี้ครัวเรือน" ภัยเงียบที่กำลังมาเยือน หวั่นฉุดเศรษฐกิจดิ่งซึมยาว


 

 

 

จากข้อมูลของทางธนาคารกสิกรไทยที่มีการคาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อาจจะมีการขึ้นดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งในเดือนสิงหาคม และเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 นี้ เพื่อเป็นการพยุงค่าเงินบาทไม่ให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ จากผลกระทบในการขึ้นดอกเบี้ยของทางฝั่งประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกา และที่สำคัญก็เพื่อเป็นการสกัดปัญหาเงินเฟ้อ ที่มีปัจจัยมาจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีมาอย่างเรื้อรังร่วมด้วย แต่นโยบายทางการเงินที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น ก็อาจกลายร่างเป็นชนวนอันรายแรงเรื่องใหม่ ที่จะทำให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจของไทยต่อไปอย่างไม่จบไม่สิ้น


ปัญหาเศรษฐกิจในอนาคตที่ว่าคือเรื่องของหนี้ในประเทศ จริงอยู่ที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการก่อหนี้ก็ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโต อ้างอิงข้อมูลจาก KKP Research แสดงให้เห็นถึงตัวเลขหนี้ ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดหนี้ในโลกสูงขึ้นถึงกว่า 270% ของ GDP ทั้งโลก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะก่อนหน้านี้ธนาคารกลางทั่วโลกยังสามารถคงดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ จากการที่เศรษฐกิจโลกไม่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่เมื่อในตอนนี้สภาวะเงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นอย่างฉับพลัน จากตัวเลขดัชนี CPI (ดัชนีวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค) ที่ฟ้องออกมาทั้งของทางฝั่งสหรัฐอเมริกา ที่ล่าสุดทำ New High สูงถึง 8.6% แสดงถึงภาวะเงินเฟ้อที่หนักหน่วงที่สุดในรอบ 41 ปี (นับตั้งแต่ปี 1981) ลุกลามไปยังหลายประเทศในโลกไม่พ้นประเทศไทย ที่ตอนนี้ล่าสุดดัชนี CPI ทำ New High ตามพี่ใหญ่อยู่ที่ 7.1% (ผิดจากที่คาดการณ์ไว้เพียง 4.98%) ซึ่งถือว่าเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 13 ปี ทำให้อนาคตอาจก่อเกิดปัญหาหนี้ที่กดดันให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่วัฏจักรขาลงระยะยาว เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยหนี้อีกต่อไปได้แล้วจากนโยบายการเงินล่าสุด

อธิบายให้เห็นภาพในแง่มุมของหนี้ครัวเรือน (เงินที่สถาบันการเงินต่างๆ ให้คนทั่วไปที่อยู่ในประเทศกู้ยืม) เราสามารถเอาเงินที่ยืมมาไปใช้ ไปซื้อของ หรือลงทุนทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ เงินส่วนนั้นมันก็จะหมุนเวียนอยู่ไปอยู่ในระบบไปเรื่อยๆ เช่น หากเรากู้เงินมาเพื่อลงทุนเปิดร้านกาแฟ เราก็จะนำเงินไปซื้อเมล็ดกาแฟ วัตถุดิบต่างๆ เครื่องจักร เฟอร์นิเจอร์ จ้าง Interior ตกแต่งภายในร้าน หรือจ้างพนักงาน เงินส่วนที่เรายืมมาก็จะถูกส่งต่อไปยังผู้คนเหล่านี้ ซึ่งคิดดูว่าหากมีผู้ที่ทำธุรกิจเกิดขึ้นมากมาย จากการจูงใจที่สามารถขอกู้สินเชื่อจากสถาบันการเงินที่มีดอกเบี้ยต่ำ เงินกู้ส่วนนี้ก็จะสะพัด ถูกส่งต่อเป็นทอดๆหมุนเวียนอยู่ในระบบไปมา สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจการเงินที่เมื่อหนี้ครัวเรือนมากขึ้น (มีคนกู้เยอะ) รายได้ประชากรในประเทศก็จะมากขึ้นด้วย ซึ่งถ้าหนี้เหล่านี้มีสัดส่วนที่เหมาะสมกับรายได้ ก็จะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตดั่งตัวอย่างที่ยกมา ไม่ได้สร้างผลเสียอะไร แต่ถ้าหนี้มีสัดส่วนที่มากกว่ารายได้ และกินระยะเวลานาน ก็จะก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า NPL หรือหนี้เสีย อันส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ

