เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop :


 

 

สภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูง จากผลกระทบของสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ลุกลามไปยังทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ที่ล่าสุดได้ดันตัวเลขเงินเฟ้อขึ้นสูงที่สุดในรอบ 13 ปี ทำให้ในตอนนี้เราได้เห็นราคาของ Commodity หรือสินค้าโภคภัณฑ์ รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภที่ต่างมีการปรับราคาที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หรือจะเป็นราคาในส่วนของพลังงานอย่างก๊าซหุงต้มหรือน้ำมันที่มีการปรับสูงขึ้นเช่นกัน ดังที่เราได้เห็นว่าล่าสุด กว่า 27 บริษัทที่เป็นรถร่วม บขส. พร้อมใจกันลดเที่ยววิ่งรถโดยสารสาธารณะ อีกทั้งจะยังมีการปรับขึ้นค่าโดยสารรถประจำทางอีก 5 สตางค์ต่อกิโลเมตร เนื่องจากผลกระทบของราคาน้ำมัน


ยิ่งไปกว่านั้น การตรึงราคาน้ำมันดีเซล น้ำมันที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมและกับภาคขนส่ง ก็ไม่สามารถยื้อได้อยู่จนราคาทะลุไปที่ 35 บาทต่อลิตร และไม่รู้ว่าเพดานราคาจะขยับขึ้นไปอีกเท่าไหร่ในอนาคต จากแนวโน้มที่ตัวเลขเงินเฟ้อที่จะมีแต่ขยับขึ้นสูงเรื่อยๆ ประกอบกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เล็งขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในเดือนสิงหาคมและเดือนพฤศจิกายน 2565 เพื่อหวังสกัดเงินเฟ้อ ที่อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยอาจเกิดการชะงักตัวลง จากปัญหาการชำระหนี้ที่มีเค้าลางว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งถ้าหากว่าเรายังใช้ชีวิตแบบเดิม มีพฤติกรรมการใช้จ่ายแบบแต่ก่อน เพราะยังคุ้นชินกับสภาพเศรษฐกิจที่ยังดีอยู่ ก็อาจเดินไปเข้าสู่ปัญหาทางด้านการเงินอย่างไม่รู้ตัวได้ ในบทความนี้ "AC News" จึงอยากขอแนะนำ 5 วิธีการรับมือกับเงินเฟ้อและการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่ใกล้เข้ามา เพื่อรักษาความมั่งคั่งให้กับตัวเอง ดังนี้

1.รักษากระแสเงินสดของตัวเอง

ในตอนนี้ ควรจัดหาเงินสด หรือทรัพย์สินที่สามารถเอาออกมาใช้ได้ในเวลาที่ต้องการ ในจำนวนที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 6 เดือน สะสมเอาไว้ เช่น หากคำนวนแล้วว่าปกติมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่เดือนละ 30,000 บาท ก็ควรจะมีเงินเก็บสะสมไว้ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท เพื่อเป็นการประกันกระแสเงินสดของตัวเองหากมีเรื่องฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่จำเป็นต้องใช้เงิน เราก็จะมีเงินสำรองตรงส่วนนี้เอาออกมาใช้ก่อนโดยไม่ต้องหยิบยืมใคร หรือไปกู้ธนาคารที่มีการเก็บอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระการใช้หนี้ให้กับเรา ยิ่งถ้าเรารับภาระหนี้ไม่ไหว ไม่สามารถนำเงินมาชำระหนี้ได้ทัน ก็จะก่อให้เกิด NPL เป็นหนี้เสียที่ทำให้เครดิตของเราไม่ดี เสี่ยงต่อการขอสินเชื่อไม่ผ่านในอนาคต