ทาง KKP Research ได้วิเคราะห์ว่าเมื่อเงินเฟ้อกลับมาจนนโยบายการเงินต้องกลับมาตึงตัวอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน ที่ทางด้านสหรัฐ Fed ได้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในรอบ 28 ปี อยู่ที่ 0.75% เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งประเทศไทยก็จำเป็นที่จะต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับสถานการณ์โลกเช่นกัน มันย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยที่ตอนนี้มีหนี้อยู่ในระดับสูง ที่ตอนนี้หนี้ในภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นเกิน 90% ของ GDP และสูงเป็นลำดับที่ 11 ของโลก ซึ่งเกิดจากภาคครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยที่สุด 20% แรกที่มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยเพียงประมาณ 10,000 บาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 12,000 บาท และครัวเรือนจำเป็นต้องมีการกู้ยืมเงินเพื่อบริโภค ทำให้ไทยมีสัดส่วนหนี้เพื่อการบริโภคระยะสั้นเมื่อเทียบกับหนี้ครัวเรือนทั้งหมดมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะที่รายได้ต่อหัวของไทยยังอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีการก่อหนี้ในระดับใกล้เคียงกัน หมายความว่าไทยเป็นประเทศรายได้ต่อหัวยังไม่สูง แต่ครัวเรือนกลับมีหนี้สูงมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

การขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ภาระการใช้หนี้ของผู้กู้นั้นสูงขึ้น ยิ่งเป็นประเทศไทยที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงที่สุดในโลกตามรายงานของ Credit Suisse ที่มีสัดส่วนคนรวยกระจุกตัวอยู่เพียง 10% แต่ถือครองทรัพย์สินมากกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ ทำให้หนี้มีแนวโน้มกระจุกตัวอยู่ในครัวเรือนรายได้น้อยที่ปกติมีรายได้ไม่เพียงพอและมีสัดส่วนสินทรัพย์ต่อหนี้ที่ต่ำกว่าอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้นครัวเรือนกลุ่มนี้ต้องลดการบริโภคลงเพื่อมาจ่ายหนี้แทนจนกลายเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจ (เพราะเงินจะไม่สะพัดเข้าระบบมากเหมือนแต่ก่อนแล้ว) ยิ่งไปกว่านั้นครัวเรือนรายได้น้อยยังมีตระกร้าสินค้าในกลุ่มอาหารและพลังงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยทำให้ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อมากกว่า

และล่าสุดนี้ก็เริ่มมี Movement จากทางธนาคารต่างๆจะยกเลิกดอกเบี้ยบ้านแบบคงที่ เพราะหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ธนาคารยังคงโปรโมชั่นนี้ไว้อยู่ จะทำให้ต้นทุนของธนาคารที่แบกรับไว้ยิ่งสูงขึ้น เลยทำให้ธนาคารหลายแห่งในตอนนี้จะปรับเป็นดอกเบี้ยลอยตัว หรือ Floating Rate เพื่อรับกับดอกเบี้ยขาขึ้นที่กำลังจะมาถึง ซึ่งแน่นอนว่าหากใครที่พึ่งกู้บ้านไปก็จะได้รับภาระในการจ่ายหนี้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ดังนั้นจากข้อมูลทั้งหมดที่ได้กล่าวมาจึงสามารถคาดการณ์ได้เลยว่าการขึ้นดอกเบี้ยที่กำลังจะมาถึงนี้ ผู้คนที่เป็นผู้กู้ต่างมีแนวโน้มที่จะต้องแบ่งเงินเพื่อไปชำระหนี้ก่อนเป็นอันดับแรก ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพราะมีการเก็บเงินสดเพื่อคงสภาพคล่องไว้กับตัวเอง จะมีการกู้ยืมที่น้อยลง มีการลงทุนประกอบธุรกิจที่น้อยลงเนื่องจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบลดลง ของต่างๆจะขายไม่ค่อยได้ เกิดการขาดทุน ทำให้อาจมีการเลิกจ้างงาน และคนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ก็มีแนวโน้มที่จะไม่มีเงินมาชำระหนี้ได้ตามเวลา เกิดเป็นปัญหา NPL ที่กระทบต่อเศรษฐกิจเป็นทอดๆต่อไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลให้สภาวะเศรษฐกิจของไทยเสี่ยงต่อการก้าวเข้าสู่สภาวะวิกฤติ และทิ้งเนื้อร้ายลุกลามไปในระยะยาว หากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเสียใหม่

 
ที่มา

-KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

-www.investing.com

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ก.ค. 2565 เวลา : 19:47:55
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 6:22 am