2.วางแผนการใช้เงินอย่างรอบคอบ

ในช่วงภาวะเงินเฟ้อที่ Cost of Living สูงขึ้นไปหมด ตั้งแต่อาหารการกิน ค่าเดินทาง ไปจนถึงอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นสำหรับการกู้ เราควรวางแผนการใช้เงินให้รอบคอบและรัดกุม เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีสัดส่วนที่น้อยกว่ารายได้ที่ได้รับ โดยการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพื่อ Monitor พฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองแบบ Real Time ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นภาพใหญ่ของทิศทางการใช้เงินอย่างชัดเจน และสามารถคำนวณและควบคุมการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้ สมมติเราตระหนักจากการจดบันทึกว่า มีการเข้าร้านสะดวกซื้ออยู่บ่อยครั้ง และมักซื้อของมากเกินความจำเป็น ก็อาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปเลือกซื้อของเก็บ Stock ไว้ที่บ้านที่เดียวจากทาง Supermarket แทน เพื่อลดการเข้าร้านสะดวกซื้อ ที่เราอาจหยิบของล่อตาล่อใจเพิ่มจากสิ่งที่ต้องการ อันทำให้มีรายจ่ายที่พอกพูนเพิ่มขึ้น เป็นต้น

3.ระวังเรื่องของการเป็น Membership

การสมัครบริการรายเดือนที่มีการจ่ายแบบตัดผ่านบัตรเดบิต/บัตรเครดิตโดยอัตโนมัติ เช่น การสมัครบริการทีวีสตรีมมิ่ง การสมัครเพื่อเข้าถึงเครื่องมือในการปรับแต่งภาพ งาน Artwork หรือการสมัครเพื่อฟังเพลง และ Podcast ต่างๆ ควรจดบันทึกรอบการตัดบัตรเอาไว้ให้ชัดเจน เพื่อที่เราจะสามารถทำการยกเลิกก่อนวันเรียกเก็บเงินได้หากไม่ต้องการใช้แล้ว หรือไม่ก็เปลี่ยนวิธีการชำระเงินที่ไม่ใช้ในรูปแบบอัตโนมัติ เพื่อกันไม่ให้เงินออกจากกระเป๋าของเราแบบไม่รู้ตัว

4.บริหาร Risk Management ในการลงทุน

หากใครที่มีการลงทุน ควรมีการตรวจสุขภาพพอร์ตสินทรัพย์ของตัวเอง และจัดพอร์ตใหม่อีกรอบเพื่อบริหารความเสี่ยงที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะเมื่อเศรษฐกิจเกิดการชะงักตัวจากนโยบายทางการเงินที่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลให้เงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบนั้นลดน้อยลง

และแน่นอนว่าเงินจากในตลาดการลงทุนก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะมีการไหลออกไปเช่นกัน เนื่องจากผู้คนต่างต้องการถือเงินเอาไว้เพื่อรักษากระแสเงินสด ในตอนนี้เราจึงควรลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทที่มีความผันผวนสูง และนำเงินไปพักไว้ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ หากราคาของสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงนั้นมีราคาที่ไหลลงมาประมาณหนึ่งแล้ว ค่อยโยกเงินออกมาช้อนซื้อ (ซื้อในราคาที่ถูกลง) ก็จะทำให้เราสามารถสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นได้ในอนาคต

5.หารายได้เสริม

เพิ่มสัดส่วนของรายได้ให้มากกว่ารายจ่ายที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต จากข้าวของที่แพงขึ้น และภาระการชำระหนี้ที่มาก กว่าเดิม ด้วยการหาช่องทางการทำเงินเพิ่มเติมจากอาชีพที่ทำประจำอยู่ โดยประเมินจาก Materials หรือความถนัดที่เรามี เช่นเรามีอุปกรณ์การถ่ายภาพ ก็อาจถ่ายภาพส่งขายไปยังเว็บ Shutterstock ที่เขามีการรับซื้อ หรือหากมีสกิลในด้านการเขียนก็อาจพิจารณาเขียนบทความบนแพลตฟอร์มที่สร้างเงินจากการทำคอนเทนต์ได้ เช่น Blockdit หรือ Readawrite เป็นต้น

และ 5 วิธีที่กล่าวไปข้างต้นก็เป็นแนวทางที่ทาง AC News อยากแนะนำสำหรับการตั้งรับสถานการณ์เงินเฟ้อ และนโยบายการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังประกาศออกมา เพื่อรักษาเงินในกระเป๋า และสุขภาพทางการเงินให้คงอยู่อย่างมั่นคง แม้เศรษฐกิจจะเข้าสู่ช่วงขาลงก็ตาม

LastUpdate 05/07/2565 14:20:27 โดย : Admin
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 5:11 am